
งานหัตถศิลป์จากต้น"กระจูด" สินค้าสร้างชื่อชาว"ทะเลน้อย"
คนยุคก่อนนำต้น "กระจูด" หรือต้นกก มาสานเป็นเพียงแค่เสื่อไว้ปูนอน หรือเป็นเชือกมัดสิ่งของเท่านั้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้ “กระจูด” ไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่เชือกมัดสิ่งของหรือเสื่อปูนอนอีกต่อไป เมื่อหลายฝ่ายต่างขานรับ รวมทั้ง กลุ่มสตรีสหกรณ์ หมู่ 3 บ้านทะเลน้อย โดยการนำของ ชุลี ศรีช่วย ที่รวมกลุ่มกันต่อยอด จนเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระจูดที่นอกจากสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดแล้ว ยังสร้างเงิน สร้างงานให้แก่ชุมชนด้วย
“เมื่อก่อนต้นกระจูดของบ้านทะเลน้อยมีมาก ด้วยพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีบริเวณน้ำขัง และเป็นดินโคลน ทำให้ต้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ปู่ ย่า ตา ยาย จึงนำมาสานเป็นเสื่อไว้ปูนอน จนเป็นที่มาของเสื่อกระจูดที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน หรือทำเชือกผูกมัดสิ่งของต่างๆ ด้วยความที่เหนียว ทนทาน สานครั้งหนึ่งจึงใช้ได้หลายปี” ชุลี ศรีช่วย ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ กล่าวถึงที่มาของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระจูด ซึ่งระยะเริ่มแรกมีสมาชิกเพียง 8 คน
นอกจากจะสานเสื่อจูดเป็นหลักแล้ว ชุลีบอกว่า กลุ่มยังพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ให้มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น รวมถึงลวดลายที่มีสีสันและทันสมัย ทั้งนี้ จากที่ในปี 2543 มีครูจากโครงการตามพระราชดำริฯ มาสอนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระจูด เธอจึงชักชวนเพื่อนกลุ่มสตรีอีก 2 คน ไปเรียนรู้วิชา จากนั้นนำความรู้มาสอนคนอื่นๆ ในกลุ่ม พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยในรูปทรง และสีสันมากยิ่งขึ้น
แม้จะมีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนในช่วงเริ่มต้น แต่ทางกลุ่มก็แก้ปัญหานี้ ด้วยการกู้เงินจากโครงการธนาคารประชาชน ของธนาคารออมสิน นำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน หลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ทางกลุ่มจึงกู้เงินจากโครงการเดิมอีกครั้ง และทางธนาคารยังช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารกลุ่มนี้ ด้วยการหาตลาดเพื่อวางจำหน่ายสินค้าภายใต้โครงการตลาดนัดสินค้าเพื่อประชาชน ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน
“เริ่มแรกเราส่งสินค้าให้แม่ค้าที่มีร้านขายของอยู่ที่หน้าอุทยานทะเลน้อย จากนั้นกลุ่มเริ่มออกนอกสถานที่ โดยจำหน่ายตามงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าต่างๆ เช่น มหกรรมสินค้าโอท็อป ที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้ามากขึ้น เพราะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ทำให้เรารับผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าด้วย”
ชุลีกล่าวถึงราคาผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ว่า ขึ้นอยู่กับขนาด และรูปแบบของสินค้า ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 20 บาท เช่น กระบุงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ไว้ใส่ของกระจุกกระจิก แต่ถ้าผลิตภัณฑ์มีขนาดใหญ่มากขึ้นราคาจะเพิ่มขึ้นไปจนถึง 400 บาท เช่น กล่องอเนกประสงค์ขนาด 50 เซนติเมตร ราคาจะไม่เกิน 350 บาท
“เราเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ ทำมานานเกือบ 10 ปี เราศึกษาและดูความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา ตลาดมีการแข่งขันเยอะ ทั้งที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช แต่ว่าจุดแข็งของเราอยู่ที่เส้นสานต้องละเอียดสวย มีรูปแบบ สีสัน ลวดลายให้เลือกมากมาย งานทุกชิ้นต้องผ่านการตรวจสอบก่อนวางจำหน่าย กระทั่งกลุ่มได้รับรางวัลชนะเลิศงานหัตถศิลป์ ถิ่นไทย เมื่อปี 2548 เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพ”
อย่างไรก็ตาม ชุลีฝากถึงผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากกระจูดว่า นอกจากจะเลือกซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายสินค้าหน้าอุทยานทะเลน้อย ตามงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าต่างๆ แล้ว ยังติดต่อกับเธอได้โดยตรง ที่โทร.08-3891-5060 หรือกลุ่มสตรีสหกรณ์ หมู่ 3 ทะเลน้อย ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง พร้อมบริการส่งทั่วประเทศ
"ธานี กุลแพทย์"