
ร.5พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย
ร.5 พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย
กว่าหนึ่งศตวรรษที่คนไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงปลดเปลื้องทาสให้พ้นไปจากประเทศไทย โดยมิให้มีการเสียเลือดเนื้อ ทำให้ประชาชนชาวไทยมีความเสมอภาคอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่อีกหนึ่งพระปรีชาสามารถและพระปรีชาญาณ นั่นคือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังต่อวิชาการถ่ายภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และได้รับพระราชสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย"
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย" ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17 ผ่านการเรียบเรียงโดย ศ.กิตติคุณ ศักดา ศิริพันธุ์ ผ่านแรงบันดาลใจเมื่อครั้งเรียบเรียงหนังสือเรื่อง "กษัตริย์กับกล้อง" และยังคงมีภาพถ่ายประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 อันทรงคุณค่าเหลืออีกจำนวนมาก
ศ.กิตติคุณ ศักดา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาในการค้นคว้านานถึง 30 ปี โดยเดินทางไปศึกษาค้นคว้าและดูงานจากทั่วโลก จนพบว่าการถ่ายภาพได้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าถ่ายภาพ ด้วยความเชื่อว่าจะบั่นทอนอายุให้สั้นลง กระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงสนพระราชหฤทัยด้านวิทยาศาสตร์ จึงไม่เชื่อในเรื่องดังกล่าว และโปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์เก็บไว้ จนมาถึงรัชกาลที่ 5 ทรงคุ้นเคยกับการฉายภาพตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ จึงทรงศึกษาเรื่องการถ่ายภาพทุกรูปแบบ ทั้งยังทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องการถ่ายรูปของไทยเอาไว้ด้วย ทั้งยังทรงสร้างสตูดิโอในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงเรียกว่า ห้องถ่ายภาพฟิล์มกระจก
"รัชกาลที่ 5 ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพ ทรงรู้เรื่องการอัดขยายภาพ การใช้ฟิลเตอร์โดยละเอียด โดยทรงการถ่ายภาพในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ รวมถึงใช้เพื่อบันทึกวิถีชีวิตของทุกคนในสมัยของพระองค์ โดยในหนังสือเล่มนี้มีทั้งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ และภาพถ่ายจากนักถ่ายภาพในพระราชสำนัก รวมทั้งหมด 634 ภาพ ซึ่งจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ที่เล่าเรื่องผ่านทางรูปภาพอย่างละเอียด หวังว่าคนไทยที่กำลังหลงผิด จะได้กลับมาศึกษาและเรียนรู้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ทรงวางรากฐานอะไรให้คนไทยไว้บ้าง จะได้เกิดความรักชาติ และภาคภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นชาติเดียวในเอเชียที่รักษาความเป็นเอกราชมาได้ ประวัติศาสตร์เป็นเหมือนกระจกสะท้อนอดีตว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แล้วคนจะได้ไม่หลงทางมากมายขนาดนี้ อีกทั้งหนังสือเล่มนี้จะเป็นแหล่งอ้างอิงความรู้แก่เยาวชน คนรุ่นใหม่ และเป็นมรดกทางวิชาการที่ควรมีเก็บเอาไว้ด้วย" ผู้เรียบเรียงหนังสือกล่าวด้วยความหวัง