
'สมาร์ทเตอร์ ซิตี้ ชาเลนจ์'
สมาร์ทเตอร์ ซิตี้ ชาเลนจ์ เมื่อสารสนเทศร่วมพัฒนาเมือง : ศุภกร อรรคนันท์ ... รายงาน
ผลสรุปจากการศึกษาของคณะผู้ทำการวิจัย จากบริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีการต่อการพัฒนาจังหวัดชลบุรี ในโครงการ "ไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ ซิตี้ ชาเลนจ์ ชลบุรี" ด้วยข้อสรุปที่ว่า ชลบุรีจำเป็นต้องแก้ปัญหาใน 7 ข้อ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน ประกอบด้วย 1.ระบบสาธารณูปโภคที่โตไม่ทันตามเมือง 2.งบประมาณในการบริหารจัดการไม่สมดุล เพราะมีประชากรแฝงมากกว่าประชากรจริง 3.หน่วยงานในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุยังมีไม่เพียงพอ 4.การทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังไม่สมดุลกัน 5.การจัดการระบบการจราจรเมืองพัทยากับเจ้าหน้าที่ยังขาดการประสานงานที่ดี 6.นักท่องเที่ยวและประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และ 7.ระบบขนส่งมวลชนยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ของทีมวิจัยทางบริษัทไอบีเอ็ม ที่สรุปแนวทางแก้ไขและเสนอ ยุทธศาสตร์เมืองพัทยาก้าวสู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองพัทยา และจังหวัดชลบุรีทั้งระบบ โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ด้วยการมุ่งเน้นไปที่โครงการพัฒนาการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และระบบการจัดการจราจรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นภายในเมืองพัทยา ขณะที่อีกแผนงานที่บริษัทไอบีเอ็มฯ ให้ความสนใจด้วยก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโลจิสติกส์สำหรับท่าเรือแหลมฉบังเพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค
ทั้งนี้ ชลบุรีได้รับเลือกให้เข้าโครงการ ไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์ ชลบุรี ที่บริษัทไอบีเอ็มฯ ดำเนินการทั่วโลก ระหว่างปี 2554-2556
ด้วยแนวคิดของบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศรายนี้ ที่ต้องการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพโดดเด่น สามารถดึงดูดการลงทุน และพร้อมที่จะขึ้นเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวม 100 เมือง ทั่วโลก ที่จะได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองที่ฉลาดขึ้นด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ และการวางแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการดำเนินโครงการในปี 2555 มีเมืองที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมโครงการ 100 เมือง ใน 40 ประเทศ และมีเพียง 33 เมือง ที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ
สำหรับประเทศไทย คือ ชลบุรี ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ชลบุรีได้รับคัดเลือกเข้าโครงการไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์ โดยเป็นการพิจารณาจากศักยภาพอันแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเมือง รวมไปถึงวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารจังหวัดที่ต้องการเป็นเมืองต้นแบบที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการสร้างเศรษฐกิจในภาคต่างๆ รวมไปถึงการให้บริการของภาครัฐเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยแนวทางร่วมกันที่จะสนับสนุนให้ชลบุรี มีฐานะของการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
"ในโครงการนี้ เราใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อนำมาศึกษา ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยให้เมืองสามารถพัฒนาและตัดสินใจได้อย่างชาญแม่นยำมากขึ้น เมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นแบบอย่างให้แก่เมืองอื่นๆ ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วน และนำเอาข้อแนะนำอันเป็นประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการสมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์ ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาของเมืองนั้นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราเชื่อมั่นว่าชลบุรีมีศักยภาพที่สูงมากและเป็นหนึ่งในเมืองที่ไอบีเอ็มให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคด้วยการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมการผลิต" พรรณสิริ อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายถึงที่มา
ส่วนรูปแบบการดำเนินการ ทางผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทไอบีเอ็มฯ ได้ทำงานร่วมกับคณะผู้บริหารจังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา รวมไปถึงผู้นำภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองพัทยา ด้วยการศึกษาโอกาสการ เติบโตอย่างละเอียด รวมไปถึงการศึกษากลยุทธ์ที่เมืองอื่นๆ ทั่วโลกเคยใช้และประสบผลสำเร็จ ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีมาร่วมสนับสนุน และเกิดเป็นแนทางที่จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติก็คือ เพื่อให้พัทยาเลื่อนอันดับ “สถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก” จากลำดับที่ 12 เป็นลำดับที่ 5 ทางคณะผู้ศึกษาได้นำเสนอแผนงานในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และผู้นำภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันกำหนดลำดับความสำคัญของความต้องการต่างๆ ของเมือง และนำเทคโนโลยีระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์มาใช้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบด้าน
ครอบคลุมทั้งในเรื่องการคมนาคมขนส่ง การดูแลรักษาความปลอดภัย และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว การนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์ ที่สามารถช่วยให้เมืองพัทยาสามารถคาดการณ์ถึงสิ่งที่เมืองจำเป็นต้องทำ และมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้ถูกต้องแม่นยำ ส่วนการสนับสนุนท่าเรือแหลมฉบังในการพัฒนา เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและเป็นประตูสู่ประเทศต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและคุณภาพการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้สามารถคาดการณ์และตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนและความต้องการในระยะยาว ในระบบนี้จะช่วยวิเคราะห์รูปแบบของความหนาแน่นและการจราจรในการขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ และกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งภายในท่าเรือ
"ทางเมืองพัทยาพร้อมจะนำข้อมูลที่ได้รับไปต่อยอดในการพัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ ความปลอดภัย และการจารจร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเมืองพัทยาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน ผลศึกษาที่ได้รับนั้นถือว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ ในฐานะผู้บริหารเมืองพัทยา เมืองพัทยา เราพบว่าธุรกิจกว่า 90% เป็นเรื่องการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง แม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่เทคโนโลยีก็ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการบริหารจัดการเมือง" อิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้ความเห็น
คือบทบาทของเทคโนโลยีด้านสนเทศที่นำมาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
---------------------
(สมาร์ทเตอร์ ซิตี้ ชาเลนจ์ เมื่อสารสนเทศร่วมพัฒนาเมือง : ศุภกร อรรคนันท์ ... รายงาน)