
'โลก(ยัง)หลากสี'ที่เกาะกาลาปากอส
เวิลด์วาไรตี้ : โลก(ยัง)หลากสี ที่...เกาะกาลาปากอส
"กาลาปากอส" หมู่เกาะที่มีอาณาเขตกว้างขวางราว 8,000 ตารางกิโลเมตร มีความโดดเด่นระดับโลกอยู่บนจุดเล็กๆ บนแผนที่โลก ซึ่งบ่งถึงที่ตั้งประเทศเอกวาดอร์ หมู่เกาะกาลาแห่งนี้ เต็มไปด้วยพันธุ์พืชและสัตว์ประจำถิ่นที่ไม่เหมือนใคร เป็นสัญลักษณ์ที่มีชีวิตชีวาแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" ซึ่งเดินทางมาสำรวจเกาะแห่งนี้เมื่อ 177 ปีก่อน สามารถไขปริศนาแห่งชีวิตจนตกผลึกมาสู่การสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ
หมู่เกาะแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ขององค์การยูเนสโกในปี 2521 ปัจจุบันมีพลเมืองอาศัยอยู่ประมาณ 2.5 หมื่นคน แม้จะมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ แต่ทุกปีมีนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสสีสันแห่งโลกธรรมชาติซึ่งมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวในโลกที่นี่ มาเยือนไม่ต่ำกว่า 1.8 แสนคน โดยแทบทุกคนต่างก็ไม่ลืมแวะไปหาโอกาสทักทาย ทวดจอร์จ วัย 100 ปี ที่เชื่อกันว่าเป็นเต่ายักษ์สายพันธุ์เกาะปินตาตัวสุดท้ายบนโลก ดังนั้น เมื่อสัญลักษณ์ของหมู่เกาะนี้เสียชีวิตลงไป ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงเรียกได้ว่า เป็นข่าวช็อกแห่งปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีผลวิจัยเผยแพร่ออกมาว่า เต่ายักษ์กาลาปากอสสายพันธุ์เกาะปินตาตัวนี้ ซึ่งได้รับฉายาว่า "จอร์จผู้เดียวดาย" อาจไม่ได้เดียวดายอย่างที่เราเข้าใจกัน โดยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะกาลาปากอส ก็ระบุในคำแถลงด้วยว่า ยังมีเต่าอีกอย่างน้อย 17 ตัวบนหมู่เกาะกาลาปากอส ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับจอร์จ รวมถึงบางตัวที่อาจมาจากตระกูลเดียวกันด้วย พร้อมอ้างอิงงานวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐ ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างดีเอ็นเอกว่า 1,600 ชิ้นจากเต่าที่อาศัยอยู่บนภูเขาไฟวอล์ฟ เกาะอิซาเบลลา กับตัวอย่างดีเอ็นเอของจอร์จ ที่ได้จากพิพิธภัณฑ์เต่าบนเกาะปินตา
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ในอดีตเคยมีประชากรเต่ายักษ์อาศัยอยู่บนหมู่เกาะกาลาปากอส ประมาณ 3 แสนตัว แต่ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 เต่ายักษ์สายพันธุ์เกาะปินตาถูกคุกคามโดยนักล่าวาฬและโจรสลัด ซึ่งกินเนื้อของพวกมันเป็นอาหาร และนำสัตว์ผู้ล่าชนิดใหม่ๆ เข้ามายังหมู่เกาะนี้ จนปัจจุบันหมู่เกาะกาลาปากอสมีเต่ายักษ์เหลืออยู่เพียง 10 สายพันธุ์ ประมาณ 3-4 หมื่นตัว
...แม้ว่าหมู่เกาะแห่งนี้ยังดำรงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์ของ "ความหลากหลาย" ของธรรมชาติ แต่เริ่มมีสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตระหนักถึงการปกป้องรักษาให้กาลาปากอส ยังคงดำรงไว้ซึ่งสถานะของการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอันทรงคุณค่าเพื่อคนรุ่นต่อไป โดยยูเนสโกประกาศเมื่อปี 2550 ว่า หมู่เกาะกาลาปากอส เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสัตว์ต่างถิ่น การท่องเที่ยว และการอพยพตั้งถิ่นฐานของผู้คน
ล่าสุด สัญญาณเตือนข้อหนึ่งก็เป็นจริงขึ้นมา เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกาลาปากอส เริ่มเห็นภัยจากหนูต่างถิ่นราว 180 ล้านตัว ที่พากันอาละวาด กัดกินไข่และตัวอ่อนที่เพิ่งฟักจากไข่ของนก และสัตว์เลื้อยคลานประจำถิ่นหลายชนิดบนเกาะ เช่น เต่ายักษ์ งู เหยี่ยว และอิกัวน่า รวมถึงกัดกินพืชด้วย ที่สร้างความคุกคามต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติในท้องถิ่น หนูเหล่านี้ถูกนำมาจากนอร์เวย์สมัยศตวรรษที่ 17 และแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนทางการเอกวาดอร์ ต้องใช้ยุทธศาสตร์กำจัดหนูด้วยการทยอยส่งเฮลิคอปเตอร์ บินโปรยยาเบื่อหนูน้ำหนักหลายสิบตัน ไปตามเกาะต่างๆ อย่างไรก็ตาม การจะกำจัดหนูให้หมดไปจากหมู่เกาะแห่งนี้โดยสิ้นเชิง คาดว่าต้องรอไปถึงปี 2563
--------------------
(เวิลด์วาไรตี้ : โลก(ยัง)หลากสี ที่...เกาะกาลาปากอส)