ข่าว

ความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำ

07 ม.ค. 2556

ความเหลื่อมล้ำ : วิถียุติธรรม โดยชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ

               เราพูดกันถึงเรื่องผลกระทบและสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในสังคมกันมานานแล้ว และในระยะหลังได้ยินกันมากขึ้น แม้กระทั่งในต่างประเทศก็พูดกันถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าในยุโรปหรืออเมริกาก็ตาม วิถียุติธรรมไม่ได้ยกประเด็นว่าด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์มาถกกันตรงนี้ แต่จะหยิบยกประเด็นสำหรับชาวบ้านมาคุยกันถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

               ตามตัวเลขต้องถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้พ้นจากขีดความยากจน คือมีประชาชนไม่ถึงร้อยละ 10 ที่มีรายได้อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่ายากจน แต่ปัญหาของความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากการมีรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น หมายถึงการที่คนส่วนน้อยของสังคมมีรายได้รวมกันทั้งปีมากกว่ารายได้ของคนส่วนใหญ่รวมกัน ตรงนี้แหละที่นำพาปัญหาความเหลื่อมล้ำลามไปถึงเรื่องอื่นๆ อีก และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั่วไป

               การสร้างวิถียุติธรรมให้เกิดการกระจายรายได้เพื่อให้คนกลุ่มต่างๆ มีรายได้ไม่แตกต่างกันจนเกินไปนักจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ในสังคมในที่สุด คงมีการโต้แย้งกันอยู่บ้างว่ายุคสมัยนี้คนขยันหรือคนที่มีโอกาสมากกว่าย่อมน่าจะมีรายได้จากการทำงานมากกว่า แล้วทำไมจึงจะต้องวิตกกังวลกับรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาจึงมีว่าควรมีมาตรการทางสังคมอย่างไรบ้าง เพื่อรองรับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นผลต่อเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้

               ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอาจนำมาซึ่งผลกระทบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมหรือการเมือง สำหรับผลกระทบต่อปัญหาสังคมที่ชัดเจนคงเป็นปัญหาอาชญากรรมไม่ว่าจะเป็นปัญหาลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ทั่วไป ไปจนถึงความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศ และแน่นอนปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นเมื่อผลกระทบของความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และเมื่อเรียกร้องทวงสิทธิแล้วไม่ได้รับการตอบสนองตามที่ต้องการเพราะความเหลื่อมล้ำจะทำให้การแก้ไขปัญหามีความซับซ้อนและเกิดการสะสมของสภาพปัญหาแทบจะทุกเรื่อง

               สภาพปัญหาที่พูดมานั้น หากฉุกคิดจะพบว่าทั้งสาเหตุและผลกระทบของปัญหาจะวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านมากที่สุด เพราะเมื่อเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมปัญหาต่างๆ จะเชื่อมโยงกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในโอกาสการได้รับการศึกษาที่ดี ต่อเนื่องไปจนถึงการมีอาชีพที่ดีอันนำไปสู่การมีรายได้เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

               หากจะหันมามองบทบาทของรัฐในการพยายามลดช่องว่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือแม้แต่จะต้องรองรับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นแล้วให้ได้โดยมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือมีมาตรการเสริมพิเศษสำหรับคนกลุ่มต่างๆ ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกันให้มากที่สุด เราจะพบว่าเห็นบทบาทเหล่านั้นของรัฐที่เป็นระบบไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะเรื่องสำหรับชนชั้นกลางเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นโครงการสำหรับบ้านหรือรถยนต์

               สังคมไทยยังคงต้องการมาตรการช่วยเหลือในการป้องกันหรือลดความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้ด้อยโอกาสที่เป็นระบบมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มิใช่โครงการประชานิยมทั่วไป แต่ควรมีการบริหารจัดการที่มุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เป็นผู้ด้อยโอกาสอันเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างแท้จริงไม่ใช่เป็นการหว่านโดยทั่วไป

               กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำและควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษน่าจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวรายได้ต่ำในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นหญิง เพราะจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐทุกประเภทได้ยากกว่ากลุ่มอื่น

               ความจริงชื่อประชานิยมก็ดีอยู่แล้วว่าชาวบ้านชอบ ถ้าจะให้ชอบยิ่งขึ้นต้องดูกลุ่มที่ด้อยโอกาสจริงๆ ให้ทั่วถึงด้วย แม้จะยังไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ตาม