
'ผู้คุ้มกฎ'เป็นเยี่ยงนี้สังคมจะอยู่กันอย่างไร
'ผู้คุ้มกฎ' เป็นเยี่ยงนี้ สังคมจะอยู่กันอย่างไร : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์
คำว่า “ผู้คุ้มกฎ” ที่ผมกล่าวถึงนี้ ท่านทั้งหลายคงเข้าใจได้ไม่อยากว่า ผมกำลังกล่าวถึง “ผู้รักษากฎหมาย” โดยเฉพาะ ตำรวจ อัยการ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมดังรับรู้กันโดยทั่วไป แต่หลายคดีซึ่งอยู่ใน “ความสนใจของประชาชน” ต้องใส่วงเล็บคำพูดเน้นๆ ว่า ขนาดเป็นเรื่อง “ซึ่งอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปเป็นข่าวดังไปทั่วโลก” ขนาดนั้นยังไม่ทำให้เรื่องหรือคดีสำคัญคืบหน้าได้มากนัก
ในสังคมไทยมีคนกล่าวไว้น่าสนใจว่า “คดีดัง คนดัง คนใหญ่ เรื่องใหญ่ตาม ล้มคดียาก เพราะสังคมจับตามอง” แต่เห็นๆ กันอยู่โทนโท่ หลัง “คุณ เอี้ยง” ดำรงค์ พิเดช เกษียณอายุราชการออกไปตั้งพรรคการเมือง ไม่มีข่าวคราวคุณเอี้ยงให้ได้ยินเหมือนก่อน ไม่มีความคืบหน้าเรื่องของการดำเนินการกับ “ผู้บุกรุกผืนป่า และที่ดินของรัฐ” เจ้าหน้าที่พากันเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะเชื่อว่ามีเรื่องอื่นมากลบกระแส
ข้อเขียนของผมในวันนี้ ถือเป็นการ “ทวงถาม” ไปยังผู้เกี่ยวข้องในฐานะที่พวกคุณทั้งหลายเป็น “ผู้คุ้มกฎ หรือผู้รักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์” คุณไม่อายบ้างหรือครับ เวลาคนเขาดูถูกวิชาชีพพวกคุณ หรือพูดว่าคุณไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาซึ่งคุณรับผิดชอบในหน้าที่ให้แก่สังคมได้ “ความไม่รู้สำนึกหรือรู้สึกละอาย” ตรงนี้เป็นเป็นต้นเหตุสำคัญ ซึ่งเคยมีคนต่างชาติวิเคราะห์ให้ฟังว่า การที่สังคมเราล้าหลังในหลายเรื่องเพราะมันไม่สามารถบังคับอะไรให้เป็นไปตามกฎหมายได้เลย รถราติดขัด คนทำผิดกฎหมายมากมาย แต่ตำรวจทำอะไรไม่ได้เพราะเกรงกลัวและถูกกดดันจากผู้ใหญ่ในสถานีหรือผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไป จะเห็นตัวอย่างที่เคยเขียนถึงอยู่กรณีเดียวที่ “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ออกมาปกป้องศักดิ์ศรีตำรวจได้ครั้งหนึ่งแต่เรื่องก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นเคย
ล่าสุด “ตำรวจ กับอัยการ” ถูกตั้งคำถามและน่าจะมีสภาพไม่ต่างกับเป็น “จำเลยของสังคม” ในคดีความที่ตำรวจวัยรุ่นไปยิงทหารเรือเสียชีวิต และยังไปมีเรื่องราวกับแท็กซี่ใช้อาวุธยิงข่มขู่ไม่ถึงกับตาย แต่พอถึงชั้นศาลถูกยกฟ้องทั้งสองคดี เรื่องนี้กลายเป็นที่กล่าวขวัญของสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานทั้งของ “ตำรวจ และ อัยการ” ในทั้งสองคดีว่าน่าจะมีอะไรบกพร่อง มิฉะนั้นแล้ว ศาลคงไม่ยกฟ้องโดย “ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา”
ปกติเป็นที่รู้กันดีว่า การวิ่งเต้นล้มคดีนั้นกระทำกันได้หลายรูปแบบ และเชื่อกันว่า “ทำได้ในกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะปกปิดซ่อนเร้นหรือทำให้เป็นเรื่องลับ ในกรณีคดีของตำรวจในคดีข้างต้น สันนิษฐานได้ว่า การรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีของชั้นพนักงานสอบสวน น่าจะมีบางสิ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะเท่าที่ได้อ่านคำพิพากษาในสื่อซึ่งมีการนำเสนอ พบว่า “ในคดียิงนายทหารเรือเสียชีวิต ตำรวจไม่ส่งอาวุธซึ่งใช้ในการสังหารเหยื่อ” ส่วนคดียิงแท็กซี่ “ศาลไม่เชื่อคำให้การของพยานต่อการจดจำใบหน้าจำเลยได้” ทั้งสองเรื่องวิเคราะห์ง่ายๆ ว่าทำไม “ศาลท่านจึงยกฟ้อง” ด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “พยานหลักฐานหรืออาวุธในการใช้สังหารเหยื่อนั้น ในหลายคดีขนาดจำเลยเอาปืนไปโยนลงแม่น้ำ ตำรวจยังเอาประดาน้ำไปงมกระทั่งเจอ สำหรับคดีนี้ตำรวจทำงานเต็มประสิทธิภาพมากน้อยอย่างไร และอัยการก่อนส่งฟ้องศาลได้ตรวจสำนวนและดูพยานหลักฐานอย่างถี่ถ้วนหรือไม่"
เช่นเดียวกับคดีที่สอง ในอดีตที่ผ่านมาคงจำได้ในกรณีการวิวาทในผับบาร์หลายคดี นอกจากกล้องบันทึกภาพมักจะไม่ทำงานแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าส่งผลให้สำนวนฟ้องและพยานหลักฐานอ่อนแอ คือ การระดมพยานมาให้การเป็นสิบปากร้อยปาก ทำให้หลายครั้งพยานให้การขัดกันเอง ศาลจึงมักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยในหลายต่อหลายคดี เรื่องเหล่านี้ลำพังจะไปโทษตำรวจฝ่ายเดียวคงไม่ถูกต้อง เพราะก่อนถึงชั้นศาล “อัยการ” จะต้องร่วมตรวจสอบดูแลคดีให้รัดกุม หลายครั้งเท่าที่ทราบ “บางคดีมีการซักซ้อมการให้การของพยานเพื่อมัดตัวผู้กระทำผิดให้ดิ้นไม่หลุดก็เคยได้ยินมา” เพราะในฐานะ “ทนายของแผ่นดิน” ในคดีที่สังคมถือเป็นผู้เสียหาย หาก “อัยการ” ทำงานกันจริงๆ จังๆ เปอร์เซ็นต์หรือโอกาสที่คดียกฟ้องนั้นน้อยมาก เพราะ “อัยการ” ถือเป็น มืออาชีพในการดำเนินคดีทางอาญาที่รู้กฎหมายไม่ต่างกับศาล รู้ดีว่าศาลจะยกเพราะอะไร หรือจะ “ลง (โทษ)” เพราะอะไร หากวันนี้แต่ละฝ่ายพากันกระโจนหนีเอาตัวรอด สังคมอาจจะต้องกลับไปใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน “แก้แค้น ทดแทน ไม่ใช่แก้ไขเยียวยา” ให้รู้แล้วรู้รอด