ข่าว

'กิจ หลีกภัย'กับภารกิจพัฒนาเมืองตรัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กิจ หลีกภัย" กับภารกิจพัฒนาเมืองตรังเพื่อความน่าอยู่ : คอลัมน์ เปิดใจผู้นำท้องถิ่น

         นอกจากจะเป็นที่รู้จักของชาว จ.ตรัง เป็นอย่างดี ในฐานะที่เป็นพี่ชายคนโตของตระกูล "หลีกภัย" แล้ว เขาผู้นี้ยังมีบทบาทเด่นทั้งในอดีตและปัจจุบัน นับแต่รับราชการเป็นครูธรรมดา จนไต่ระดับขึ้นเป็น ผอ.โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครตรัง กระทั่งเกษียณอายุ แล้วก้าวมาเล่นการเมืองท้องถิ่น ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะสมัยแรกซึ่งเขาเป็นแค่สมาชิกธรรมดาๆ เท่านั้น
 
         ทว่าหลังจาก "กิจ หลีกภัย" ก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง เมื่อปี 2549 ก็เพียรพยายามจะพัฒนาพื้นที่ไปตามนโยบายที่วางไว้ ต่อเนื่องมาสมัยที่ 2 และ 3 รวมเป็นเวลาถึง 12 ปี และกำลังเริ่มต้นต่อไปในสมัยที่ 4 อีก 4 ปี หลังจากเพิ่งจะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนอย่างถล่มทลายกว่า 1.4 แสนเสียง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
 
         นายกกิจ บอกว่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นครบถ้วนทุกด้าน แต่จะให้ทำแล้วไปถูกใจใครทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ขอเดินหน้าทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสังคมต่อไปจนถึงที่สุด ตราบเท่าที่ประชาชนยังเลือกเข้ามานั่งบริหารงาน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เขาภูมิใจก็คือ การควบคุมรายจ่ายค่าจ้างประจำให้อยู่แค่ 15-16% ต่างไปจากบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีภาระในส่วนนี้สูงถึง 40% จึงทำให้เหลือเงินมาพัฒนาได้น้อย
 
         "อบจ.ตรัง มีงบปีละราว 400 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็นค่าจ้างประจำราว 60 ล้านบาท จ่ายเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ประมาณ 90 ล้านบาท และตั้งเป็นงบกลางไว้ราว 50 ล้านบาท จึงยังเหลือเงินที่จะนำมาพัฒนาท้องถิ่นไม่น้อยกว่าปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านได้มาก ตามนโยบายที่ว่าซื่อสัตย์ พัฒนา ประชาร่วมใจ เพื่อให้ตรังเป็นเมืองน่าอยู่ และผู้คนอยู่ดีมีสุข"
 
         นายกกิจ ยอมรับว่า งบประมาณถึงครึ่งหนึ่งถูกนำไปใช้พัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภค ทั้งถนนหนทาง สะพาน ท่าเทียบเรือ สนามกีฬา เป็นต้น เพราะหลายพื้นที่ยังด้อยในเรื่องนี้มาก แม้จะมีเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากองค์กรท้องถิ่นมีเงินที่จะนำมาพัฒนาได้ปีละไม่กี่ล้านบาท แค่ลาดยางถนนสักสายก็หมดแล้ว จึงไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อีก
 
         โดยเฉพาะถนนนั้น มีทั้งถนนเดิมที่ได้รับโอนมาจากกรมโยธาธิการ หรือกรมเร่งพัฒนาชนบท (รพช.) เดิม ซึ่งหลายสายมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมากแล้ว และยังมีถนนใหม่ที่เพิ่งถูกตัดใหม่ แต่ยังเป็นแค่ลูกรังหรือหินคลุก เขาจึงชูแนวคิดที่ถือเป็นต้นแบบแห่งเดียวในประเทศไทย ด้วยการให้องค์กรท้องถิ่นออกงบแค่ 40% ส่วนที่เหลืออีก 60% อบจ.ตรัง จะช่วยสนับสนุน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้สามารถลาดยางได้เป็นจำนวนมาก
 
         "หลายสิบปีที่ผมเดินหน้าโครงการนี้ ก่อสร้างถนนไปแล้ว 400-500 กิโลเมตร กระจายครอบคลุมทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดตรัง โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร เพื่อให้สัญจรไปมาได้โดยสะดวก และเป็นการรองรับรถที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน อีกทั้งยังทำให้ชุมชนสามารถเชื่อมต่อกันง่ายขึ้นในระดับหมู่บ้าน ตำบล ไปถึงระดับอำเภอ  ส่งผลต่อการทำมาค้าขาย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรอยู่"
 
         ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น นายกกิจ บอกว่า เขาเองก็ไม่เคยทอดทิ้ง โดยโครงการเด่นที่กล่าวขานกันมาต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็คือโครงการเฝ้าระวังสุขภาพ หรือโครงการเจาะเลือด เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้กลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายถือเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น รวมทั้งคัดกรองผู้มีความเสี่ยงเข้ารับการรักษาต่อในสถานพยาบาล
 
         ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พบว่า มีชาวตรังต้องเผชิญกับโรคมะเร็งทุกชนิดรวมกันเป็นจำนวนมาก ทั้งโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคเบาหวาน ซึ่งเกิดมาจากหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เพราะตรังเป็นเมืองแห่งคนช่างกิน และมีอาหารมากมาย แต่จำนวนมากก่อให้เกิดไขมัน และน้ำตาลในเลือด จนเป็นที่มาของการเกิดโรคร้ายหลายชนิด
 
         จากโครงการเฝ้าระวังสุขภาพ ที่ทำได้แค่ปีละไม่กี่ร้อยคน ค่อยๆ ขยับจนเป็น 2-3 หมื่นคนแล้วในปีนี้ โดยจะเน้นในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 30-35 ปีขึ้นไป รวมผู้ได้รับการตรวจแล้วนับถึง 2 แสนคน จากประชากรทั้งจังหวัด 6 แสนคน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 600-700 บาท แต่หากให้ชาวบ้านไปตรวจเอง ต้องใช้เงินถึงคนละ 4-5 พันบาท จึงเป็นอุปสรรคด้านสุขภาพ ที่ อบจ.ตรัง จำต้องเข้ามาช่วยเหลือ
 
         ในส่วนการพัฒนาด้านอื่นๆ นายกกิจ ย้ำว่า ได้ทำควบคู่กันไปทั้งหมด แม้อาจไม่ได้ทุ่มงบเต็มที่เหมือนบางโครงการ แต่ก็ถือว่าสำคัญและรับฟังทุกความคิดเห็นมาแก้ไข ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่อยากพัฒนาพื้นที่บนบกด้วย นอกเหนือไปจากทะเลที่โด่งดังอยู่แล้ว หรือด้านการเกษตร กับการแจกจ่ายพืชผักสวนครัวให้ชาวบ้านปลูกกินกันเอง ดีกว่าไปซื้อตามท้องตลาดที่อาจมีสารพิษเจือปน
 
         "ภาคภูมิใจที่ตลอดเวลาของการนั่งตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง สามารถพัฒนาลงไปจนถึงชาวบ้านระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างกันเพราะผลงาน ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อเสียงเหมือนกับบางองค์กรท้องถิ่น เพื่อสร้างรูปแบบทางการเมืองที่ดีเอาไว้ให้ทุกคนเห็น มิเช่นนั้น ต่อไปใครจะก้าวมานั่งเป็นนายก ก็ต้องใช้เงินทุ่ม แล้วเข้าไปกอบโกยหาผลประโยชน์กลับคืน"
  
         นี่ก็คืออุดมการณ์ของผู้ชายที่ชื่อ "กิจ หลีกภัย"
.......................................
(หมายเหตุ "กิจ หลีกภัย" กับภารกิจพัฒนาเมืองตรังเพื่อความน่าอยู่ : คอลัมน์ เปิดใจผู้นำท้องถิ่น)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ