ข่าว

'ชะคราม'ยาแก้ท้องผูก

'ชะคราม'ยาแก้ท้องผูก

07 ก.ย. 2560

'ชะคราม'ยาแก้ท้องผูก

                           "ชะคราม" บางที่พื้นที่เรียก ชักคราม ส่าคราม ด้วยให้ดอกตลอดปีและมีสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมนำมาปลูกประดับในสวน หรือตามแนวทางเดิน ริมรั้วบ้าน เติบโตเร็วในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดเต็มวัน พบทั่วไปตามชายฝั่งทะเล ที่น้ำเค็มขึ้นถึง ในไทยพบมากที่จ.สมุทรสงคราม เป็นพืชทนเค็ม นิยมนำยอดไปแกงกะทิ รับประทานได้เช่น แกงใส่ปู กินกับน้ำพริก ใช้เป็นยาแก้ท้องผูก ใบชะครามก่อนนำมารับประทานต้องทำให้สุกก่อน โดยรูดเฉพาะใบนำไปต้มแล้วบีบน้ำออกจนหมดรสเค็ม

                  ชาวมอญใช้ใบชะครามทำอาหารได้หลายอย่าง ใบใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ยำชะครามปูทะเล แกงเลียง แกงคั่วกับปูทะเลหรือกุ้ง โดยใช้ชะครามแทนใบยอ ลวกกะทิกินกับน้ำพริก  ใช้ทำขนมแบบเดียวกับขนมกล้วยโดยใช้ใบชะครามแทนกล้วย รากใช้เป็นยาบำรุงกระดูก แก้พิษฝี

                     ชะคราม เป็นไม้ล้มลุก ในวงศ์ CHENOPODIACEAE อายุหลายปี เมื่ออายุมากขึ้นจะพัฒนาจนเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 1 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ต้นแก่ผิวหยาบจากรอยแผลที่เกิดจากใบที่ร่วงหล่น

                           ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ไม่มีก้านใบ รูปแถบยาว อวบน้ำมีนวล สีเขียวอมม่วง ฤดูแล้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอ่อน

                           ดอก ออกที่ปลายยอด เป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกยาว 3-18 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยมาก ออกดอกตลอดปี

                           ผล ทรงกลม ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร อยู่ภายในวงกลีบรวม แต่ละผลมีเมล็ดมาก

                          ขยายพันธุ์ โดยการตอนกิ่งปักชำ