
'กินเข่าค่ำ'ประเพณีเมืองสูงเนิน
เปิดลานร่วมล้อมวง 'กินเข่าค่ำ' ประเพณีควรอนุรักษ์เมืองสูงเนิน : โดย...เกษม ชนาธินาถ
“สูงเนิน” หมายถึงคำเรียกลักษณะภูมิประเทศตามสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นที่ราบสูงคล้ายเนินดิน ด้วยลักษณะพื้นที่เช่นนี้จึงเป็นที่มาของหมู่บ้าน “บ้านสองเนิน” เพราะมีเนินดินอยู่สองฟากบึงประจำชุมชนที่ชื่อ "บึงแห้ว" ซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่ แหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้านแห่งนี้ ทว่าชื่อบ้านสองเนินต่อมาได้เพี้ยนเรียกเป็น “บ้านสูงเนิน” เดิมขึ้นอยู่กับ อ.สันเทียะ หรือชื่อใหม่ว่า อ.โนนไทย ในปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยตัดผ่านบ้านสูงเนิน ทำให้การคมนาคมระหว่างบ้านสูงเนินกับตัวเมืองนครราชสีมา สะดวกสบายกว่าการที่ประชาชนจะเดินทางไปติดต่อภารกิจต่างๆ ยัง อ.สันเทียะ จึงทำให้มีการอพยพโยกย้ายมาอยู่อาศัยในหมู่บ้านสูงเนินมากขึ้นในเวลาต่อมา
ปี พ.ศ.2444 ทางราชการจึงได้ยกระดับฐานะ "บ้านสูงเนิน" เป็น "อ.สูงเนิน" โดยแยกจาก อ.สันเทียะ แบบเบ็ดเสร็จเป็นเอกเทศ และใช้ชื่อหมู่บ้านสูงเนินเป็นชื่ออำเภอดังกล่าว
พื้นที่ "สูงเนิน" แห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ พบร่องรอยหลักฐานของผู้คนย้อนไปนับพันปี แบ่งเป็น 3 ช่วงวัฒนธรรม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือยุคโลหะ สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นในวัฒนธรรมทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมแบบเขมร
โดยมีเมืองสำคัญตั้งอยู่คือ เมืองเสมา และ เมืองโคราฆะปุระ หรือ เมืองโคราช ต่อมาได้เรียกเพี้ยนตามภาษาพูดท้องถิ่นเป็นเมือง โคราช อันเป็นต้นกำเนิดเมืองนครราชสีมา และเป็นต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมในยุคโลหะของภาคอีสาน ตามศิลาจารึก ซึ่งพบหลักฐานการค้นพบที่โบราณสถานเมืองเสมา สันนิษฐานมีอายุกว่า 2 พันปี
ดังนั้นจึงได้นำมาเป็นคำขวัญ “ถิ่นเดิมโคราช พระพุทธไสยาสน์ศิลา ธรรมจักรล้ำค่า ปราสาทหินโบราณ ส้มโอหวานรสดี ประเพณีกินเข่าค่ำ แดนธรรมวะภูแก้ว” อันมีความหมายบ่งบอกถึง อ.สูงเนิน เป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ มีศาสนวัตถุ และศาสนสถานที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ และน่าศึกษาถึงประเพณีวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง
อีกทั้งประเพณี "กินเข่าค่ำ" ที่บอกเล่าความเป็นพลเมืองชาวเมืองสูงเนิน ว่าเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีจิตที่ดี เมื่อถึงยามว่างจากภารกิจการงาน หรือเมื่อหมดฤดูกาลทำเรือกสวนไร่นา เขาก็จะเชิญชวนเพื่อนบ้านไปร่วมรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน รวมทั้งเป็นการพบปะสังสรรค์ เพื่อสร้างความรักความสมัครสมานสามัคคี อันเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุขมาตลอด
นั่นจึงเป็นที่มาของ อ.สูงเนิน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และประชาชน นำจุดเด่นอันดีงามนี้ เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคี ความภาคภูมิใจในความเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม และถิ่นเดิมของชาวโคราช กำหนดจัดกิจกรรรม “กินเข่าค่ำ ของดีเมืองสูงเนิน ครั้งที่ 19” โดยจัดขึ้นในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปี และในปี 2556 นี้ ตรงกับวันที่ 8-10 มีนาคม จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวร่วมสืบสานประเพณี ที่โบราณสถานปราสาทเมืองแขก บ้านกกกอก ต.โคราช จ.นครราชสีมา
"โดยผู้ที่มาร่วมงานจะมาร่วมนั่งล้อมวงรับประทานเย็นแบบพื้นถิ่น กินเข่าค่ำ ควบคู่กับบรรยากาศการนั่งชมการแสดงจินตภาพประกอบแสงสีเสียงเรื่อง "ศรีจนาศะปุระ" ที่ใช้ชาวบ้านในท้องถิ่นกว่า 200 ชีวิต แสดงตำนานดั้งเดิมบอกเล่าเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมในอดีตกาล สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นในวัฒนธรรมสมัยทวารวดี รวมทั้งวัฒนธรรมแบบเขมร พร้อมชมการประกวดแม่ม่ายสูงเนิน ประกวดหนูน้อยกินเข่าค่ำ ประกวดสาวงามกินเข่าค่ำ และการแข่งขันตำข้าว และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย" ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ นายอำเภอสูงเนินกล่าว
อย่างไรก็ตาม ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ เสริมว่าสำหรับผู้ที่สนใจจะร่วมวง "กินเข่าค่ำ" สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ว่าการอำเภอสูงเนิน โทรศัพท์ 0-4441-9259 เทศบาลตำบลสูงเนิน 0-4441-9795 ต่อ 23 หรือที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สาขานครราชสีมา-ชัยภูมิ โทรศัพท์ 0-4421-3030, 0-4421-3666
--------------------
(เปิดลานร่วมล้อมวง 'กินเข่าค่ำ' ประเพณีควรอนุรักษ์เมืองสูงเนิน : โดย...เกษม ชนาธินาถ)