ข่าว

จากตลาดน้ำอัมพวาถึง'ชูชัยบุรีฯ'

จากตลาดน้ำอัมพวาถึง'ชูชัยบุรีฯ'

27 ต.ค. 2555

จากตลาดน้ำอัมพวาถึง 'ชูชัยบุรีฯ' กรณีศึกษาการลงทุนในพื้นที่อนุรักษ์ : รายงานพิเศษ : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล

          การรื้อถอนเรือนแถวไม้จำนวน 12 ห้อง เพื่อก่อสร้างโรงแรมหรูระดับห้าดาว ในชื่อโครงการ "ชูชัยบุรีศรีอัมพวา" ที่ตลาดน้ำอัมพวา ริมคลองอัมพวา เขตเทศบาลตำบลอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมี "ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ" นักลงทุนจากกรุงเทพฯ เป็นเจ้าของโครงการ กระตุ้นให้ชื่อของ "อัมพวา" กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อโครงการลงทุนที่คาดว่าใช้เงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ในแง่ของการเป็นสิ่งปลูกสร้าง ที่สร้างความ "ต่าง" ให้เกิดขึ้นกับชุมชนดั้งเดิม ที่หล่อเลี้ยงตัวเองจากอนุรักษนิยม 

 

          "อัมพวา” เป็นชุมชนเล็ก ตั้งอยู่ริมน้ำคลองอัมพวา อดีตมีฐานะของการเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำที่คับคั่ง เชื่อมโยงกับเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพฯ ในปี 2510 เมื่อมีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางบก มีการตัดถนน จึงทำให้ความเป็นศูนย์กลางด้านการค้าของอัมพวาได้รับผลกระทบ ทำให้ชุมชนอัมพวาที่พึ่งพาการขนส่งทางน้ำอยู่ในฐานะเมืองร้าง ห้องแถวริมน้ำที่เคยคึกคักก็ซบเซา 

          ในปี 2545 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาศึกษาวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนอัมพวา และในปีเดียวกันนี้เองที่ชุมชนชาวคลองอัมพวาได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ต่อมารัฐบาลเดนมาร์กได้ให้งบประมาณสนับสนุนผ่านทางสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในโครงการ “อนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม” ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลือกพื้นที่อนุรักษ์ 3 ชุมชนทั่วประเทศเข้าโครงการคือ คลองอัมพวา, คลองอ้อมนนท์ และเกาะรัตนโกสินทร์บางส่วน เพื่อเป็นโครงการสาธิตให้เห็นถึงการรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม 

          ปี 2547 เทศบาลตำบลอัมพวา ได้ทำโครงการตลาดน้ำอัมพวา เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างงานสร้างเงินให้ท้องถิ่น เริ่มแรกเป็นตลาดเล็ก ผู้ค้าทางเรือมีอยู่เพียง 10 ลำ ส่วนผู้ค่าบนบกมี 40 ราย การเปิดตลาดน้ำอัมพวาในช่วงแรก ผู้ค้าเป็นประชาชนในอัมพวา ส่วนลูกค้าก็เป็นผู้ที่อยู่อาศัยในท้องถิ่น ต่อมาจึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ใน จ.สมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียง  

          ด้วยความที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เรียบง่าย และมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไว้อย่างเหนียวแน่น  อาหารที่มีรสชาติอร่อยและราคาไม่แพง ในยามค่ำคืนยังมีกิจกรรมล่องเรือดูหิ่งห้อย ซึ่งหาดูได้ยาก ทำให้ตลาดน้ำอัมพวาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ จนทำให้การเติบโตทางการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ที่สำคัญพฤติกรรมมาเที่ยวแบบเช้ามาเย็นกลับ เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นพักค้างคืน ส่งผลให้ธุรกิจรีสอร์ทขนาดเล็ก และโฮมสเตย์เข้ามามีบทบาท และนั่นคือตัวเร่งให้สมุทรสงครามมีโฮมสเตย์มากที่สุดในประเทศไทย 

          ที่น่าสนใจก็คือการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างถิ่น  และอาจกล่าวได้ว่ากลายเป็นประวัติศาสตร์ของการลงทุนก็คือ ในรายของ "ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ" ที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท ทำโครงการ "ชูชัยบุรีศรีอัมพวา" ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ก่อนที่จะลงมือก่อสร้างนั้น เจ้าของโครงการได้ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 2 ครั้ง เพื่อสอบถามความเห็น แน่นอนว่าเป็นไปด้วยดี กระทั่งเมื่อโครงการใกล้แล้วเสร็จ การออกมาคัดค้านจึงเกิดขึ้น โดยอ้างถึงความพยายามที่จะรื้อถอนห้องแถวไม้ 12 คูหา รูปแบบของการก่อสร้างที่เกิดความรู้สึกที่ขัดต่อความเป็นชุมชนดั้งเดิม

          บทสรุปของโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวาจบ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา เมื่อ รศ.ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ และ รศ.ดร.วรรณศิลป์ พีรพันธ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ริเริ่มฟื้นฟูและเสนอตลาดน้ำอัมพวาเข้าประกวดมรดกโลกทางวัฒนธรรม จนได้รับรางวัลชมเชยจากยูเนสโก  ในปี 2008 ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ห้องประชุมสาธารณสุขเทศบาลตำบลอัมพวา มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน  โดยไม่มีกลุ่มเอ็นจีโอ และกลุ่มอนุรักษ์ที่ออกมาคัดค้านโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา ก่อนหน้านี้ มาร่วมด้วย เสียงสนับสนุนที่ออกมาคือ 

          การคงไว้ซึ่งห้องแถวเรือนไม้ชายคลองอัมพวาทั้ง 12 ห้อง ส่วนรูปแบบของอาคารมีการเสนอด้วยกัน 6 แบบ มาจบลงในแบบที่ 5 ที่จะปรับแบบตัวอาคาร ทรงหลังคา และปรับสีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในชุมชน ลดรายละเอียดความเป็นยุโรปให้น้อยลง และเพิ่มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้า ในรายละเอียดของรูปแบบที่ 5  ประกอบด้วย การมีอาคารศูนย์หัตถศิลป์ผลิตภัณฑ์ชุมชนริมคลองอัมพวา ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้นริมคลองอัมพวา เพื่อให้ผู้ค้าในท้องถิ่นมีพื้นที่เพื่อทำการค้า มีการจัดทำศูนย์หัตถศิลป์ผลิตภัณฑ์ชุมชนอัมพวาแม่สมใจ เป็นร้านขายของฝาก ของที่ระลึก 

          จัดทำอาคารพรหมพิมาน เป็นอาคารที่เชื่อมต่อกับศูนย์หัตถศิลป์ผลิตภัณฑ์ชุมชนอัมพวาแม่สมใจ ชั้น 3  เป็นห้องสัมมนาอัมพวานิเทศก์ เป็นห้องสำหรับรองรับการสัมมนา ชั้น 4 ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ อัมพวาเทวาลัย ใช้จัดงานต่างๆ ได้ในระดับสากล เป็นต้น  ส่วนเรือนไม้ 100 ปี หรือห้องแถวริมคลอง จะบูรณะเป็นอาคารอัมพวานิทรรศน์ ใช้จัดกิจกรรมแบบอเนกประสงค์ 

          น่าสนใจว่า ถึงผลการจัดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 2 ตุลาคม จะจบลงที่การยอมรับในแบบที่ 5 ของผู้ลงทุน แต่ความเคลื่อนไหวที่กำลังก่อตัวขึ้นโดยมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คือการเสนอให้ผู้ลงทุนปรับแบบโดยใช้แบบที่ 6 ซึ่งต้องลดความสูงลง 1 ชั้น หรือเท่ากับว่าจะต้องทุบอาคารออกไป 1 ชั้น และนั่นจะมีผลให้โครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา ต้องเพิ่มวงเงินอีก 100  ล้านบาท สำหรับการทุบทิ้งและดัดแปลงการก่อสร้าง และเท่ากับว่าจะสูญเสียห้องแกรนด์บอลรูม และห้องจัดเลี้ยง เป็นโจทย์ที่ผู้ลงทุนต้องขบคิด ขณะที่ท่าทีของประชาชน ต้องการให้คงแบบอาคารที่มีความสูง 4 ชั้น เพราะหากลดชั้นลงมา นั่นก็คือการกระทบมาถึงพื้นที่ส่วนของศูนย์กลางร้านค้าชุมชน

 

          สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จึงน่าจะเป็นต้นแบบให้ผู้ที่จะลงทุนในรูปแบบเดียวกัน ต้องหันมาทบทวนในทุกๆ ด้าน ทั้งการออกแบบโครงการก่อสร้าง การทำความเข้าใจกับมวลชนในท้องถิ่นเพื่อลดเงื่อนไขที่จะต้องรัดกุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการรับมือกับแรงกดดันของฝ่ายการเมืองที่เข้ามาแทรกแซง เพื่อประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่ง

 

 

-------------------

(จากตลาดน้ำอัมพวาถึง 'ชูชัยบุรีฯ' กรณีศึกษาการลงทุนในพื้นที่อนุรักษ์ : รายงานพิเศษ : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล)