
'โพงพาง'ปมจัดการทรัพยากร
รายงานพิเศษ : ปม 'โพงพาง' กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากร : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล
"โพงพาง" เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ ซึ่งมีที่มาจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ด้วยลักษณะที่เหมือนถุงกรองกาแฟโบราณ ด้วยลักษณะปากถุงกว้าง ก้นถุงเล็ก ตัวถุงทำจากอวนหรือไนลอนที่มีตาถี่หรือห่างตามต้องการ โดยรูปแบบแล้วจะใช้กางในแม่น้ำหรือลำคลอง โดยส่วนใหญ่จะกาง 3 ใน 4 ส่วนของลำน้ำ เพื่อให้เรือสามารถสัญจรไปมาได้ และมีไม้ไผ่กางขวางตามความกว้างของปากโพงพาง ลึกตามความลึกของลำคลอง ก้นโพงพางจะมัดด้วยเชือกอย่างแน่นหนา ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำหลุดออกไป และก้นถุงจะใช้แกลลอนน้ำมันหรือลูกมะพร้าวแห้งผูกเชือกปล่อยให้ลอยน้ำ เมื่อได้เวลากู้โพงพาง ชาวประมงก็จะนำเรือมาจอดเทียบก้นถุง ดึงเชือกขึ้นมา เปิดก้นถุงออก ก็จะได้สัตว์น้ำที่ติดอยู่ในโพงพาง
การกางโพงพางนิยมทำกันตอนกลางคืน และต้องเป็นช่วงน้ำลง หากดักช่วงน้ำขึ้นจะติดสัตว์น้ำน้อย เดิมจะมีการจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดแขวนไว้ที่หัวเสาโพงพางทั้ง 2 ด้าน เป็นสัญญาณให้รู้ว่ามีโพงพางขวางกั้นคลองหรือแม่น้ำอยู่ เพื่อป้องกันเรือชน แต่ปัจจุบันมักต่อไฟฟ้าจากบนบกลงไปแขวนดวงไฟไว้แทน ข้อเสียของ "โพงพาง" คือเป็นเครื่องประมงที่จับสัตว์น้ำ โดยไม่แยกชนิดและขนาด ถือเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำที่มีการโยกย้ายถิ่นในการขยายพันธุ์ ร่วมทั้งกีดขวางลำน้ำ และทำให้ร่องทางเดินเรือตื้นเขินซึ่งก่อให้เกิดอันตราย
น่าสนใจว่า “โพงพาง” ถูกระบุว่าเป็นเครื่องมือประมงที่ทำลายล้างชนิดพันธุ์สัตว์น้ำและผิดกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 ซึ่งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 65 ปี แต่ก็ยังมีผู้ลักลอบทำโพงพางในแม่น้ำลำคลอง ปากแม่น้ำและบริเวณชายฝั่ง เพราะอาชีพกางโพงพางเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ผู้ประกอบอาชีพนี้จะมีรายได้วันละ 400-500 บาท หรืออาจถึง 1,000 บาท ขณะที่ปัจจัยลบที่เห็นได้ด้านหนึ่งก็คือส่งผลให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กที่มีแหล่งอาศัยอยู่บริเวณนั้นลดน้อยลง เนื่องจากถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อนวัยอันควร
ข้อมูลการศึกษาของกรมประมง เรื่องต้นทุน ผลตอบแทน และความสูญเสียทางการเงินจากการทำประมงโพงพาง พบว่า "โพงพาง" มีอัตราการจับเฉลี่ย 28 กิโลกรัมต่อปาก ได้สัตว์น้ำเศรษฐกิจร้อยละ 51 และปลาเป็ดร้อยละ 49 ซึ่งในปลาเป็ดแบ่งเป็น ปลาเศรษฐกิจถึงร้อยละ 43 ของอัตราการจับเฉลี่ยทั้งหมด และมีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประมาณวันละ 559 บาท ต่อ โพงพาง 1 ปาก ปาก หรือ 1.5 แสนบาท ต่อโพงพาง 1 ปาก ต่อปี ที่ผ่านมาในประเทศไทยมี "โพงพาง" ทั้งชายฝั่งทะเลและน้ำจืดรวมทั้งสิ้น 11,072 ปาก คิดเป็นความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากโพงพาง ในภาพรวมของทั้งประเทศมูลค่า 1,661 ล้านบาทต่อปี
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีประกาศฉบับที่ 4 (พ.ศ.2521) ประกาศ ณ วันที่ 14 กันยายน 2521 เรื่อง “ห้ามใช้เครื่องมือโพงพาง หรือเครื่องมือประมงที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกันทำการประมง แต่ผู้ประกอบอาชีพประมงโพงพางก็ยังเพิกเฉย และยังมีจำนวนโพงพางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมประมงจึงมีนโยบายรื้อถอนโพงพาง และได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกรื้อถอนโพงพางในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ถึงจะมีการขัดขวางจากผู้ทำประมงโพงพาง แต่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมประมงก็ประสบความสำเร็จ ยกเว้นที่ จ.สมุทรสงคราม ที่ชาวประมงไม่ยอมให้รื้อถอนโพงพาง พร้อมร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่าโพงพาง เป็นภูมิปัญญาของโบราณที่มีมานาน อีกทั้งโพงพางไม่ได้ทำลายสัตว์น้ำตามที่กรมประมงกล่าวอ้าง แต่ที่สัตว์นำลดลงเกิดจากมลภาวะของน้ำซึ่งมาจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งชาวประมงโพงพาง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หากเลิกแล้วจะไม่มีอาชีพ และขอให้ผ่อนผันออกไปอีก 3 ปี
โดยเสนอให้กรมประมงทำวิจัยว่าโพงพาง เป็นเครื่องมือที่ทำลายสัตว์น้ำจริงหรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน จ.สมุทรสงครามได้ตั้งไตรภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และโพงพางในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ก็ยังไม่ถูกรื้อถอน ปัจจุบันใน จ.สมุทรสงคราม มีโพงพางอยู่ทั้งหมด 112 ปาก ส่วนใหญ่อยู่ในแม่น้ำแม่กลอง คลองแม่กลอง และคลองยี่สาร สามารถสร้างรายได้รวมให้ชาวประมงโพงพางทั้งจังหวัดเฉลี่ยปีละ 160-200 ล้านบาท และมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 16 ล้านบาท
"ทัดทรวง พิกุลทอง" ผู้แทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวว่า คำสั่งให้รื้อถอนโพงพาง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพทางด้านนี้ในพื้นที่สมุทรสงครามได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่อาชีพทำประมงโพงพางคือการสืบกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
"ส่วนตัวผมเห็นใจชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง เพราะทำมาหลายชั่วอายุคน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สัตว์นำทุกประเภทเป็นทรัพยากรของชาติ คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของ รัฐมีหน้าที่เพียงรับช่วงไปจัดการให้เอื้อประโยชน์สูงสุดกับเจ้าของทรัพยากร ซึ่งก็คือชาวบ้าน การมาสั่งห้ามอย่างนี้ไม่ถูกต้องนัก การใช้กฎหมายต้องมองเรื่องสิทธิชุมชนด้วย" นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็น
"สุรจิต ชิรเวทย์" ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า อยากให้รัฐทบทวนการรื้อถอน และหากรื้อถอนจริงก็ควรจ่ายค่าชดเชยเยียวยา ข้อเสนอขอให้รัฐทำวิจัยว่าการกางโพงพางทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือขวางทางน้ำ เป็นข้อเท็จจริงที่ควรศึกษา เพื่อนำมาเป็นทางออกยุติปัญหาดังกล่าว
ข้อเสนอให้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบถึงผลดี-ผลเสีย ในการทำประมงด้วยโพงพาง จึงเป็นทางออกที่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำประมงดั้งเดิม และผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอให้กรมประมงในฐานะหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยตรงได้สนองตอบในเรื่องนี้
--------------------
(รายงานพิเศษ : ปม 'โพงพาง' กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากร : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล)