
'7วันอันตราย'สามวันดับ173เจ็บ1,526
'ปภ.' เผย '7 วันอันตราย' ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วันยอดดับพุ่ง 173 ศพ เจ็บ 1,526 ราย ชี้สาเหตุหลัก 'เมาแล้วขับ'
14 เม.ย. 56 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ "สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม" เกิดอุบัติเหตุ 655 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 730 ครั้ง) ลดลง 75 ครั้ง ร้อยละ 10.28 ผู้เสียชีวิต 72 ราย (ปี 2555 เสียชีวิต 56 ราย) เพิ่มขึ้น 16 ราย ร้อยละ 28.58 ผู้บาดเจ็บ 688 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 778 คน) ลดลง 90 คน ร้อยละ 11.57 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 46.72 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.12 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.07 รถปิคอัพ ร้อยละ 10.37
นายจารุพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 22.50 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.26 บนถนน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ 38.47 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 35.88 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 36.64 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 54.60 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,339 จุด ปฏิบัติงาน 68,969 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 719,010 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 123,770 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 37,420 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 34,936 ราย ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช จำนวน 25 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี จำนวน 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช จำนวน 27 คน
นายจารุพงศ์ กล่าวด้วยว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 3 วัน ระหว่างวันที่ 11 - 13 เมษายน เกิดอุบัติเหตุรวม 1,446 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 1,554 ครั้ง) ลดลง 108 ครั้ง ร้อยละ 6.95 ผู้เสียชีวิตรวม 173 ราย ( ปี 2555 เสียชีวิต 144 ราย ) เพิ่มขึ้น 29 ราย ร้อยละ 20.14 ผู้บาดเจ็บรวม 1,526 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ1,668 คน ) ลดลง 142 คน ร้อยละ 8.51 จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 3 วัน ได้แก่ ตราด จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 2 วัน (ตายเป็นศูนย์) รวม 18 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 54 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 11 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 57 คน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 3 วันที่ผ่านมาพบว่า จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลง ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูง เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุมีความรุนแรงมากขึ้น โดยในแต่ละครั้งที่เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงขอให้จังหวัดวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ควบคู่กับให้จังหวัดกำหนดมาตรการพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และรณรงค์ถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ใช้รถเข้ามามีส่วนร่วมในการลดอุบัติเหตุทางถนน
นอกจากนี้ ช่วงวันที่ 14 - 15 เมษายน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เล่นน้ำสงกรานต์และท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ ให้จังหวัดเน้นหนักเส้นทางภายในจังหวัด ถนนสายรอง เส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเป็นหลัก เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งจากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก และภาคใต้จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนัก จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถเป็นพิเศษ ไม่ขับรถเร็ว เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้
ขณะที่นายนพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุทางถนน สามารถโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือได้ทางหมายเลขสายด่วน 1669 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที และสามารถส่งต่อผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลทุกแห่งทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ ขอเตือนว่าการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนที่ไม่ถูกวิธีและไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้นหรือเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สธ.เผยสงกรานต์ปีนี้ดุตายคาที่อื้อ - ใช้สายด่วน 1669 แค่ 19%
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์กู้ชีพ ในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในรอบ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 เมษายน 2556 ว่า จากการประเมินสถานการณ์ของอุบัติเหตุจราจรพบว่า ปีนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากพบว่ามีผู้บาดเจ็บอาการสาหัสมากถึง 1,321 ราย เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ 67 หรือเกือบ 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมากถึง 43 ราย สาเหตุหลักอันดับ 1 มาจากเมาสุรา ขับเร็ว ทั้งนี้ ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งเหตุจากประชาชนทางสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669 จำนวน 6,621 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 19 ของเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งยังถือว่ายังน้อยมาก หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการทั้งหมด 2,377 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 33 ครั้ง ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 33 ประชาชนนำส่งเอง
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในวันนี้สธ.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต คือ1.ให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติสุราพ.ศ.2493 อย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีทันที 2.ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชน แจ้งเหตุเข้ามาทางสายด่วน1669 ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นบริการฟรี 24 ชั่วโมง หากผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่มีประมาณ 15,000 ทีมครอบคลุมทั่วประเทศ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ จะมีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่านำส่งเอง และลดความเสี่ยงเกิดพิการซ้ำซ้อนจากการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธีลงได้
นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับ ผลการตรวจบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 11-13 เมษายน 2556 ในภาคกลางที่ จ.นนทบุรี และกทม. ภาคเหนือที่ สุโขทัย ลำพูน เชียงใหม่ และภาคใต้ที่ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งหมด 191 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 93 ราย บางรายผิดมากกว่า 1 ฐานความผิด และตักเตือน 101 ราย โดยในจำนวนนี้ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด รวม 67 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 รองลงมาคือการลดแลกแจกแถม 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ที่เหลือขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 7 ราย ขายนอกเวลา 8 ราย ขายในที่ห้ามเช่น ปั้มน้ำมัน ร้านขายยา ขายบนถนนรวม 6 ราย ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 2 ราย ดื่มบนรถ 1 ราย ได้กำชับทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ประสานทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพาสามิต ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง และหากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีทุกรายทันทีเช่นกัน
ทั้งนี้ สำหรับโทษความผิดขายเหล้ามีดังนี้ 1. ขายในสถานที่ห้ามขาย มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.การโฆษณาเหล้า ลดแลกแจกแถม มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 4.ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5. ขายในเวลาห้ามขาย มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6. ดื่มเหล้าบนรถ มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สพฉ.วอนประชาชนอย่าโทรก่อกวนสายด่วน1669
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในเทศกาลสงกรานต์ว่า ตลอด 3 วัน ที่ผ่านมา ถือว่าการช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 มีความพร้อมมาก และเพียงพอต่อการให้บริการ โดยวันแรกของการเดินทางคือวันที่ 11 เม.ย. มีการโทรแจ้งผ่านสายด่วน 1669 กว่า 1,970 สาย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงวันที่ 12 เม.ย. และ 13 เม.ย. มีสถิติการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉินลง นอกจากนี้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้ในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าห่วงขณะนี้ คือได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์สั่งการว่า มีประชาชนโทรก่อกวนสายด่วน 1669 เป็นจำนวนมาก โดยตลอด 3 วัน ที่ผ่านมาพบว่ามีการก่อกวนในแต่ละศูนย์สั่งการกว่า 100 สาย และเฉพาะที่ศูนย์สั่งการกรุงเทพมหานครรวม 3 วัน มีสายก่อกวนมากกว่า 464 สาย หรือคิดเป็นร้อยละ 45.93 ต่อวัน ดังนั้นจึงอยากขอร้องไปยังประชาชนทั่วไปว่าอย่าโทรเล่นหากไม่มีเหตุจำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นการขัดขวางการทำงานของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ยังอาจทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการความช่วยเหลือจริงขาดโอกาส และอาจถึงแก่ชีวิตได้
“อยากให้ประชาชนใช้สายด่วน 1669 เพื่อประโยชน์และขอความช่วยเหลือทางการแพทย์จริงๆ และอยากให้คิดเสมอว่าการโทรก่อกวนเพียงไม่กี่วินาทีอาจส่งผลให้หลายชีวิตต้องพบกับความสูญเสียได้” นพ.อนุชา กล่าว
7 วันอันตราย 'น่าน' ตายแล้ว 2 ราย
ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลเทศกาลสงกรานต์ 2556 ศาลากลางจังหวัดน่าน รายงานผล 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ระหว่าง วันที่ 11- 13 เม.ย.56 ว่า เกิดอุบัติเหตุ 30 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ Admit 30 ราย ชาย 22 หญิง 8 ราย รวมผู้บาดเจ็บ 30 ราย และเสียชีวิต 2 ราย อำเภอที่ไม่อุบัติเหตุ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่จริม, ทุ่งช้าง,สสองแคว ,อ.เฉลิมพระเกียรติ พฤติกรรมเสี่ยง และสาเหตุจากเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด ทัศนวิสัยไม่ดี ขับรถประมาท ชนิดรถ มอเตอร์ไซด์ จักรยาน ปิคอัพ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ มอเตอร์ไซด์ 27 ครั้ง ปิคอัพ 2 ครั้ง จักรยาน 1 ครั้ง
ทั้งนี้ มีการตั้ง จุดตรวจ/ด่านตรวจ ประจำวันที่ 13 เม.ย. 30 จุด จนท.ปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจ, ขนส่ง, สาธารณสุข,ทหาร,ฝ่ายปกครอง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน อปท,อปพร.เจ้าหน้าที่ประจำวันที่ 13 เม.ย. รวม ,911 คน รวมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 3 วัน 2,748 คน จากการเรียกตรวจยานพาหนะ 2,248 คัน ผู้ถูกดำเนินคดี ในข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย ขับขี่มอเตอร์ไซด์ไม่ปลอดภัย ไม่มีใบขับขี่ ขับรถย้อนศร และไม่ขาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน 335 คน รวมสถิติเรียกตรวจ ระหว่างวันที่ 11 - 13 เม.ย. รวม 5,910 คัน ถูกดำเนินคดี 862 ราย
สำหรับเงินงบประมาณที่จะต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ให้กับพวกที่ไม่รักตนเอง ดื่มสุราขับรถ ขับรถทุกประเภท ประมาท ร่างกายไม่พร้อมหลับใน ทัศนวิสัยไม่ดี ถนนชำรุด เฉพาะจังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 11 - 13 เม.ย.56 3 วัน จะต้องจ่ายให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 2,748 คน และอีก 76 จังหวัด จะเป็นเงินงบประมาณที่จะต้องมาจ่ายทุกปีในเรื่องไม่เป็นเรื่องเพราะคนไม่มีวินัย และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และที่ รั่วไหลจากพวกฉวยโอกาสใช้ตำแหน่งหน้าที่อีกไม่รู้เท่าใด
อุบัติเหตุสะสม 3 วัน 'ภูเก็ต' ยังไร้ตาย
ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต (POC) นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 โดยวันที่ 13 เม.ย.มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 9 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 10 คน
สำหรับสถิติสะสมในระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2556 รวม 3 วัน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 15 ครั้ง ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 16 คน เป็นชาย 11 คน และหญิง 5 คน ส่วนใหญ่มีช่วงอายุ 15-19 ปี รองลงมาอายุ 20-24 ปี, อายุ 25-29 ปี, อายุ 40-49 ปี อายุ 50 ปีขึ้นไป และอายุ 1-14 ปี ตามลำดับ
นายจำเริญ กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติพบว่าส่วนใหญ่จะเกิดจากการเมาและขับรถจักรยานยนต์ และเป็นเรื่องของพฤติกรรม ดังนั้นการจะมาเข้มงวดเฉพาะในช่วงเทศกาลคงไม่พอ แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (14 เม.ย.) จะเริ่มมีการเดินทางกลับฝากทางนายอำเภอได้เข้มงวดการตรวจสอบของจุดตรวจ 10 จุดหลัก ทั้งในเรื่องของเมาสุรา และการสวมหมวกนิรภัย นอกจากนี้ต้องระวังความเสียงในเรื่องของฝนตกในระยะนี้ด้วย โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่สำคัญคือ ทางขึ้น-ลงเขาป่าตอง อ.กะทู้ ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะรถรับส่งนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่
นายจตุรงค์ แก้วกสิ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนของรถโดยสารขนาดใหญ่ที่ขึ้น-ลงเขาป่าตอง ทางสำนักงานขนส่งฯ ได้ร่วมกับ สภ.ทุ่งทองตั้งจุดตรวจก่อนที่จะขึ้นเขาป่าตอง โดยมีการสุ่มตรวจรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.-19.30 น. ซึ่งจากการสุ่มตรวจรถจำนวน 40-50 คัน พร้อมทั้งให้คนขับรถลงบันทึกความยินยอมรับผิดกรณีรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ/เหตุขัดข้อง ทั้งทางแพ่งและอาญา โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เพื่อเป็นการป้องปรามในการนำรถที่มีสภาพมีสมบูรณ์มาใช้รับส่งนักท่องเที่ยว
เนื่องจากในการสุ่มตรวจพบว่า มีการนำรถบัสซึ่งแจ้งเลิกใช้แล้วมาให้บริการ จำนวน 1 คัน และได้มีการดำเนินคดีสั่งปรับจำนวน 50,000 บาท เพราะรถดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งใช้งาน จึงไม่มีการตรวจสภาพ และเป็นรถที่ก่อให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังได้มีการสุ่มตรวจแอลกอฮอล์พนักงานขับรถเส้นทางระหว่างจังหวัดที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ 2 จำนวน 30 รายก็พบมีปัญหา 1 ราย ก็ได้สั่งให้งดขับรถชั่วคราว
'ระนอง' ผ่าน 3 วัน ยังไร้ตาย
นายชวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ระนอง เปิดเผยว่า ได้สรุปผลการเฝ้าระวังอันตรายช่วงระหว่างวันที่ 11-13เม.ย. 2556 รวม 3 วัน พบเกิดอุบัติเหตุ 7 ครั้ง เป็นอุบัติเหตุจาก รถ จยย.ทั้งหมด มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นชาย 4 ราย หญิง 3 ราย ส่วนปัจจัยเกิดจากถนนลื่นเนื่องจากเกิดฝนตกหนัก และเมาแล้วขับ
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ทางจังหวัดระนองได้เตรียมความพร้อมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 2556 ที่จังหวัดระนองกำหนดเป้าหมายผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะเน้นมาตรการสำคัญคือเมาไม่ขับและสวมหมวกนิรภัย 100% รวมถึงการปฏิบัติตามกฏหมายจราจรอย่างเคร่งครัด
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการจัดตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลักในพื้นที่ 5 อำเภอๆละ 2 จุดรวม 10 จุด ในช่วงคุมเข้ม 7 วัน เพื่อทำหน้าที่เรียกตรวจ ป้องปรามการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจร พร้อมกำหนดตั้งจุดบริการประจำหมู่บ้านรวมจำนวน 29 จุด เพื่อเป็นจุดบริการ และช่วยตักเตือนแนะนำการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก โดยเน้นความผิดเกี่ยวกับการใช้รถจักรยานยนต์ การดื่มฉอลกอฮอล์แล้วขับขี่ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดในการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ส่วนการกำหนดจุดเล่นน้ำสงกรานต์ ตามแบบประเพณีสงกรานต์ไทย ไร้ฉอลกอฮอล์ในเขตหมู่บ้าน ชุมชน ทางจังหวัดระนองกำหนดไว้รวม 8 จุด
3 วัน 'พังงา' เกิดอุบัติเหตุ 16 ครั้ง เสียชีวิต 2 รายเจ็บ 19 ราย
นายสมเกียรติ อินทรคำ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ในรอบวันที่ 13 เมษายน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 6 ราย ผู้เสียชีวิตชื่อ นายวิสิทธิ เก็บทรัพย์ อายุ 26 ปี เป็นชาวบ้านใน ต. เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนกันบนถนนสาย บ้านป่าทราย-บ้านท่าเขา ต.เกาะยาวน้อย เหตุเพราะเมาสุรา
โดยสรุปการเฝ้าระวังอุบัติเหตุสะสมรวม 3 วัน (11-13 เมษายน) เกิดอุบัติเหตุรวม 16 ครั้ง เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 19 ราย ชาย 14 ราย หญิง 14 ราย
'เชียงใหม่' ตายแล้ว 5 ราย - อุบัติเหตุ 53 ครั้ง อันดับ 2 ของประเทศ
ศูนย์ปฏิบัตกิารร่วมป้องกันทางถนนฯ สั่งจุดตรวจสกัด 50 จุดดำเนินคดีเด็ดขาดเมาแล้วขับ ขณะที่สถิติอุบัติเหตุวันที่ 3 ตายเพิ่ม 2 ราย ทำสถิติตายสะสมเชียงใหม่พุ่ง 5 ราย-อุบัติเหตุ 53 ครั้งติดอันดับ 2 ของประเทศ
นายคมสันต์ สุวรรณอัมพา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำวันที่ 13 เมษายน พบว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทราบชื่อนายคำ อินทรัตน์ อายุ 83 ปี เสียชีวิตเมื่อเวลา 05.30 น. ขี่รถจักรยานยนต์ชนกับรถทัวร์นิววิริยะทัวร์ บริเวณบ้านสันต้นเปา ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี อีกรายชื่อนายแดง มูลมาวัน อายุ 50 ปี เสียชีวิตเวลา 19.30 น.ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัยและเมาสุรา บริเวณบ้านหนองอาบช้าง ต.สบเตี๊ยะ ถนนเชียงใหม่-ฮอด
สำหรับการเฝ้าระวังศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ 3 วัน พบว่าเชียงใหม่เสียชีวิตแล้ว 5 ราย เกิดอุบัติเหตุขึ้น 53 ครั้ง และบาดเจ็บ 53 ราย ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศเชียงใหม่เสียชีวิตเป็นลำดับที่ 7 ขณะที่สถิติการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บลำดับที่ 2
อย่างไรก็ตาม ได้มีการสรุปการปฏิบัติการสั่งคงจุดตรวจสกัดทั้ง 50 จุด และให้สังเกตผู้ขับขี่ที่เมาสุราโดยให้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ขณะเดียวกันยังขยายผลไปยังจุดตรวจชุมชนให้กวดขันดูแลผู้ดื่มสุราในหมู่บ้าน เมาต้องไม่ขับ
อีสานใต้ 3 วัน ดับแล้ว 6 ศพ
นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2556 โดย 3 วันของการรณรงค์ “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม” คือระหว่างวันที่ 11 - 13 เมษายน 2556ในพื้น 4 จังหวัดเขตความรับผิดชอบ คือ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ รวมเกิดอุบัติเหตุ 73 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 85 คน ผู้เสียชีวิต 6 คน (นครราชสีมา 39 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 40 คน ผู้เสียชีวิต 3 คน , บุรีรัมย์18 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 20 คน ผู้เสียชีวิต 2 คน ,สุรินทร์ 15 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 15 คน ผู้เสียชีวิต 1 คน , ชัยภูมิ 1 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 10 คน (ไม่มีผู้เสียชีวิต)
ส่วนสาเหตุหลักคือ เมาสุรา ความเร็วเกินกำหนดและตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือรถปิกอัพและรถเก๋ง/รถแท็กซี่ ถนนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ถนนใน อบต. /หมู่บ้าน รองลงมาคือ ถนนกรมทางหลวงและถนนกรมทางหลวงชนบท มูลค่าความเสียหาย 6,848,600 บาท