
'รถไฟฟ้าเร็วสูง'เทรนด์ใหม่อาเซียน
ที่นี่บัวแก้ว : รถไฟฟ้าความเร็วสูง เทรนด์ใหม่อาเซียน : โดย...นันทิดา พวงทอง
โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นเทรนด์ของอาเซียนในศตวรรษที่ 21 ที่ได้ยกให้เส้นทางรถไฟสายเอเชีย สิงคโปร์-คุนหมิง เป็นรถไฟสายประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งจะเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียเข้าด้วยกัน หนึ่งในการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
การพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟเชื่อมภายใน เป็นการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายแรก เริ่มต้นทางจากสิงคโปร์ มุ่งหน้าไปทางตอนเหนือมาเลเซียผ่านไทยต่อไปยังลาวและเวียดนาม ก่อนที่จะเชื่อมต่อกับจีน
นับตั้งแต่ต้นปี หลายประเทศต่างประกาศแสดงความพร้อมที่จะพัฒนาระบบไฟฟ้าความเร็วสูง โดยสิงคโปร์และมาเลเซีย ร่วมเปิดตัวโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงข้ามประเทศเป็นเจ้าแรกของอาเซียน เส้นทางระหว่างสิงคโปร์กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ใช้เวลาในการเดินทางย่นย่อจาก 4 ชม. เหลือเพียง 90 นาที ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี 2563
ส่วน ส.ป.ป. ลาวกับเวียดนาม ได้ลงนามข้อตกลงพัฒนาเครือข่ายรถไฟเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อมแขวงสะหวันนะเขตของลาว กับเมืองลาวบาว ทางตอนกลางของเวียดนาม เป็นสายแรก ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรถไฟเชื่อมภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างทางรถไฟรางคู่มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 5 ปี
พม่าก็ซุ่มเงียบเจรจาความตกลงโครงการทางรถไฟความเร็วสูงกับจีนด้วยเช่นกัน และเป็นไปได้ว่าจะสร้างเสร็จใน 3 ปีข้างหน้าทันรับกับประชาคมอาเซียนพอดี
ขณะที่ประเทศไทยที่เคยประกาศตัวเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ยังวุ่นวายกับนโยบายพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อม 4 เส้นทางเหนือ-ใต้ออก-ตก ท่ามกลางคำถามว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องมีระบบรถไฟฟ้าทันสมัยใน 4 เส้นทางพร้อมๆ กันหรือไม่ การกู้ลงทุนสูง 2 ล้านล้านบาท จะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และช่วยให้ประชาชนทุกระดับอยู่ดีกินดีคุ้มค่าหรือไม่
ในคำถามเหล่านี้ รัฐบาลต้องอธิบายให้คนในประเทศได้กระจ่างชัดมากกว่าหวั่นกลัวจะเสียหน้า เนื่องจากรัฐบาลได้ไปโฆษณาราคาคุยกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ให้มาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงในไทยไว้แล้ว
สิ่งสำคัญคือ การศึกษาข้อดีและข้อเสียจากประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อกันในหลายประเทศก่อนหน้าเราหลายสิบปี และนำมาเปรียบเทียบ พร้อมกับเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบชัดๆ กันไป เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้ทันประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ล้ำหน้าไปแล้ว
--------------------
(ที่นี่บัวแก้ว : รถไฟฟ้าความเร็วสูง เทรนด์ใหม่อาเซียน : โดย...นันทิดา พวงทอง)