ข่าว

10ปัญหา...ผู้ว่าฯช่วยด้วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากหลายปัญหาที่คน กทม.ต้องประสบความเดือดร้อนมานาน สะท้อนออกมาเป็น 10 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

                          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 10 ม.ค. และจะมีการเลือกตั้งขึ้นไม่เกินต้นเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ ทีมข่าว "เครือเนชั่น" จึงได้รวบรวมปัญหาท็อปเท็นของคนกรุงมานำเสนอเพื่อให้ผู้ที่จะอาสาสมัครลงรับเลือกตั้ง นำไปพิจารณาและหาแนวทางแก้ไข ซึ่งแต่ละปัญหาล้วนเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกและยากต่อการแก้ไขมาหลายสิบปีแล้ว

 

1. จราจร

"กรุงเทพฯ ต้องพึ่งระบบ Mass Transit เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร"

                          เป็นปัญหาที่จะเรียกได้ว่า "คิดไม่ตก แก้ไม่ออก" แต่ใครทำได้บอกได้เลยว่า "เอาใจคนกรุงไปเลย" สาเหตุปัญหารถติดใน กทม. เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนรถมากกว่าถนนถึง 4 เท่าตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปีนี้นโยบายรถคันแรก ทำให้มีรถเพิ่มขึ้นแล้วเกือบ 7 แสนคัน ชาวกรุงส่วนใหญ่จึงใช้ความเร็วในการเดินทางได้ไม่ถึง 20 กม./ชม.

                          ปัจจุบันพบว่า กทม. มีรถจดทะเบียนมากกว่า 7.4 ล้านคัน แต่ถนนในกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้เพียง 1.6 ล้านคันเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถใช้อัตราความเร็วได้เพียงเฉลี่ย 16.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น   ความเร็วเฉลี่ยในชั่วโมงเร่งด่วน (ช่วงเย็น) 23.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะช้าลงทุกปีอย่างน้อย 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ พบว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กทม. มีรถเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% หรือ 240,000 คัน

                          "ดร.จุฬา สุขมานพ” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กทม.ไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ถนนได้อีกต่อไปแล้ว เพราะราคาที่ดินที่สูงมาก และโดยเฉพาะค่าเวนคืน อาจจะมากกว่าค่าก่อสร้างถนน โดยเฉพาะในเขตวงแหวนรัชดาภิเษก สิ่งที่กรุงเทพมหานคร ทำได้ ในปัจจุบัน คือ คือ เส้นทางลัด อุโมงค์ และสะพาน เท่านั้น เพื่อให้เกิดความ flow ของรถ เพราะฉะนั้น สำหรับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร การเพิ่มระบบขนส่งมวลชนสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟฟ้า เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 คาดว่า รถไฟฟ้าจะทยอยแล้วเสร็จ ทั้ง 10 เส้นทาง และใน 6 ปี ข้างหน้า การใช้ระบบขนส่งสาธารณะจะเพิ่มเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ และการใช้รถส่วนบุคคล จะอยู่ที่ 45% (ตอนนี้ใช้รถส่วนบุคคลที่ 55 เปอร์เซ็นต์ ส่วนขนส่งสาธารณะ 45 เปอร์เซ็นต์)

                          อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กม. ตามแผนภายในปี 2562 จะช่วยประหยัดพลังงานเฉลี่ย 8,510 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นตามระยะทางของโครงข่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจนปีที่ 30 จะประหยัดพลังงานปีละ 59,000 ล้านบาท รวมตลอดระยะเวลา 30 ปี จะประหยัดพลังงานได้ 892,969 ล้านบาท

 

2. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

"จัดโซนนิ่ง ลดจี้-ปล้น วางระบบวงจรปิด ป้องปราม"

                          กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองหลวงของประเทศไทย แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองน่าท่องเที่ยว อาหารอร่อย และมีเสน่ห์ติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมเช่นกัน ภารกิจการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนกรุงเทพฯ จึงเป็นงานหลักอีกประการหนึ่งของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โดย กทม.เป็นเมืองที่สถิติการเกิดอาชญากรรมพื้นฐาน 4 ประเภทสูงที่สุดในประเทศ ประกอบด้วย คดีโจรกรรมรถจักรยานยนต์ คดีโจรกรรมรถยนต์ คดียาเสพติด และคดีลักทรัพย์

                          เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว พล.ต.ท.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวว่า การปราบปรามอาชญากรรมไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของผู้ว่าฯ กทม. แต่เป็นของตำรวจ ฉะนั้นจะไปบอกว่าผู้ว่าฯ กทม.ต้องไปปราบปรามอาชญากรรมคงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. สามารถบริหารจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดอาชญากรรมได้ เช่น การจัดโซนนิ่งสถานบันเทิง การติดไฟส่องสว่างตามซอยเปลี่ยว เป็นต้น โดยผู้ว่าฯกทม.ต้องร่วมมือกับตำรวจในการบริหารจัดการเพื่อลดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรม หากย่านไหนที่เกิดอาชญากรรมบ่อยครั้ง ก็อาจจะมีทีมเข้าไปวิจัยเพื่อช่วยค้นหาสาเหตุ และเสนอแนวทางให้กับตำรวจ"

                          ส่วนมาตรการป้องปรามโดยใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือซีซีทีวี นั้น พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.)  บอกว่า การใช้กล้องซีซีทีวีให้ได้ประโยชน์ ต้องใช้เชิงป้องกัน กล้องซีซีทีวีนั้น ถ้าไม่สามารถดึงภาพมารวมที่ศูนย์บัญชาการได้ก็ถือว่าเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นต้องตั้งศูนย์บัญชาการและซื้อกล้องที่สามารถดึงภาพจากทุกกล้องมาไว้ที่ศูนย์นี้ได้ แล้วจัดทีมมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง เท่านี้ก็จะสามารถป้องปรามอาชญากรรมได้จริง

 

3. การจัดการน้ำ และภัยพิบัติ

“ผู้ว่าฯกทม.” คนใหม่ต้องเร่งแผนเพิ่มระบบระบายน้ำ

                          ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ประเด็นการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ถึงศักยภาพการระบายน้ำทั้งน้ำท่าและน้ำฝน ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤติมหาอุทกภัยปี 2554 ได้สร้างความเสียหายและทำให้หลายพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำนานนับเดือนโดยนายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ กรรมการผู้จัดการบริษัททีมกรุ๊ป กล่าวถึงแนวปฏิบัติและนโยบายที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ควรต้องเร่งดำเนินการ ว่า จริงๆ แล้วปัญหาระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะต้องเริ่มแก้ไขจากการพัฒนาปรับปรุงระบบส่งน้ำต่างๆ ที่เชื่อมต่อกัน ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบคูคลองที่ต้องทำการขุดลอกเพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับน้ำท่าและน้ำฝน ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลทำได้ง่ายมากขั้น

                          นายชวลิตกล่าวต่อว่า นอกจากการขุดลอกคูคลองแล้ว สิ่งที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครต้องทำควบคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ คือ การเพิ่มอุโมงค์ระบายน้ำในพื้นที่วิกฤติ โดยในฝั่งตะวันออกจะต้องทำอุโมงค์ในพื้นที่ปิดล้อมบริเวณวิภาวดี-รัชดา รัชดา-บางซื่อ ดอนเมือง-บางเขน และเขตบางบอนที่บริเวณคลองประเวศ ส่วนฝั่งตะวันตกบริเวณคลองทวีวัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาปรับปรุงระบบสูบน้ำ ตามสถานีสูบน้ำและพื้นที่ปิดล้อมทั่วกรุงเทพมหานคร ให้สามารถสูบน้ำที่ท่วมขังลงระบบสู่คูคลองและอุโมงค์ได้อย่างทันท่วงที

                          ด้าน นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการบริการจัดการระบบระบายน้ำพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครเท่าที่รับทราบข้อมูลมานั้น ค่อนข้างมีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนจึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นเรื่องที่น่ากังวลกลับไปตกอยู่ที่ การบริหารจัดการภายหลังดำเนินนโยบายมากกว่า โดยผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะวางระบบการแก้ปัญหาน้ำท่วมในถนนหลักใหม่อย่างไร

                          “ทีมผู้บริหาร กทม.จะต้อง ตกลงกับรัฐบาลให้ได้ว่า ในเขตพื้นที่ปิดล้อมที่จะมีการปรับปรุงระบบบ่อพักที่เชื่อมกับคลองระบายน้ำอย่างไร เพราะรัฐบาลบอกชัดเจนว่าถ้า กทม.ไม่ยอดเปิดพื้นที่ปิดล้อม รัฐก็จะไม่อนุมัติงบกลางที่จะนำมาปรับปรุงระบบต่างๆ ตามแผนงาน ซึ่งหากทั้งสองหาจุดลงตัวไม่ได้ ประชาชนก็จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ” นายสุจริตกล่าว

 

4. ผังเมือง

"กรุงเทพฯ ยังไม่เป็นระเบียบ พื้นที่สีเขียวน้อยไป"

                          เป็นปัญหาที่หมักหมมมานานเช่นกันในเรื่องของผังมืองกทม.ที่ค่อนข้างจะยุ่งเหยิงไม่เป็นระบบสากล โดย น.ส.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ จากเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม มองถึงผังเมืองกรุงเทพฯ ว่า ในภาพรวมผังเมือง กทม.ที่จะประกาศใช้ ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีปัญหา หรือมุมมองต่างๆ ของภาคประชาชนยังไม่ถูกนำไปคิด ทั้งที่กทม.น่าจะมีการรับฟังที่ดีกว่านี้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ผังเมืองฉบับนี้มีความพยายามเอาพื้นที่ไปใช้เป็นประโยชน์ของส่วนรวม อาทิ เรื่องพื้นที่สีเขียว แต่พบว่าการวางผังเมืองบางจุดได้กำหนดเป็นย่านพาณิชย์มากเกินไป ซึ่งจะกระทบกับรากวัฒนธรรม หรือวิถีของคนในพื้นที่นั้น ทั้งย่านชุมชนเก่าเยาวราช หนอกจออก มีนบุรี เป็นต้น หรือการกำหนดพื้นที่รอบรถไฟฟ้า ก็ไม่สามารถรักษาชุมชนเก่า เพราะมีการสร้างตึกสูง โดยเฉพาะในแถบราชเทวี พญาไท สุขุมวิท ดังนั้น กทม.ไม่ได้นึกถึงจุดนี้ว่าการพัฒนาเมืองไปทำลายสภาพแวดล้อมของเมืองไปแล้วหรือไม่

                          “การใช้ประโยชน์เป็นเรื่องพาณิชย์มากกว่าสิ่งแวดล้อม เช่นในพื้นที่สถานีรถไฟบางซื่อถึงสถานีรถไฟมักกะสัน ต้องเป็นปอดของเมือง แต่กลับถูกกำหนดเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และเอื้อการพัฒนา ทำให้กรุงเทพฯ จากนี้จะเป็นเมืองเข้าถึงสิ่งแวดล้อมได้ยาก ส่วนเรื่องผลกระทบของกรุงเทพฯ ชัดเจนว่า กรุงเทพฯ ยังไม่เป็นระเบียบ พื้นที่สีเขียวน้อยไป พื้นที่ส่วนราชการยังไม่ใช้ประโยชน์ การจัดโซนยังไม่เหมาะสม ศูนย์การค้ากลับไปอยู่ในจุดที่ต้องเป็นปอดของเมือง ปัญหาการจราจรเป็นทุกพื้นที่ ระบบทางเท้าทางจักรยานยังไม่ชัดเจน จึงถือว่าผังเมืองกรุงเทพฯ วิกฤติแล้ว" น.ส.ภารณี กล่าว

 

5. พื้นที่สีเขียวคุณภาพชีวิตคนกรุง

"กทม.มีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรต่อคน"

                          ต้องยอมรับว่า ปัญหาการมีพื้นที่สีเขียวที่น้อยเกินไปทำให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงน่าเป็นห่วง โดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ เลขาธิการสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สภาพการณ์พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครน่าวิตกมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเป็น 5 ตารางเมตรต่อคน หากเปรียบเทียบกับเมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีพื้นที่สีเขียว 32 ตารางเมตรต่อคน และหากเปรียบเทียบกับจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น อาคาร บ้านเรือน อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นคนไทยไม่ควรภาคภูมิใจ ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรุงเทพมหานครควรรีบเร่งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

                          ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ใช่การปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ เพราะพันธุ์ไม้เหล่านี้ไม่สามารถกรองอากาศได้ ต้องเน้นปลูกต้นไม้ใหญ่ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และที่สำคัญต้องเพิ่มจำนวนสวนสาธารณะให้กระจายทั่วกรุงเทพฯ หากเรามีพื้นที่สีเขียวมากจะลดปัญหาน้ำท่วมกรุงฯ สรุปคือถ้าอยากให้กทม.น่าอยู่ต้องมี 3 อย่างคือ 1.มีพื้นที่สีเขียว 2.มีน้ำสะอาด 3.อากาศดี โดย กรุงเทพฯ ต้องใช้ฝังเมืองให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับกับมาตราการทางกฎหมาย และที่สำคัญต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารกรุงเทพฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง แผนพัฒนาอย่างเต็มที่

 

6. ธรรมาภิบาล

ปัญหามีเพราะการเมืองมายุ่ง

                          ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขา โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงปัญหาธรรมาภิบาลใน กทม. ว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะถูกร้องเรียนเรื่องการทุจริตทั้งสิ้น ซึ่งที่เป็นปัญหาก็เพราะมีการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ  โดยเฉพาะการเมืองระดับชาติ ที่บีบบังคับให้ท้องถิ่นทำตามที่ระดับชาติต้องการ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการทำนโยบาย นอกจากนี้การที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล กทม.อยู่อีกชั้นทำให้ความเป็นอิสระเป็นไปได้ยาก  ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่หากต้องการที่จะทำให้มีธรรมาภิบาล  ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลให้ประชาชนทราบว่าจะปฏิบัติตามนโยบายอย่างไรใช้งบประมาณอย่างไรบ้าง และให้ประชาชนมามีส่วนร่วม เพราะธรรมาภิบาลคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน  ไม่ใช่ฟังแค่ ส.ก. ส.ข. 

                          ส่วนเรื่องการตรวจสอบการทุจริตต้องทำอย่างเข้มข้น ดูว่าอะไรทำให้เกิดจุดโหว่ อย่างกรณีการร้องเรียนเรื่องการออกใบเสร็จไม่ชอบของเทศกิจ ที่ทุกวันนี้เรื่องก็เงียบหาย ไม่มีการติดตามว่าเงินที่ไหลออกไป อยู่ที่ใคร หรือในกรณีซานติก้าผับก็หายเงียบ ในเรื่องการตรวจสอบอาคาร  เรื่องเหล่านี้ผู้ว่าฯ กทม. ทำได้อยู่แล้ว โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเบื้องต้น  ต้องตรวจเชิงป้องกันไว้ก่อน  กทม. ควรทำให้เป็นตัวอย่างเป็นหน้าเป็นตา อย่าลงไปเป็นหนุมานคลุกฝุ่นอย่างต่างจังหวัด ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเด็ดขาด  เพราะฉะนั้น ท่านที่จะมาบริหาร กทม. บอกซะก่อนว่า ป.ป.ช. เราไม่ใช่ทำเล่นๆ เราเอาจริงเอาจัง แต่ถ้าให้ดีกว่านั้นควรป้องกันก่อน อย่าให้เกิดปัญหาขึ้น

 

7. ขยะ

ขยะล้นกรุง หมื่นตันต่อวัน รอผู้ว่าฯคนใหม่สานต่อปัญหา

                          ปัญหาขยะล้นเมืองกรุง 1 ใน 10 ปัญหาใหญ่ของ กทม.ทั้งนี้จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2554 มีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศประมาณ 16 ล้านตัน หรือวันละ 43,800 ตัน เพิ่มขึ้น 0.84 ล้านตัน หรือร้อยละ 5.5 ตามการขยายตัวของชุมชนและประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยกรุงเทพมหานครมีขยะมูลฝอยประมาณวันละ 9,500 ตัน คิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน  

                          นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาขยะของ กทม.ว่า ด้วยสภาพเมืองปัจจุบันที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการผลิตขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้จะมีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าเพื่อลดปริมาณขยะแต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ขณะเดียวกันการรณรงค์คัดแยกขยะก็ยังไม่ได้กระทำกันทุกครัวเรือน ฉะนั้นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จึงยังคงประสบกับปัญหาขยะต่อไป  ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้พยายามเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาโดยกำชับผู้ปฏิบัติงาน ตามที่สั่งการไปชนิดเข้มงวด รวมถึงต้องขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันคัดแยกขยะและลดปริมาณขยะด้วย

                          ขณะที่นายชาตรี วัฒนเขจร รักษาการผู้อำนวยการกองโรงงานกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า หากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะของครัวเรือน เพื่อลดปริมาณขยะที่ กทม.ต้องขนไปกำจัด และส่งเสริมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกการคัดแยกขยะของประชาชนอย่างจริงจังและถูกต้อง รวมทั้งวางแนวทางจัดการขยะได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

 

8. หาบเร่-แผงลอย

"กทม.โอด หาบเร่-แผงลอย ปัญหาโลกแตก"

                          หนึ่งในปัญหาโลกแตก ของ กทม. คือ หาบเร่แผงลอย ที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่  มุมหนึ่งถูกมองว่าเป็นเสน่ห์ ที่ชาวต่างชาติอยากมาพบเห็น แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับเป็นปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบ และสามารถต่อยอดไปถึงปัญหาอาชญากรรมได้ เรื่องนี้ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างนายโสภัณฑ์ วงศ์ดวงคำพู หัวหน้าฝ่ายตรวจและปฏิบัติการ สำนักเทศกิจ กทม. ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2548 ในกรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผันกว่า 600 จุด แต่ถึงขณะนี้มีจุดผ่อนผันเพิ่มมาถึง 700 กว่าจุด โดยเขตราชเทวีมีพื้นที่ผ่อนผันมากท่าสุดกว่า 100 จุด รองลงมาเป็นเขตสัมพันธวงศ์ ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร ตามลำดับ ซึ่งสำนักเทศกิจพยายามผลักดันและจับกุมหาบเร่ แผงลอยที่ตั้งนอกจุดผ่อนผันอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่สามารถทำได้เด็ดขาดเพราะเมื่อมีการจับและเปรียบเทียบแล้ว ในอัตราขั้นต่ำตั้งแต่ 200 บาทไม่เกิน 2,000บาท ซึ่งผู้ค้าก็กลับมาขายในจุดเดิมใหม่

                          นายโสภัณฑ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากพบว่าหาบเร่ แผงลอย กีดขวางทางสาธารณะเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่เทศกิจจะเข้าไปตรวจจับ และให้เลิกขายทันที ซึ่งบางพื้นที่หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้กวดขันแค่ 1-2 วัน ก็จะมีผู้ค้ามาวางของขายเต็มพื้นที่ โดยเมื่อมีการร้องเรียนก็เข้าไปจับกุมอีกครั้ง ถ้ามีการแก้ไขก็ไม่สามารถจับกุมได้อีก เพราะกฎหมายไม่มีระเบียบการทัณฑ์บน หรือคาดโทษ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่นอกจุดผ่อนผันต้องไม่มีการค้าเด็ดขาด แต่ก็มีการร้องเรียนจากผู้ค้ามาว่าขอทำการค้าได้หรือไม่ เพราะจะไม่มีเงินไปเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้เป็นโจร ไม่ได้ไปปล้นใคร เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสังคมต่อไป

 

9. ความพร้อมสู่เออีซี

กทม.ยังต้องพัฒนาคน และโครงสร้างพื้นฐาน

                          การเปิดเออีซีที่จะมีขึ้นในปี 2558 นั้นเป็นได้ทั้งโอกาสและวิกฤติ ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อม โดย นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะอดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มองว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมชมชอบจากต่างประเทศมาอย่างช้านาน ทำให้ในวันนี้ กรุงเทพมหานครได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางและประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนแต่ไม่ควรมองข้ามความสำคัญในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในภูมิภาคอาเซียน

                          นายมนัสวีระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดอบรมให้แก่ประชาชนทุกระบบ และกลุ่มอาชีพได้มีโอกาสได้ฝึกฝนและใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารแบบง่ายๆ เนื่องจากภาษาจะช่วยให้คนกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงคนไทยทุกคน สามารถติดต่อสื่อสารกับประชาชนจากประเทศสมาชิกในอาเซียน และชาวต่างชาติกันมากยิ่งขึ้น นอกจากเรื่องการพัฒนาตัวบุคคลให้มีความพร้อมแล้ว   กทม. ยังต้องพัฒนาโครงสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง และระบบโทรคมนาคม ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางติดต่อไปมาหากันได้สะดวกกันมากยิ่งขึ้น

 

10. ท่องเที่ยว 

เสริมสร้างจุดแข็งของกรุงเทพฯเมืองท่องเที่ยว

                          มาถึงปัญหาสุดท้ายในเรื่องท่องเที่ยว โดยนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วกรุงเทพฯ สามารถขายตัวเองในฐานะแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะเมืองหลวงของไทยมีลักษณะของเมืองเก่าและใหม่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของกรุงเทพฯ และที่ผ่านมากรุงเทพฯ ก็เป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับความระดับโลกมาโดยตลอด ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่จึงต้องเสริมสร้างจุดแข็งของกรุงเทพฯ ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการดูแล พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีสภาพที่ดีขึ้น เช่น การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นเพียงสถานที่สำหรับเก็บโบราณวัตถุเท่านั้น

                          นอกเหนือจากการโปรโมทการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในเวทีโลก ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่ต้องเรียนรู้กลยุทธ์การดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามาเยี่ยมกรุงเทพฯ มากกว่าจะเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นได้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวประเทศไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวไทยของรัฐบาลสู่ระดับ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2558

                          อย่างไรก็ตามบทบาทด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของผู้ว่าฯ คนใหม่ของกรุงเทพฯ จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ว่าการกรุงเทพมหานครจะต้องประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างมาตรการป้องกันความปลอดภัยนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ