
'วรรณาขนุนทอด'ขาดเงินทุนต่อยอด
เสียงสะท้อน SME : ขาดเงินทุนต่อยอดธุรกิจ อุปสรรคใหญ่ 'วรรณาขนุนทอด' : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวรรณาขนุนทอด ตั้งอยู่ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยเป็นสถานที่ทั้งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนุนทอด สินค้าท้องถิ่นที่ต่อยอดมาจากการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ จุดเริ่มต้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนุนวรรณาขนุนทอด เกิดจากการรวมตัวกันของประชากรใน ต.ดอนขุนห้วย ที่นิยมปลูกขนุนไว้ตามพื้นที่ทั่วไป ในแต่ละปีจึงมีผลผลิตขนุนออกมามากมาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผลผลิตถูกกดราคารับซื้อ
ในปี 2544 "วรรณา เพชรไพบูลย์กุล" ในฐานะผู้รับซื้อขนุนจากผู้ปลูกในท้องถิ่น จึงดิ้นรนหาทางออกกรณีที่ผลผลิตไม่สามารถระบายออกไปได้ ด้วยการนำมาแปรรูป ส่งขายให้ร้านขายของฝากต่างๆ แล้วนำมาประยุกต์ปรับปรุงเป็นสูตรของตัวเอง ซึ่งมีทั้งรสเค็ม รสปาปริก้า รสสาหร่าย และรสหวาน ถัดจากนั้นในปี 2547 ที่รัฐบาลมีนโยบาย "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" จึงเป็นโอกาสในการชักชวนกลุ่มสตรีใน ต.ดอนขุนห้วย 7 คน ตั้งกลุ่มแปรรูปขนุน ในชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มวรรณาขนุนทอด" เนื่องจากขนุนทอดวรรณาเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไปอยู่แล้ว แต่ที่ต้องรวมกลุ่มเพราะต้องการทุนสนับสนุนจากทางราชการ และต่อมาได้จดทะเบียนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแต่ยังคงใช้ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มวรรณาขนุนทอด"
หลังจากตั้งกลุ่มวรรณาขนุนทอด ทางกรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาสร้างโรงเรือนในการแปรรูปขนุน และกิจการขยายตัวตามลำดับ ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าของกลุ่มมีวางขายตามร้านขายของฝาก และร้านสินค้าพื้นเมืองทั้งใน จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กลุ่มวรรณาขนุนทอดเผชิญในระยะแรกคือ เรื่องตลาดและเรื่องเงินทุน เพราะขนุนทอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่คุ้นกับผู้บริโภค ทางออกที่เรียนรู้คือ ต้องมาปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ หรือถุงที่บรรจุขนุนทอดให้สะดุดตาเป็นที่สนใจของผู้บริโภค เพราะในร้านค้าเดียวกันที่นำเอาสินค้าไปฝากวางจำหน่าย ก็มีผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรหลายชนิดวางจำหน่ายอยู่แล้ว ดังนั้น หากบรรจุภัณฑ์ไม่สะดุดตา จะทำให้ผู้บริโภคมองข้ามไปเลือกซื้อสินค้าที่มีรูปแบบที่สวยงาม
นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตขนุนทอดหลายรายที่นำสินค้าไปฝากร้านค้าให้ช่วยขาย หากใช้สูตรเดียวกันในการผลิตขนุนทอดแบบทั่วไป ย่อมไม่เกิดความแตกต่าง เป็นที่มาของการผลิตสินค้าให้มีรสชาติต่างออกไป เพื่อให้แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือก ซึ่งปัญหาการตลาดที่ประสบอีกด้านหนึ่งคือ เมื่อผลิตสินค้าได้ ต้องนำสินค้าไปวางก่อน รอให้สินค้าขายหมดจึงจะเก็บเงินได้ หรือบางร้านก็ขอเป็นเครดิต
อีกทั้งยังมีปัญหาเมื่อนำสินค้าไปส่งให้ร้านค้าแล้ว สินค้าขายหมดแต่เวลาไปเก็บเงินไม่สามารถเก็บได้เพราะผู้ประกอบร้านนำเงินไปใช้ สุดท้ายต้องเลิกส่งสินค้าไปขาย เพราะส่งสินค้าไปก็เก็บเงินไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน
"ถึงขณะนี้กลุ่มลูกค้าที่เราส่งขนุนทอดให้จำหน่าย เป็นร้านที่ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ส่งสินค้าแล้วสามารถเก็บเงินได้ และขนุนทอดก็เป็นสินค้าที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคและร้านค้าเดินทางมาซื้อขนุนทอดถึงที่ทำการกลุ่ม และซื้อเป็นเงินสด ทำให้กลุ่มไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน แต่ปัญหาใช่จะหมดไป เพราะการที่ลูกค้ามาซื้อถึงที่ทำการกลุ่มมากขึ้น ก็มีปัญหาโรงเรือนที่ใช้ผลิตและโชว์สินค้ามีขนาดคับแคบ จึงอยากให้ราชการมาช่วยสนับสนุนด้านเงินทุน และการขยายโรงเรือน ซึ่งต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท" วรรณา เพชรไพบูลย์กุล ประธานกลุ่มวรรณาขนุนทอด กล่าว
"ประไพ สุขอนันต์" หัวหน้าสำนักงานพัฒนาการอำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า กลุ่มวรรณาขนุนทอดเป็นกลุ่มอาชีพที่อยู่ในโครงการพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ถือว่ามีความก้าวหน้าในการประกอบกิจการ ทำให้สามารถขยายผลิตได้เพิ่มมากขึ้น จนส่งผลโรงเรือนการผลิตคับแคบ ซึ่งจะของบจากกรมการพัฒนาชุมชนมาช่วยปรับปรุงโรงเรือน เพื่อสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคง
"ถือว่ากิจการของกลุ่มนี้มีความชัดเจนเห็นถึงโอกาส ส่วนปัญหาที่ผู้ผลิตท้องถิ่นล้วนพบก็คือ ปัญหาเรื่องเงินทุน และเรื่องการขยายโรงเรือน เนื่องจากกลุ่มนี้ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน อย. เพราะฉะนั้นโรงเรือนต้องได้มาตรฐาน อย. ซึ่งผมจะของบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชนมาช่วยเหลือกลุ่มนี้ เพื่อให้กลุ่มดำเนินการต่อไปได้ด้วยความก้าวหน้า และมั่นคง" พัฒนาการอำเภอชะอำ กล่าว
กรณีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวรรณาขนุนทอด จึงเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ที่จะพัฒนา เพื่อสร้างโอกาสและการยอมรับให้เกิดขึ้น ทั้งกับผู้ค้าและหน่วยงานรัฐ
--------------------
(เสียงสะท้อน SME : ขาดเงินทุนต่อยอดธุรกิจ อุปสรรคใหญ่ 'วรรณาขนุนทอด' : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล)