
คุก1ปี'สมชาย-ไพบูลย์'ไม่รอลงอาญา
พิพากษาจำคุก 1 ปี 'สมชาย ไพบูลย์' นปช.ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ยุยง ปชช.ล่วงละเมิดกม.ช่วงชุมนุมปี 53 ชี้พฤติการณ์ร้ายแรง ไม่รอลงอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 ธ.ค. 55 ที่ห้องพิจารณา 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2543/2553 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย ไพบูลย์ อายุ 43 ปี อดีต สข.บางบอน พรรคไทยรักไทย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ,215 , 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 5,9,11,18
ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 53 บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 8-10 เม.ย. 53 ภายหลังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยกับพวกซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุม ที่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ และเวทีราชประสงค์ โดยจำเลยกับพวกทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วยังขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่เลิกการชุมนุม และได้ใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดไม่ทราบชนิด ขนาด มีด ดาบ ท่อนไม้ ท่อนเหล็ก หนังสติ๊กหลายชิ้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เป็นอาวุธ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหาร ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงตลาดยอด ,แขวงวัดโสมนัส ,แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร,แขวง-เขตดุสิต แขวงลุมพินี แขวง-เขตปทุมวัน กทม.
โดยศาลพิเคราะห์คำเบิกความของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 2 นาย พยานโจทก์ และคำถอดเทปการปราศรัยของจำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยกับพวกได้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ตั้งแต่เดือน มี.ค. 53 เพื่อต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งต่อมาได้มีการเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ และระหว่างนั้นมีการนำเลือดไปเทที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และบ้านนายอภิสิทธิ์ โดยการชุมนุมขัดขวางการจราจร กระทั่งรัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่ร้ายแรงในเขต กทม.และปริมณฑล กำหนดพื้นที่การห้ามชุมนุมสะพานผ่านฟ้า และสี่แยกราชประสงค์ แต่จำเลยกับพวกก็ยังคงชุมนุมซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว และยังปรากฏว่าเมื่อมีการใช้กำลังทหารเพื่อขอคืนพื้นที่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 53 จำเลยได้ขึ้นปราศรัยมีถ้อยคำว่าขอให้ผู้ชุมนุมที่อยู่ตามจุดคอกวัว แยก จปร. สะพานมัฆวานรังสรรค์ ประจำแต่ละจุดไว้ และให้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งไปยังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแยกคอกวัว รวมทั้งให้นำรถยนต์ไปจอดขวางไม่ให้ทหารเข้าทางด้านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและโรงเรียนสตรีวิทยา ขณะที่ยังปรากฏว่าพบลูกระเบิดในพื้นที่ ดังนั้นการการชุมนุมของจำเลยจึงไม่ได้เป็นไปโดยสงบสันติ ปราศจากอาวุธแบบอหิงสาตามที่ยกขึ้นอ้าง นอกจากนี้ได้ความจากพนักงานสอบสวนดีเอสไอในส่วนที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับพฤติการณ์ผู้กระทำผิดยุทธภัณฑ์ว่า เมื่อมีการขอคืนพื้นที่มีการยึดทำลายรถถังของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ชุมนุมมีการใช้ด้ามธงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและใช้ด้ามธงแทงล้อรถของเจ้าพนักงาน
การกระทำของจำเลยจึงแสดงให้เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้วตามประกาศ แต่จำเลยยังคงขึ้นปราศรัยให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการขอคืนพื้นที่โดยแม้จะไม่ปรากฏว่าการขึ้นเวทีปราศรัยของแกนนำไม่ได้เตรียมการร่วมกันมาก่อน แต่ก็มีความหมายไปทำนองเดียวกันว่าให้ผู้ชุมนุมตรึงกำลังรักษาพื้นที่ชุมนุมต่อไป และยังบอกวิธีการสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งยังกล่าวขอกำลังจากผู้ชุมนุมในจุดอื่นมาช่วยเสริมจนกระทั่งมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ทั้งที่หากจำเลยไม่ปราศรัยก็จะไม่ก่อให้ผู้ชุมนุมกระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาปลุกระดมสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารจนทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้การชุมนุมยังคงอยู่โดยกระทำนั้นไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามที่จำเลยอ้าง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้ปรากฏด้วยวาจาที่ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2)(3) ,215วรรค 2 และ วรรค 3 , 216 และ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 9,11,18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรและให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นบทหนักสุด และเมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง ส่งผลให้กลุ่มผู้ชุมนุมปะทะ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต กรณีจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ
ภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้วนายสมชาย ได้ ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์