
'รอยเลื่อนเถิน'สะเทือน'ลำปาง'
'รอยเลื่อนเถิน'สะเทือน'ลำปาง' : โต๊ะรายงานพิเศษ
ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวที่ลำปาง 3 ครั้งซ้อน บ้านเรือนเสียหายไปจำนวนหนึ่ง จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ทุ่งฝาย อ.เมือง แต่ความเสียหายกระทบไปไกลถึงสุโขทัย ทำให้พนังกั้นน้ำยมบริเวณหลังวัดไทยชุมพล ต.ธานี อ.เมือง เกิดการทรุดตัวและพังลงเป็นระยะทางยาวเกือบ 200 เมตร ชาวบ้านเริ่มหวาดกลัวว่าเป็นการเตือนภัยก่อนจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงหรือไม่!!
แผ่นดินไหวครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งช่วงกลางคืน เวลา 20.35 น. วันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา วัดขนาดได้ 3.4 ริกเตอร์ ผ่านไป 2 นาทีเกิดขึ้นอีกขนาด 1.3 ริกเตอร์ และครั้งสุดท้ายขนาด 1.4 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเวลา 01 .24 น. ของวันที่ 3 มีนาคม แม้ว่า นายสมบูรณ์ โฆษิตานนท์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปาง จะกล่าวปลอบใจประชาชนว่าไม่ต้องตื่นตระหนก สาเหตุเกิดจากการขยับตัวของเปลือกโลก ที่มีผลต่อแนว "รอยเลื่อนเถิน" ซึ่งพาดผ่านพื้นที่ภาคเหนือของไทยหลายจังหวัด โดยเฉพาะทางทิศใต้ของ อ.เถิน จ.ลำปาง ความสั่นสะเทือนไม่ร้ายแรงเปรียบได้กับความรู้สึกนั่งในบ้านแล้วมีรถบรรทุกหนักวิ่งผ่านเท่านั้น
"อดิศร ฟุ้งขจร" ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ หัวหน้ากลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดีย จนทำให้เกิดมหาภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของภาคเหนือได้เฝ้าติดตามดูผลกระทบที่จะเกิดกับกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังน่าเป็นห่วง 2 จุดคือ "รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" และ "รอยเลื่อนเถิน" เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกที่ขยับตัวแรงขนาดมากกว่า 9 ริกเตอร์นั้น ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรอยเลื่อนในประเทศไทยอย่างแน่นอน
พร้อมอธิบายว่า ระดับแผ่นดินไหวในทางวิชาการแบ่งเป็น 7 ระดับ ได้แก่ "เล็กมาก" ไม่เกิน 3 ริกเตอร์, "เล็ก" ขนาด 3-3.9 ริกเตอร์, "เบา" 4-4.9 ริกเตอร์, "ปานกลาง" 5-5.9 ริกเตอร์, "แรง" 6-6.9 ริกเตอร์, "ใหญ่" 7-7.9 ริกเตอร์ และ "ใหญ่มาก" คือขนาด 8 ริกเตอร์ขึ้นไป ในอดีตประเทศไทยจะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กมากบ่อยครั้ง แต่เครื่องมือยังวัดไม่ได้ เมื่อใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยทำให้สามารถวัดละเอียดได้มากขึ้น
"ในอดีตแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนภาคเหนือเฉลี่ยเกิดขึ้นวันละ 2-3 ครั้ง แต่เป็นขนาดเล็กมากคนทั่วไปไม่รู้สึก แต่หลังเกิดสึนามิ 2547 เริ่มสังเกตเห็นชัดเจนว่าสถิติเปลี่ยนไป เช่น กลุ่มรอยเลื่อนเถินนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น จากเดิมเป็นขนาดเล็กมากคือไม่เกิน 3 ริกเตอร์ เพิ่มเป็นระดับเล็กคือ 3-3.9 ริกเตอร์ จากวันนี้ไปชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวรอยเลื่อนต้องเตรียมพร้อมมากขึ้น เช่น เส้นทางหนี จุดระดมพล อาหาร น้ำดื่ม ฯลฯ รวมถึงโครงสร้างของบ้านเรือนต้องซ่อมแซมให้แข็งแรง เพราะไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่" หัวหน้ากลุ่มแผ่นดินไหวภาคเหนือกล่าวเตือน
กรมทรัพยากรธรณีสำรวจข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ปี 2555 พบว่า มีทั้งหมด 14 กลุ่ม เป็นเส้นแนวผ่าน 22 จังหวัด มีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง 1,406 หมู่บ้าน โดยภาคเหนือพบรอยเลื่อนมีพลังอยู่มากสุดถึง 9 รอยเลื่อน ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน, รอยเลื่อนแม่อิง, รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน, รอยเลื่อนแม่ทา, รอยเลื่อนพะเยา, รอยเลื่อนปัว, รอยเลื่อนเมย, รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ และ รอยเลื่อนเถิน
"รอยเลื่อนเถิน" มีจุดตั้งต้นจากด้านตะวันตกของ อ.เถิน ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร มีหมู่บ้านตั้งอยู่แนวรอยเลื่อน 26 หมู่บ้านใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เถิน อ.สมปราบ อ.แม่ทะ อ.เกาะคา และ อ.แม่เมาะ เคยมีบันทึกแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2521
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต วิเคราะห์ว่าการเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทยนั้น หลายครั้งเชื่อมโยงกับรอยเลื่อนมีพลังจากประเทศพม่า โดยเฉพาะ "รอยเลื่อนสะแกง" เนื่องจากรอยเลื่อนสะแกงนั้น มีศักยภาพทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7-8 ริกเตอร์มาแล้ว เช่น แผ่นดินไหวในรัฐฉานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ขนาดเพียง 6.8 ริกเตอร์ แต่ส่งผลให้ตึกสูงในกรุงเทพฯ สั่นไหวได้ ทั้งที่อยู่ห่างไกลกันกว่า 1,000 กิโลเมตร
"ผมพยายามเสนอให้มีการเจาะชั้นดินเพื่อวิจัยรอยเลื่อนจากพม่าจนถึงไทยโดยเฉพาะที่ภาคเหนือ เพื่อสำรวจว่าแนวรอยเลื่อนและสภาพชั้นดินเป็นอย่างไร งบประมาณเบื้องต้นไม่น่าจะเกิน 100-200 ล้านบาท แต่หน่วยงานรัฐบอกว่าไม่มีเงิน จำเป็นต้องเอาไปทำอย่างอื่นมากกว่า" ดร.เสรีกล่าว
ล่าสุด เช้าวันที่ 12 มีนาคม ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.8 ริกเตอร์ บริเวณประเทศพม่า จุดศูนย์กลางอยู่รัฐฉาน ห่างจาก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ไปทางทิศเหนือประมาณ 65 กิโลเมตร และห่างจาก อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพียง 88 กม. แม้ว่าไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่สถิติการเกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนในประเทศไทยนั้น จะปลดปล่อยพลังงานออกมาทุกๆ 1,000 ปี ทำให้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7 ริกเตอร์เมื่อไรก็ได้
ตราบใดที่เทคโนโลยีของมนุษย์ยังไม่ก้าวไกลถึงขนาดพยากรณ์แผ่นดินไหว สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ตอนนี้คือ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกด้าน โดยเฉพาะการซ้อมรับมือภัยพิบัติเป็นระยะๆ โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแนวรอยเลื่อนมีพลังทั้ง 14 กลุ่ม
.....................
(หมายเหตุ : 'รอยเลื่อนเถิน'สะเทือน'ลำปาง' : โต๊ะรายงานพิเศษ)