
สร้างสมดุลสู่ความสุขยั้งยืน
สร้างสมดุล สู่ความสุขยั้งยืน
นิยามของคำว่า "ความสุข" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่จุดหมายของการใช้ชีวิตทุกคนย่อมต้องการลงเอยด้วยคำคำนี้กันทั้งนั้น และเพื่อค้นหาสิ่งที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ได้พบเจอกับความสุขมากที่สุด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจ "ความสุขของคนกรุงเทพฯ" (ไลฟ์ กู๊ด โพล) ในแง่มุมต่างๆ จากกลุ่มตัวอย่างหนุ่มสาว อายุ 20-45 ปี ที่ที่อาศัยอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญ จำนวน 1,037 คน ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา โดยมีการเปิดเผยผลสำรวจพร้อมการวิเคราะห์จากจิตแพทย์ชื่อดัง ภายในห้องอโศก 1 โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พอยท์ โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนท์ สุขุมวิท เมื่อวันก่อน
ศุภรางศุ์ อนุชปรีดา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัทแอลจี อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยเรื่องของระดับความสุขของคนกรุงเทพฯ โดยการเลือกตอบว่ากำลังมีความสุขถึงมากที่สุดเพียงร้อยละ 7 โดยส่วนมากเลือกข้อมีความสุขระดับปานกลางเป็นจำนวนร้อยละ 54 รองลงมาคือมีความสุขน้อยจำนวนร้อยละ 33 ต่อมาคือผลสำรวจชีวิตที่ดีและมีความสุขของคุณคืออะไร อันดับแรก ได้แก่ การมีสุขภาพที่ดี คิดเป็นร้อยละ 23 ต่อมาคือการได้ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ รอยละ 18 และมีการงานที่ดีร้อยละ 14 ทางด้านเรื่องของบุคคลใครที่มีบทบาททำให้ตัวเองมีความสุขมากที่สุด ร้อยละ 30 บอกว่าคือพ่อแม่และครอบครัว รองลงมาคือคู่รัก สามี ภรรยา ร้อยละ 19 ตามด้วยเพื่อนสนิทร้อยละ 19 นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่คนกรุงเทพฯ ต้องการเพื่อที่จะให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น โดยอันดับแรก ได้แก่ การมีน้ำใจต่อกันลดการเห็นแก่ตัวคิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาคือการสามัคคีกันมากขึ้น ส่วนปัญหาสังคมที่คนกรุงเทพฯอยากแก้ไข ร้อยละ 32 ถูกยกให้กับปัญหาด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพ รองลงมาคือปัญหาด้านการเมือง คอรัปชั่น คิดเป็นร้อยละ 16
ด้าน นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ครอบครัว กล่าวว่า ความสุขของคนเราเกิดจากปัจจัยที่แตกต่างและเหมือนกันในหลายๆ ด้านปัจจัยที่แตกต่างกันคือ "วัย" ซึ่งความต่างของอายุทำให้วิธีใช้ชีวิตและการมองโลกต่างกัน
"เชื่อว่าความสุขส่วนใหญ่ของคนเรามักจะมาจาก "ความคิด" ที่ว่า เราควรสมหวังตามค่านิยมที่สังคมกำหนด ซึ่งในความเป็นจริง วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เราต้องดิ้นรนและเหนื่อยมากเกินไป หากเข้าใจคำว่าความสุขอย่างแท้จริง จะค้นพบว่าความสุขไม่ได้เกิดจากความคาดหวังในการได้รับอย่างเดียว แต่เกิดจากการสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในใจด้วยการรู้จักเป็นผู้ให้ หรือทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมด้วย ความสุขคือการมีชีวิตสมดุลไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เราต้องสังเกตว่าทุวันนี้เรามีอะไรมากน้อยเกินไปรึเปล่า จากประสบการณ์พบว่าคนไข้ที่มีฐานะดีจะเป็นทุกข์เพราะมีความซับซ้อนในชีวิต มีความต้องการทางสังคมและวัตถุสูง แต่คนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ หรือชาวบ้านมักมีชีวิตไม่ซับซ้อน พอดี ใช้ชีวิตแบบไม่มีเงื่อนไขจึงมีแนวโน้มที่มีความสุขมากกว่า ดังนั้งการปล่อยวางจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อให้ชีวิตมีความสุข" จิตแพทย์หนุ่มกล่าว
ส่วนเวิร์กกิ้งวูเมน "กบ" อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้ร่วมแบ่งปันวิธีการใช้ชีวิตที่ดีสำหรับตัวเองว่า ปัจจุบันต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วย จึงต้องหันมาบริหารเวลาให้เคร่งครัดมีสมุดตารางทั้ง 7 วันที่ต้องจัดกิจกรรมระหว่างงานกับลูกให้ลงตัวและต้องทำตามนั้นให้ได้ ตั้งแต่รถติดมากขึ้นเวลาเราก็น้อยลงต้องหาวิธีใช้เวลากับคนที่เรารักให้คุ้มค่าที่สุด แต่ไม่เคร่งเครียดกับตารางเวลามากเกินไป ต้องคอยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสมมุติรถติดจนไปหาลูกไม่ทันก็คิดซะว่าทุกคนก็เป็นกันหมดใจเราก็จะร่มลง เพราะถ้าเรามัวแต่นั่งเครียดไม่มีความสุขพอถึงบ้านก็มีแรงเล่นกับลูกแล้วและเชื่อว่าอารมณ์เหล่านี้จะส่งผลถึงตัวผู้รับด้วย ยิ่งทำให้ความสุขลดลงไปอีก