ข่าว

เมื่อประเทศไทยกำลังอัพเกรด…

เมื่อประเทศไทยกำลังอัพเกรด…

03 ม.ค. 2556

เมื่อประเทศไทยกำลังอัพเกรด … : ประชาธิปไตยที่รัก โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ([email protected])

               คำว่า upgrade เป็นคำที่ใช้กันเยอะในหลายๆ วงการ โดยเฉพาะกับเครื่องยนต์กลไก และคอมพิวเตอร์

               คำเก่าๆ น่าจะใช้คำว่า "ยกเครื่อง" แต่คำว่า "ยกเครื่อง" บางทีก็ไม่ได้ความหมายของการ upgrade เท่าไหร่ เพราะว่าการยกเครื่องน่าจะหมายถึง overhaul ที่หมายถึงการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้น หรือเอาของเก่ามาปรับปรุงใหม่

               แต่การ upgrade มันหมายถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่คุณภาพใหม่ เหมือนกับเปลี่ยนทั้งอุปกรณ์และโปรแกรม

               แต่ก็นั่นแหละครับ บางทีก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นเสมอไป บางทีโปรแกรมใหม่ก็อาจจะไม่ค่อยเสถียร หรืออุปกรณ์บางอย่างก็ไม่รองรับ หรือทำงานกันไม่ได้

               แต่อย่างน้อยทุกคนก็พยายามที่จะทำให้มันดีขึ้นนั่นแหละครับ แม้ว่าจะบางทีก็ต้องเข้าใจว่าจะปรับเปลี่ยนอะไร และในกระบวนการดังกล่าวก็อาจจะเปิดปัญหาระหว่างทางได้

               ทีนี้เมื่อเปรียบประเทศไทยว่าจะต้อง upgrade แล้วก็เห็นว่ามีความพยายามจริงๆ จังๆ อยู่มิใช่น้อย ไม่ว่าจะเรื่องของกระบวนการส่งเสริมราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการจำนำข้าว

               และเรื่องที่สองที่ตามมาก็คือ เรื่องของการขึ้นค่าแรง ของแรงงานขั้นต่ำเป็นสามร้อยบาททั่วประเทศ

               เรื่องอื่นๆ ที่ยังเกี่ยวข้องก็คือ การขึ้นเงินเดือนของคนที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000

               รวมทั้งเรื่องของรถยนต์คันแรก ซึ่งหากมองในด้านหนึ่งเราเชื่อว่าจะทำให้ปริมาณรถออกมามากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งรถใหม่ๆ นั้นก็จะมีเทคโนโลยีที่สูงกว่า และดูแลสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

               หากเป็นไปตามที่คาดหวัง การอัพเกรดประเทศไทยในรอบใหม่นี้น่าจะยกระดับประเทศให้ขึ้นไปสู่ขั้นใหม่

               ซึ่งเงื่อนไขสำคัญถ้าจะพูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศมีความมั่นคงในแง่ของสวัสดิการ ที่เป็นโครงการเดิมอยู่แล้ว และในเรื่องของความสามารถในการบริโภคที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ

               แต่ทีนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอีกหลายด้าน

               แต่ผมจะไม่ขออธิบายว่าคนที่ต่อต้านนั้นเป็นคนที่ไม่ดี เพราะนั่นเป็นวิธีการที่ง่ายเกินไป และไม่เป็นประชาธิปไตยยิ่ง ที่ไม่เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง

               ประเด็นสำคัญในกระบวนการอัพเกรดประเทศนี้แรงเสียดทานที่สำคัญก็คือ ฐานคิดเก่าที่ยังเชื่อว่าการสร้างความมั่งคั่งจะต้องเป็นเรื่องของกลไกตลาด ที่เชื่อว่ากลไกตลาดจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทรงประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากที่สุด

               แต่คำถามอีกด้านหนึ่งก็คือ ตลาดที่เราเชื่อว่าเป็นธรรมชาติและเป็นธรรมนั้นที่ผ่านมาก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากการสร้างขึ้นด้วยอำนาจหลายๆ ด้าน อาทิ การใช้กำลังยึดครองพื้นที่ ในนามของการเปิดประเทศเสรี หรือการใช้กลไกรัฐเพื่อลดแรงเสียดทานเช่นการไม่คุ้มครองผู้นำกรรมกร หรือการปล่อยให้เกิดการทำลายธรรมชาติเช่นกัน

               ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าตลาดไม่มีความสำคัญ?แต่คงจะต้องอธิบายว่าความสำคัญของตลาดนั้นจะต้องเข้าใจอย่างมีสติ เพราะตลาดก็มีความโหดร้าย และที่สำคัญก็คือกระบวนการอัพเกรดประเทศไทยนั้นก็ไม่ได้ยกเลิกระบบตลาด เพียงแต่ต้องการให้ตลาดมันมีความเป็นธรรมมากขึ้น

               ในแง่นี้มิติเรื่องความเป็นธรรม (fair) ความยุติธรรม (just) และความเสมอภาค (equal) ก็คงจะเป็นเรื่องใหญ่ของกระบวนการนี้ ว่าตกลงใครบ้างที่จะถูกนับและมีสิทธิในรอบนี้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยไปกว่าเรื่องของช่องทางการทุจริตที่อาจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งในแง่นั้นก็ต้องตรวจสอบกันต่อไป

               ที่สำคัญ เรากำลังเผชิญกับประเด็นท้าทายด้วยว่าเมื่อประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น พวกเขายังจะยินยอมให้มีการทุจริตต่อไปหรือไม่ หรือโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การเมืองกำลังจะขับเคลื่อนไปสู่ความแหลมคมขึ้น เพราะจะเป็นการเมืองที่ว่ากันด้วยนโยบายที่เจือปนไปด้วยอคติมากขึ้นว่าเมื่อทุกคนเท่าๆ กันมากขึ้น จะผลักดันนโยบายไปทางใด ทุกคนก็จะระแวดระวังมากขึ้นว่าเขาจะได้ หรือเสียอะไร

               ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การเมืองในอนาคตก็จะต้องพูดจาและถกเถียงกันมากขึ้นด้วยนั่นแหละครับ และประชาธิปไตยยิ่งจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะมันจะเปิดพื้นที่ให้คนได้แลกเปลี่ยน และประนีประนอมกันมากขึ้น ครับผม