
ดึงผู้อพยพมีส่วนร่วมป้องกันภัย
ดึงผู้อพยพมีส่วนร่วมป้องกันภัย : สมจิต รุ่งจำรัสรัศมีรายงาน
เหตุการณ์เพลิงไหม้พื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบ บ้านแม่สุริน ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ถือได้ว่าเป็นเพลิงไหม้ศูนย์อพยพครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และเป็นพื้นที่พักพิงแห่งที่ 2 ที่เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งจากปีที่ผ่านมาเกิดไฟไหม้พื้นที่พักพิงจากการสู้รบ บ้านอุ้มเปี้ยม ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก ที่เกิดความเสียหายขึ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เช่นเดียวกับพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งสาเหตุเพลิงไหม้ส่วนมากเกิดจากความประมาทของผู้ลี้ภัย เช่นเช่น การหุงอาหารทิ้งไว้ หรือปล่อยให้ไฟลุกโชนจนลามเข้าสู่ตัวบ้านเรือน
แต่เหตุเพลิงไหม้พื้นที่พักพิงบ้านแม่สุรินครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุด เพราะมีผู้เสียชีวิตจากการถูกเพลิงไหม้ถึง 45 คน และตัวเลขยังไม่นิ่ง ขณะที่บาดเจ็บนับร้อย มีบ้านเรือน 400 ครอบครัวถูกเพลิงไหม้ และทำให้ผู้อพยพไร้ที่อยู่อาศัย 2,320 คน
หากกล่าวถึงความเป็นมาของพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-พม่า แล้ว มีสาเหตุมาจากสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลพม่ากับฝ่ายชนกลุ่มน้อยพม่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ส่วนหนึ่งมาจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การเวนคืนที่ดิน และปัญหาการจับลูกหาบไปช่วยลำเลียงเสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา
ทำให้ชนกลุ่มน้อยพม่า ชาติพันธุ์ต่างๆ อพยพเข้ามายังพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โดยเบื้องต้นกลุ่มอพยพได้ไปอยู่กับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ต่อมานับตั้งแต่ปี 2531 รัฐบาลพม่าได้ทุ่มกำลังทหารปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่ติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลพม่าตามแนวชายแดนทั้งหมด ทำให้พื้นที่และชุมชนของผู้อพยพต้องกลายเป็น “สนามรบ” พวกเขาจึงไม่สามารถอยู่ในเขตประเทศพม่า ต้องหนีภัยเข้ามายังเขตไทย
การเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของผู้อพยพกลุ่มชาติพันธุ์สัญชาติพม่าตามแนวชายแดน ทำให้รัฐบาลไทยชุดก่อนๆ ต้องจัดระเบียบชายแดน ด้วยการตั้งพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบทั้งหมดหลายแห่ง ต่อมาเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยขึ้นมาเอง โดยเฉพาะความขัดแย้งในกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู จึงมีกองกำลังเกิดขึ้นใหม่ เรียกว่า กองทัพกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (ดีเคบีเอ)
รัฐบาลพม่าใช้โอกาสนี้สนับสนุนกะเหรี่ยง และใช้กะเหรี่ยงพุทธปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าทั้งหมด และมีการรุกล้ำอธิปไตยของไทยด้วยการส่งกองกำลังเข้าไปเผาพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดน ทำให้ทางการไทยต้องจัดระเบียบพื้นที่พักพิงอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการยุบศูนย์อพยพที่กระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก ลดลงเหลือเพียง 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-พม่า มีผู้อพยพรวมแสนกว่าคนจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศพม่าสงบแล้ว และมีการลงนามเพื่อสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม รวมทั้งมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่ผู้อพยพยังคงอยู่ในพื้นที่พักพิง แม้ว่ารัฐบาลพม่าเคยประกาศขอให้ชาวพม่าหนีภัยกลับไปประเทศก็ตาม แต่ยังไม่อาจสร้างความมั่นใจได้ เพราะยังต้องต่อรองกันในเรื่องที่อยู่อาศัยพื้นที่เดิม การรับรองสัญชาติพม่าให้แก่ผู้อพยพที่คลอดในประเทศไทยและตามแนวชายแดน ซึ่งเมื่อกลับไปแล้วรัฐบาลพม่าต้องให้สัญชาติทันที รวมไปถึงวุฒิการศึกษาที่ต้องรับรอง ตลอดจนสวัสดิการอื่นด้วย ขณะที่ที่ผ่านมามีผู้อพยพจำนวนกว่า 19,840 คน เดินทางไปประเทศที่สามแล้ว
การดูแลผู้อพยพทุกวันนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ที่เป็นแม่งาน และมีองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ไปสมทบดูแลด้านสาธารณสุข การศึกษา อาชีพ แต่รัฐบาลไทยให้พื้นที่และส่งเจ้าหน้าที่ดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย สำหรับสภาพที่อยู่อาศัยของผู้อพยพส่วนใหญ่ก่อสร้างในลักษณะชั่วคราว เป็นกระท่อมที่ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้หญ้าคาและใบตองแห้งมุงหลังคา
ที่สำคัญศูนย์อพยพแต่ละแห่งมีผู้หนีภัยจำนวนมาก อยู่รวมกันทั้งหนุ่มสาว เด็ก ผู้สูงวัย คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่จำเป็นต้องดูแลให้ดีให้ทั่วถึง ฉะนั้นการที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ และเชื่อว่าอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย จึงเป็นอุทาหรณ์สำหรับพื้นที่พักพิงแห่งอื่นๆ ที่ต้องพึงระวัง
มาตรการที่ดี ควรดึงผู้อพยพเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และมีการอบรมชี้แนะข้อควรระวัง ให้ทุกคนมีส่วนช่วยสอดส่องดูแล จะทำให้ไม่เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยอีก
เปิดพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในไทย
1.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวน 30,673 คน
2.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก จำนวน 12,692 คน
3.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวน 15,923 คน
4.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 13,548 คน
5.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 14,425 คน
6.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 15,694 คน
7.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 2,248 คน
8.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จำนวน 3,104 คน
9.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำนวน 4,397 คน
รวม 9 แห่ง 112,704 คน เป็นชาย 54,463 คน หญิง 58,241 คน
.......................
(หมายเหตุ : ดึงผู้อพยพมีส่วนร่วมป้องกันภัย : สมจิต รุ่งจำรัสรัศมีรายงาน)