
โอ้ สามัญผันแปรมิแท้เที่ยง
โอ้ สามัญผันแปรมิแท้เที่ยง : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับประภัสสร เสวิกุล
“ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า
ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา
ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย”
“สุนทรภู่” ได้กล่าวถึงเรื่องราวของสาวมอญเมืองปากเกร็ดไว้ในหนังสือ “นิราศภูเขาทอง” เมื่อประมาณ พ.ศ.2371
มอญกับไทยนั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีมอญเข้ามารับราชการตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนถึงสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ในสมัยกรุงธนบุรี พระยาเจ่งที่เคยหนีเข้ามาอยู่เมืองไทยและถูกพม่ากวาดต้อนกลับไป ได้นำไพร่พลและครอบครัวมอญหนีกลับมาใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงเมืองนนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง โดยให้สิทธิในการรับราชการและทำมาหากินเท่าเทียมกับคนไทยเช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา และรวบรวมชายฉกรรจ์ 3,000 นายจัดเป็นกองทหารมอญเข้าร่วมในกองทัพ
ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าปดุงของพม่าเกณฑ์ราษฎรสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ ชาวมอญซึ่งถูกเกณฑ์ได้รับความเดือดร้อนมาก จึงก่อการกบฏแล้วหลบหนีเข้ามาในไทย จึงโปรดให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก ปากเกร็ด และพระประแดง คนมอญเหล่านั้นได้เป็นกำลังในภาคเกษตรกรรมและการป้องกันประเทศเป็นอย่างมาก
คนมอญมีวัฒนธรรมที่เป็นของตนเองสืบทอดมาแต่โบราณกาล ทั้งในด้านภาษา ศิลปะ คตินิยม จารีตประเพณี รวมถึงการแต่งกาย และอาหารการกิน ซึ่งในยุคของ “สุนทรภู่” นั้น แม้คนมอญจะยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีส่วนใหญ่ไว้ได้ แต่ก็เริ่มมีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปตามแบบคนไทยในสมัยนั้น เช่น ทรงผม ซึ่งแต่เดิมนั้นสตรีมอญจะไว้ผมยาวและเกล้ามวย แต่สตรีไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น จะตัดผมสั้นคล้ายผู้ชายโดยติดมาจากสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาและต้องปลอมตัวหลบหนีข้าศึก ต่อมาได้พัฒนาเป็นผมปีก คือไว้ผมยาวเฉพาะกลางศีรษะควั่นผมรอบศีรษะเป็นรอยจนเห็นขอบชัดเจน คล้ายทรงมหาดไทยของผู้ชาย ปล่อยจอนที่ข้างหูยาวลงมาเรียกว่าจอนหู บางครั้งก็ใช้จอนหูเกี่ยวดอกไม้ให้ห้อยอยู่ข้างหูเรียกว่าผมทัด ที่เรียกว่าผมปีกนั้น เพราะมองเห็นเชิงผมเป็นขอบอย่างชัดเจน นอกจากนี้สตรีไทยในสมัยนั้นยังนิยมถอนไรขนบริเวณหน้าผาก และใช้เขม่าดินหม้อจับเส้นผมให้ดูดกดำด้วย
ผมไปพม่าคราวนี้ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับคนพม่า แม้ว่าหญิงชายพม่าที่เห็นจะยังคงนุ่งโสร่ง สวมรองเท้าแตะ สะพายย่าม ถือปิ่นโต แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปจากสายตาค่อนข้างมากก็คือทานาคา-ทานาคาเป็นสมุนไพรที่ชาวพม่านำเปลือกของมันมาฝนกับแท่นหิน แล้วนำผงที่ได้ไปผสมกับน้ำใช้ทาใบหน้าและร่างกายเพื่อรักษาผิวพรรณ ซึ่งการไปพม่าครั้งก่อนๆ นั้น ก็จะเห็นหนุ่มสาวพม่าใช้ทานาคาทาหน้ากันทั่วไป เหมือนคนไทยสมัยก่อนที่ประแป้งนวลหรือน้ำดินสอพอง แต่คราวนี้ได้เห็นคนพม่าหน้าเรียบๆ ไม่ค่อยทาทานาคากันเหมือนเมื่อก่อน ขณะเดียวกันก็เห็นการโฆษณาขายครีมที่ทำให้หน้าขาวตามสื่อต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าอีกมิช้ามินาน หนุ่มสาวพม่าก็คงตกเป็นเหยื่อของสินค้าประเภทนี้ เช่นเดียวกับคนไทย จนทานาคาค่อยๆ เลือนหายไปจากชีวิตของชาวพม่า
ครับ “โอ้ สามัญผันแปรมิแท้เที่ยง” อย่างที่ “สุนทรภู่” ได้ว่าไว้ โดยเฉพาะความผันแปรที่มีลัทธิบริโภคนิยม ระบบการตลาด และระบบการโฆษณา เป็นตัวเร่ง
ท้ายคอลัมน์วันนี้ สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม และโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม ขอเชิญศิษย์เก่าและผู้สนใจร่วมงาน “วันเกียรติยศ” เพื่อมอบโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตร แก่ผู้บริหารดีเด่น ครูดีเด่น ศิษย์เก่าดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อโรงเรียน โดย ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี และเชิญฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การครองชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดย ดร.ลิลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 08.30-12.00 น. ณ โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม ถนนสาธุประดิษฐ์