ข่าว

'น้ำแข็งติดไฟ'แหล่งพลังงานแห่งอนาคต

'น้ำแข็งติดไฟ'แหล่งพลังงานแห่งอนาคต

16 มี.ค. 2556

เวิลด์วาไรตี้ : 'น้ำแข็งติดไฟ' แหล่งพลังงานแห่งอนาคต

 

                      ตามหลักแล้วน้ำย่อมเป็นปฏิปักษ์กับไฟ เพราะน้ำสามารถลดอุณหภูมิเชื้อเพลิงที่เป็นรากฐานในการกำเนิดเปลวไฟ เมื่อรดน้ำลงบนไฟ ไฟก็จะดับลงไปในทันที แต่เมื่อเร็วๆ นี้กลับมีข่าวดีของมนุษยชาติที่ได้แหล่งพลังงานใหม่จากใต้สมุทร โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่มีเทคโนโลยีสูงพอที่จะใช้แหล่งพลังงานนี้ให้เป็นประโยชน์ในการผลิตพลังงานรูปแบบอื่น เช่นไฟฟ้า

                      แหล่งพลังงานที่ว่านี้คือ "น้ำแข็งติดไฟ" ที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมน้ำแข็งถึงติดไฟได้ ทั้งที่น้ำนั้นเป็นคู่ปฏิปักษ์กับไฟตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่น้ำแข็งติดไฟ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่น้ำ (H2O) เปลี่ยนรูปเป็นของแข็งเพราะได้รับความเย็นจัด แต่น้ำแข็งติดไฟ หรือมีเทนไฮเดรต หรือ มีเทนคลาเทรต (CH4•5.75H2O) เกิดจากการเปลี่ยนรูปเป็นของแข็งของก๊าซมีเทน อนุพันธ์หนึ่งของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เกิดจากการหมักบ่มของซากสัตว์ซากพืชยุคโบราณ แต่มีเทนกลับอยู่ในรูปของก๊าซธรรมชาติ ที่เมื่อเจอความเย็นใต้ผิวท้องทะเลก็รวมตัวกันกลายเป็นของแข็งฝังตัวรอการใช้ประโยชน์อยู่ใต้ท้องทะเลนับล้านปี

                      ประเทศญี่ปุ่นเพิ่งประกาศความสำเร็จในการขุดเจาะและใช้ประโยชน์จากก้อนมีเทนแข็ง เมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่ได้ลงทุนสำรวจและคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากน้ำแข็งติดไฟใต้ทะเลญี่ปุ่นและมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ปี 2543 เป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

                      เมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.) ทีมงานสำรวจของญี่ปุ่นพร้อมเรือขุดเจาะชื่อ "ชิเคียว" สามารถขุดเจาะชั้นดินใต้ผิวสมุทรทางใต้ของแหลมอัตสุมิ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น จนถึงความลึก 300 เมตร ที่มีชั้นมีเทนแข็งก่อตัวอยู่และสามารถขุดเอามีเทนแข็งขึ้นมาสกัดและผลิตเป็นพลังงานออกมาได้จริง โดยทีมงานได้ใช้เครื่องมือพิเศษในการลดความดันของก้อนน้ำแข็งติดไฟ เพื่อทำให้ก๊าซมีเทนแยกตัวออกมา ก่อนดูดขึ้นมาจากความลึก 300 เมตรขึ้นสู่พื้นผิวและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

                      นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในเขตทะเลญี่ปุ่นมีก้อนมีเทนแข็งซ่อนตัวอยู่ในพื้นผิวสมุทรปริมาตรราว 7 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่นได้ราว 100 ปีกันเลยทีเดียว

                      ส่วนในทะเลทั่วโลกมีการประเมินปริมาณมีเทนไฮเดรต ซ่อนอยู่ราว 1-1.1 หมื่นกิกะตัน และสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชนิดอื่นได้

                      อย่างไรก็ตาม มีเทน นับเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 เท่า ซึ่งหากมนุษย์นำมาใช้กันจริงๆ ก็ต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้ก๊าซชนิดนี้เล็ดลอดสู่ชั้นบรรยากาศโลกและก่อตัวเป็นชั้นหนาของก๊าซเรือนกระจกที่ป้องกันไม่ให้แสงอาทิตย์สะท้อนกลับออกไปยังอวกาศ และทำให้อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเช่นทุกวันนี้