
คพ.ยัน'กลิ่น'โรงงานเกินมาตรฐาน10เท่า
กรมควบคุมมลพิษ เผยผลการทดสอบคุณภาพอากาศโรงงานอาหารสัตว์ ชี้ค่าความเข้มข้นกลิ่นเกินมาตรฐาน 10 เท่า เตรียมทำหนังสือแจ้ง เร่งดำเนินการแก้ไข
วันที่ 23 ม.ค. 2556 นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยผลการทดสอบกลิ่นเหม็นจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ บริษัท อาร์ที อะกรีเทค จำกัด หรือบริษัทเหรียญทอง อะกริเทค จำกัด จังหวัดนครปฐม หลังจากได้รับร้องเรียนจากเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ถึงปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนจากโรงงานอุตสาหกรรม ผลจากการทดสอบค่าความเข้มข้นของตัวอย่างกลิ่นที่วัดได้จากปล่องปล่อยทิ้งอากาศเสีย จากขั้นตอนการอัดเม็ดจำนวน 4 ปล่องที่ผ่านการกำจัดกลิ่นด้วยโอโซน บนอาคารสูง 40 เมตร และปล่องปล่อยทิ้งอากาศเสียจากขั้นตอนการลดอุณหภูมิผลิตภัณฑ์ ซึ่งผ่านการกำจัดกลิ่นด้วยระบบกำจัดแบบเปียกจำนวน 1 ปล่อง อยู่บนพื้นด้านข้างอาคาร สูงประมาณ 10 เมตร และตัวอย่างกลิ่นจากบริเวณรั่วโรงงาน 2 จุด พบค่าความเข้มข้นของกลิ่นที่วัดได้สูงกว่าค่ามาตรฐาน
โดยค่าความเข้มกลิ่นมาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมกำหนดไว้ไม่เกิน 1000 หน่วย บริเวณปล่องระบายอากาศเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษ และไม่เกิน 30 หน่วย ในบริเวณรั้วหรือขอบเขตของแหล่งกำเนิดมลพิษ
"กรมควบคุมมลพิษได้เก็บตัวอย่างอากาศจากโรงงานทั้ง 7 จุดมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการดมกลิ่น โดยผสมตัวอย่างกับอากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดการเจือจาง โดยใช้เจ้าหน้าที่ 6 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง โดยหลังจากการตรวจสอบผ่านไป 5 ตัวอย่าง ชี้ให้เห็นว่าความเข้มกลิ่นจากปล่องปล่อยอากาศของโรงงานเกินกว่าค่ามาตรฐาน 2-10 เท่า ขณะที่ความเข้มของอากาศจากริมรั้วเกินกว่าค่ามาตรฐาน 6-9 เท่า" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว
ผลการตรวจวัดความเข้มกลิ่นในเบื้องต้นที่วัดได้จากปล่องที่ 1 วัดได้ 977 หน่วย ปล่องที่ 2 วัดได้ 548 หน่วย ปล่องที่ 3 วัดได้ 3090 หน่วย สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ส่วนปล่องที่ 4 และ 5 ยังรอผลวิเคราะห์ ส่วนค่าความเข้มกลิ่นที่วัดได้จากริมรั้ว จุดที่ 1 วัดได้ 97 หน่วย และ จุดที่ 2 วัดได้ 130 หน่วย สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด
ในขั้นตอนต่อไปกรมควบคุมมลพิษจะทำหนังสือแจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุสาหกรรม เนื่องจากเป็นสถานประกอบการที่เข้าข่าย ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 พร้อมทั้งทำหนังสือแจ้งไปยัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขวางด้วยจังหวัดนครปฐม เนื่องจากกลิ่นเหม็นรบกวนจากโรงงานดังกล่าวเป็นเหตุรำคาญ ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่เนื่องจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย (ค่าความเข้มกลิ่น) หากกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ดำเนินการ กรมควบคุมมลพิษสามารถออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขปัญหากลิ่นได้
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหากลิ่นของโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว อธิบดีกรมควบคุมมลพิษบอกว่า ทางโรงงานจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องกำจัดกลิ่นเพิ่มเติม หรือปรับปรุงกระบวนการผลิต เนื่องจากโรงงานดังกล่าวประกอบกิจการผลิตอาหารสัตว์ เช่น อาหารไก่ หมู กุ้ง จากถั่วเหลือง โดยการผลิตจะใช้วิธีการโม่ หรือบดวัตถุดิบประเภท รำ ข้าวโพด และปลาป่น นำไปผสมและอัดเม็ด เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน
"การติดตั้งระบบโอโซนบำบัดกลิ่นจากอากาศเสียในขั้นตอนการอัดเม็ด และลดอุณหภูมิ พร้อมทั้งระบบกำจัดกลิ่นแบบเปียก อาจยังไม่เพียงพอ หรือขาดการดูแลรักษา ซึ่งโรงงานได้ของเวลา 30-45 วัน เพื่อผลิตสินค้าในล๊อตที่ยังคงค้าง ก่อนที่จะหยุดการผลิตและปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่น โดยอาจใช้เสริมด้วยระบบบำบัดกลิ่นแบบแห้ง ด้วยถ่านกำมันต์ ช่วยดูดซับกลิ่นเพิ่มเติมจากระบบโอโซน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. นี้" อธิบดีกรมควมคุมมลพิษกล่าว
จากสถิติร้องเรียนปัญหามลพิษในประเทศไทยปี 2555 กลิ่นเหม็น ยังเป็นปัญหามลพิษอันดับ 1 จากข้อปัญหาร้องทุกข์ทั้งสิ้น 460 เรื่อง เป็นปัญหากลิ่นเหม็น 302 เรื่อง รองลงมาคือ ปัญหาเสียงดังรบกวน ปัญหาฝุ่นละอองและเขม่าควัน ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น
"โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งปล่อยมลพิษมากที่สุด รองลงมาคือ การเผาถ่านเผาขยะ และอู่เคาะพ่นสี อู่รถยนต์ โดยเขตกรุงเทพมหานครมีปัญหาร้องเรียนมากที่สุด ร้องลงมาคือจังหวัดนครปฐม และสมุทรปราการ" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว และว่า หากมีข้อร้องเรียนจากประชาชนเข้ามา กรมควบคุมมลพิษพร้อมดำเนินการตรวจสอบ โดยเชื่อมั่นว่าหากโรงงานทำตามมาตรฐานที่กำหนด จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา