
กราฟฟิตีลอนดอนโผล่เว็บประมูลไมอามี
เวิลด์วาไรตี้ : กราฟฟิตีจากลอนดอนโผล่เว็บประมูลไมอามี
การขโมยภาพวาดและงานศิลป์ของจิตรกรชื่อก้องโลกเกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ทราบหรือไม่ว่าแม้แต่กราฟฟิตีหรือจิตรกรรมข้างถนน เหล่ามิจฉาชีพก็สามารถเช่นกัน หากเป็นผลงานของแบงซี (Banksy) ศิลปินกราฟฟิตีระดับเทพผู้ลึกลับในอังกฤษ
ภาพเด็กชายเท้าเปล่ากำลังใช้จักรเย็บผ้า เย็บธงยูเนียนแจ็ค หรือธงชาติอังกฤษ สำหรับใช้ประดับ คล้ายอยู่ในโรงงานนรกสักแห่ง ปรากฏบนกำแพงร้านค้าแห่งหนึ่งในพาวนด์แลนด์ เมืองวู้ดกรีน ทางภาคเหนือของประเทศอังกฤษตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว ต่อมาถูกตั้งชื่อว่า Slave Labor หรือแรงงานทาส และได้รับคำชื่นชมว่าเป็นชิ้นงานศิลป์สาธารณะอันน่าทึ่ง แม้แง่หนึ่งถูกตีความเป็นสื่อประณามการใช้แรงงานเด็ก ท่ามกลางบรรยากาศการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธในปีเดียวกันก็ตาม
ภาพนี้เป็นอาหารตาของประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว โดยที่สถานีรถไฟใต้ดินใกล้ๆ นั้น มีการติดป้ายบอกทางแก่ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชมด้วย กระทั่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว มือดีได้เลาะภาพออกไปจากกำแพงคอนกรีตหายไปอย่างลึกลับ ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นรวมทั้งทางการท้องถิ่นโกรธเคืองอย่างมาก
ขณะที่ยังหามือใครดมไม่ได้ ภาพแรงงานเด็กเย็บธง ก็ไปโผล่บนเว็บไซต์ประมูลงานศิลป์ "ไฟน์ อาร์ต ออกชั่นส์ ไมอามี" ในชื่อ "Banksy Slave Labor (Bunting Boy)London 2012" เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พร้อมให้ราคาที่คาดว่าจะเป็นระหว่าง 5-7 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15-21 ล้านบาท)
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองรณรงค์ประชาชนส่งอีเมลเรียกร้องให้สภาศิลป์อังกฤษ ออกคำสั่งห้ามส่งออกงานชิ้นนี้ และขอให้เว็บไซต์ยุติการประมูล แต่เจ้าของไฟน์ อาร์ต ออกชั่นส์ ไมอามี ไม่นำพาเสียงประท้วง และจะเดินหน้าประมูลต่อไป "เราจะยินดีจะถอนการประมูลหากท่านพิสูจน์ได้ว่า งานชิ้นนี้ได้มาแบบผิดกฎหมาย"
เจ้าของบริษัทประมูลงานศิลป์กล่าวว่า งานของแบงซีถูกเสนอขายโดยนักสะสมชื่อดังคนหนึ่งแต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อปริศนายังไม่มีคำตอบคือ ผลงานของแบงซีชิ้นนี้อยู่ที่ไมอามีแล้วหรือไม่ และใครคือคนจะได้เงินจากการประมูลภาพบนแผ่นคอนกรีตขนาด 1.2 คูณ 1.5 เมตร และมันตกอยู่ในมือของสำนักประมูลห่างไกลจากกรุงลอนดอน 7,200 กิโลเมตรได้อย่างไร
หากภาพยังอยู่ในอังกฤษ ตามระเบียบแล้ว สภาศิลป์อังกฤษก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะภาพฝาผนังของแบงซี อายุไม่ถึง 50 ปี ไม่เข่าข่ายที่ทางสภาจะห้ามส่งออก ที่สำคัญ แบงซี ศิลปินผู้ไม่เคยเปิดเผยตัวและมักไม่ลงชื่ออ้างเป็นเจ้าของผลงานเพื่อเลี่ยงถูกดำเนินคดีทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการขายงานของตนในสำนักประมูล ยังคงเงียบกริบ