
'รหัสสากล GS1'ยกขีดการแข่งขันธุรกิจไทย
'รหัสสากล GS1'ยกขีดการแข่งขันธุรกิจไทย : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : นายประวิทย์ โชติปรายนกุล ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ในวันที่การค้าเศรษฐกิจอาเซียนจะรวมกันเป็นหนึ่งในปี 2558 สะท้อนภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่วันนี้กระทั่งถึงวันที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เปิดฉากอย่างเป็นทางการ แล้วธุรกิจไทย...พร้อมแค่ไหนสำหรับการแข่งขันที่เกิดขึ้น
นายประวิทย์ โชติปรายนกุล ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงการเตรียมความพร้อมด้านเงินทุน การพัฒนากระบวนการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานสากลว่า การตลาดที่เข้าถึงวัฒนธรรมบริโภคของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกเออีซี เป็นสิ่งที่สำคัญ และหลายธุรกิจในไทยตื่นตัวกันเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ธุรกิจและสินค้าที่พัฒนาเข้าสู่รหัสมาตรฐานสากล GS1 หรือ บาร์โค้ดมาตรฐานสากล ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องตระหนัก พร้อมกับนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะก่อนที่ธุรกิจไทยจะก้าวสู่สนามการค้าที่เต็มไปด้วยโอกาส หากไม่เตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน โอกาสก็แปรเปลี่ยนเป็นวิกฤติได้เช่นกัน
"การเคลื่อนย้ายสินค้าจากตลาดหนึ่งไปสู่อีกตลาด หากมีกระบวนการบริหารจัดการในระบบ Supply Chain ที่มีประสิทธิภาพ จะมีส่วนขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก แต่ในทางกลับกัน หากขาดซึ่งรหัสมาตรฐานสากล GS1 หรือ บาร์โค้ดมาตรฐานสากล มารองรับ อาจทำให้ผู้ประกอบการในไทย โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องประสบปัญหา อาทิ การเรียกคืน สินค้า และอื่นๆ ตามมา"
กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นแล้วกับธุรกิจรายหนึ่งของไทยในการจัดส่งสินค้าไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่สินค้าลอตนั้นใช้บาร์โค้ดที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล GS1 ทำให้ต้องแก้ไขบาร์โค้ดให้ถูกต้อง นับว่าเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจ เสียเวลาในการจัดจ้างแรงงานเพื่อติดรหัสบาร์โค้ดใหม่ ที่ถูกต้องเข้าไปในสินค้า ที่สุดแล้วก็เกิดเป็นต้นทุน สุดท้ายผู้ประกอบการรายนั้นแทบจะไม่เหลือกำไรในการขายสินค้าครั้งนั้น
ผอ.ประวิทย์ ย้ำว่า ปัจจุบันรหัสมาตรฐานสากล GS1 มีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อการค้าในอนาคต มีใช้อย่างแพร่หลายในกว่า 150 ประเทศ ในการกำหนดมาตรฐานสินค้า ซึ่งทางสถาบันได้มีบทบาทในการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการนำ รหัสมาตรฐานสากล GS1 ไปใช้ในภาคธุรกิจทั้ง 10 ขั้นตอน การประยุกต์ใช้บาร์โค้ดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1.การกำหนดหมายเลขประจำตัวบริษัท 2.การกำหนดเลขหมายประจำตัวสินค้า 3.วิธีการจัดพิมพ์บาร์โค้ด 4.การเลือกคุณลักษณะขั้นต้นของการสแกนบาร์โค้ด 5.การเลือกใช้บาร์โค้ดสำหรับผลิตภัณฑ์ 6.การเลือกขนาดของบาร์โค้ด 7.รูปแบบการกำหนดตัวอักษรในบาร์โค้ด 8.การเลือกคู่สีของแท่งบาร์โค้ด 9.การวางตำแหน่งบาร์โค้ด และ 10.วางแผนควบคุมคุณภาพบาร์โค้ด
วันนี้หลายประเทศในโลกนี้ให้ความสำคัญ และคู่ค้าที่จะทำการค้าด้วย ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระบบมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในข้อเด่นของรหัสมาตรฐานสากล GS1 ก็คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานสากล GS1 ร่วมกับระบบการสืบย้อนกลับ (Traceability) ที่ในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภค ระบบมาตรฐานที่นำมาใช้ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน นั่นคือ ผู้ผลิต ตรวจสอบได้ในความผิดพลาด ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสินค้าและการจัดเก็บใน คลังสินค้า เป็นต้น
ด้านคู่ค้า สามารถตรวจสอบว่า สินค้าลอตนั้นๆ ขณะนี้ดำเนินการขนส่งไปอยู่ ณ จุดไหน ส่วนผู้บริโภคสามารถได้ประโยชน์จากการทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่มีความผิดพลาดนั้น เกิดจากขั้นตอนการผลิต วัตถุดิบ หรืออื่นๆ การทำความรู้จักกับบาร์โค้ดมาตรฐาน GS1 System ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะบาร์โค้ดระบบ GS1-128 เพื่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนในภาคธุรกิจ เป็นสิ่งที่ ผอ.ประวิทย์ ย้ำว่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยทั้งวันนี้ และในอนาคต
.......................................................
10 ขั้นตอนการประยุกต์ใช้บาร์โค้ดให้มาตรฐานสากล GS1 เกิดประสิทธิภาพ
1.การกำหนดหมายเลขประจำตัวบริษัท
2.การกำหนดเลขหมายประจำตัวสินค้า
3.วิธีการจัดพิมพ์บาร์โค้ด
4.การเลือกคุณลักษณะขั้นต้นของการสแกนบาร์โค้ด
5.การเลือกใช้บาร์โค้ดสำหรับผลิตภัณฑ์
6.การเลือกขนาดของบาร์โค้ด
7.รูปแบบการกำหนดตัวอักษรในบาร์โค้ด
8.การเลือกคู่สีของแท่งบาร์โค้ด
9.การวางตำแหน่งบาร์โค้ด
10.วางแผนควบคุมคุณภาพบาร์โค้ด
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมการประยุกต์ใช้บาร์โค้ดที่ www.gs1thailand.org
.....................................................
('รหัสสากล GS1'ยกขีดการแข่งขันธุรกิจไทย : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : นายประวิทย์ โชติปรายนกุล ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)