ข่าว

สอนแกะหนังตะลุง-หวั่นไร้คนสืบทอด

สอนแกะหนังตะลุง-หวั่นไร้คนสืบทอด

21 ม.ค. 2556

เปิดบ้านสอนงานแกะหนังตะลุง หวั่นไร้คนสืบทอดศิลปะพื้นบ้าน : กันยา ขำนุรักษ์ภาพ ... รายงาน

                            หนังตะลุงเป็นศิลปการแสดงของภาคใต้ที่อาศัยรูปเงาในการสื่อสารสร้างความบันเทิงให้คนดูที่อยู่หน้าจอได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในตอนค่ำคืน โดยวัสดุที่ทำมาใช้แกะหนังหรือรูปหนังนั้นจะทำมาจากหนังวัว หรือหนังควาย โดยช่างแกะหนังที่มีความชำนาญในการแกะ

                            แต่ปัจจุบันช่างแกะหนังเริ่มลดน้อยลง "สมพงษ์ ชูจิต" ช่างแกะหนังตะลุงวัย 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 107 หมู่ 3 ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ที่มีใจรักในการแกะหนังตะลุง เรียนรู้แกะหนังมาทั้งแต่เด็กและยึดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวและยังเป็นผู้ที่อนุรักษ์งานศิลปะการแกะหนังตะ ลุงที่สำคัญของ จ.พัทลุง

                            สมพงษ์ ชูจิต เล่าว่า การแกะรูปหนังตะลุงเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่มีเอกลักษณ์พิเศษของช่างแต่ละคน โดยนายหนังหรือคนเล่นหนังจะมาจ้างให้แกะรูปหนัง เพื่อนำไปใช้ในการแสดง ซึ่งมีตัวหลักที่แกะคือ รูปหนัง พระราชา ตัวตลก เป็นงานที่ใช้ความอดทนสูง ละเอียดอ่อน ใจรักต้อง ใจใส่ทุกขั้นตอนเพื่อให้งานสออกมาสวยงามจึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และยังเป็นงานที่สร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับความภาคภูมิใจในปัจจุบันรูปหนังตะลุงเหล่านี้มิเพียงแต่ใช้ในการแสดงอย่างเดียว แต่ยังกลายเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

                            โดยขั้นตอนการแกะหนังเริ่มจากการเตรียมหนังซึ้งหนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมี 2 อย่างคือ หนังวัวและหนังควายเพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสงและสามารถลงสีให้สีสันสวยงาม ดูโปร่ง ไม่มืดทึบเมื่อได้หนังตามที่ต้องการแล้วจะหมักไว้ 3-4 วัน ให้กรดจากน้ำหมักกัดหนังให้ขาวและหนังนิ่มคืนสภาพเหมือนหนังสดๆ จากนั้นจึงนำหนังมาล้างเพื่อขูดขนออก เมื่อเรียบร้อยแล้วทั้งผืนจะล้างหนังด้วยน้ำสะอาดแล้วเอาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆ ให้หนังค่อยๆ แห้งลงอย่างช้าๆ เมื่อหนังแห้งสนิทตัดหนังรอบนอกซึ่งมีรอยตำหนิทิ้งก็จะได้หนังที่จะใช้แกะตามต้องการ

                            “การเป็นช้างแกะหนังต้องใช้ความอดทน โดยผมได้เริ่มจากการฝึกหัดแกะหนังมาทั้งแต่ปี 2515 จากการดูแบบที่ช่างแกะหนังคนอื่นๆ ได้ทำไว้ดูแบบจากผนังโบสถ์ตามวัดต่างๆ มีหลายครั้งที่พยายามเข้าไปขอเรียนรู้จากช่างแกะหนังตะลุงแต่ไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชามาทั้งหมด”

                            กระทั่ง สมพงษ์ ชูจิต มาพบกับอาจารย์เขียว สุวรรณ ที่ได้รับเขาเป็นศิษย์และก็ได้ถ่ายทอดการแกะหนังตะลุงเริ่มจากการขึ้นลายแกะหนังจนสามารถแกะลายวาดเส้นได้ จึงถือเป็นอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาการแกะหนังตะลุงให้เขา จนเป็นมีผลงานการแกะหนังตะลุงได้รับการยอมรับจากช่างส่วนใหญ่ในแบบฉบับงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาเอง

                            ในส่วนผลงานที่เขาได้รับนั้นมีหลายรางวัลที่ภาคภูมิใจ คือ รางวัลชนะเลิกการประกวดภาพหนังแบบมีขนและไม่มีขนในงานประเพณีเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2531-2533 รางวัลชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์โอท็อประดับภาค รางวัลชนะเลิศการประกวดภาพเอกลักษณ์อันดามันและรางวัลช่างหัตกรรมศิลป์ไทยยอดเยี่ยมกลุ่มงานหนังในปี 2555

                            สมพงษ์ ชูจิต เล่าต่อว่า หลังจากนั้นเขาได้เริ่มใช้วิชาแกะหนังตะลุงเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงครอบครัว จนส่งลูกๆ เรียนในระดับสูงมีงานทำทุกคน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่ลืมคือการสืบทอดการแกะหนังตะลุงต่อ เพื่ออนุรักษ์งานแกะหนัง โดยเปิดบ้านสอนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การแกะหนังตะลุงและเข้าไปเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ หลายโรงเรียนในพื้นที่ จ.พัทลุง

                            ตอนนี้ก่อตั้งกลุ่มแกะหนังตะลุงหน้าถ้ำพระเขา เขาชัยสน หมู่ 3 ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน เมื่อปี 2544 เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นซึ่งสะท้อนถึงการดำรงชีวิตในด้านอาชีพ รายได้ ความเป็นอยู่ ศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรม ให้คงอยู่เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจ

                            ตอนนี้เขาได้ถ่ายทอดวิชาการแกะหนังตะลุงให้ลูกชายแล้ว และอยากจะถ่ายทอดให้บุคคลที่สนใจการแกะหนังตะลุงอย่างจริงจัง จึงเปิดบ้านเป็นศูนย์แกะหนังตะลุงเพื่อจะได้นำความรู้ที่มีการถ่ายทอดต่อยังผู้ที่สนใจ โดยไม่หวงวิชาเพราะวิชาการแกะหนังตะลุงที่ยึดเป็นอาชีพหลักนั้น ได้รับการถ่ายทอดมาฟรีจากอาจารย์และก็ต้องการถ่ายทอดต่อไปให้คนที่มีใจรักต่อด้วยความตั้งใจที่อยากทำคืออยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญบรรจุงานช่างแกะหนังเป็นหนักสูตร การเรียนการสอนสำหรับเด็กไทยในกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

 

 

--------------------

(เปิดบ้านสอนงานแกะหนังตะลุง หวั่นไร้คนสืบทอดศิลปะพื้นบ้าน : กันยา ขำนุรักษ์ภาพ ... รายงาน)