
'นักสืบ'ยุคไฮเทค..แชต'ไลน์'ไขคดี
'นักสืบ'ยุคไฮเทค..แชต'ไลน์'ไขคดี : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบก.สส.สตม. โดยทัศชยันต์ วาหะรักษ์
เมืองไทยในยุค 3จี "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการ "สีกากี" ตำรวจหลายนาย กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไฮเทค และมีการนำมาปรับใช้ในงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นมี พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบก.สส.สตม.) รวมอยู่ด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสืบสวนคดีแต่ละคดี มีความจำเป็นต้องใช้เครือข่าย 3จี ในการขับเคลื่อนติดตามคนร้าย อย่างคดีล่าสุด การจับกุมแก๊งโคลัมเบีย ที่ออกตระเวนลักทรัพย์ตามเคหสถานสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนไทยมาระยะเวลาหนึ่ง ต้องจนมุมถูกฝ่ายสืบสวนของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ทลายได้ยกแก๊งนั้น พล.ต.ต.รณศิลป์ ยอมรับว่า ได้นำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานของตำรวจชุดสืบสวนนั่นเอง
- เทคโนโลยีการสื่อสารที่นำมาใช้ในงานสืบสวนมีอะไรบ้าง
สมัยนี้ การสื่อสารโดยสื่อใหม่ ที่เรียกกันว่า "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ผมเองก็มีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยจะพยายามนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ชีวิต ผมเป็นตำรวจซึ่งรับผิดชอบงานด้านสืบสวนสอบสวน แน่นอนว่าในแต่ละวันชีวิตก็จะยุ่งเหยิงอยู่กับการติดตามจับกุมคนร้าย อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทีมงานผมก็จะพยายามนำมาใช้ให้มากที่สุด
อย่าง "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" ที่แพร่หลายอยู่ในเวลานี้ มันมีประโยชน์ในตัวของมันเองมาก อยู่ที่ว่าเราจะหยิบมันไปใช้อย่างไร อะไรที่มีช่องทางที่เป็นประโยชน์กับงานของผมก็จะนำมาใช้ทันที อย่างแอพพลิเคชั่น "ไลน์" ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์ที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นแอพพลิเคชั่นพื้นฐานที่ใครมีสมาร์ทโฟนก็สามารถเข้าไปใช้ได้โดยสะดวก ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผมก็นำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานของทีมนักสืบของผม
- ใช้ประโยชน์จาก "ไลน์" อย่างไร
ผมใช้ "ไลน์" มาตั้งแต่สมัยที่ยังทำหน้าที่ ผู้บังคับการศูนย์สืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทีมงานของผมจะใช้ "ไลน์" ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันทุกครั้งที่ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยจะมีการจัดห้องสนทนาไว้ตามหัวข้อเรื่องที่รับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น "ม็อบ" เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทุกคนจะถูกดึงมาเข้ากลุ่ม ไล่มาตั้งแต่ระดับ รองผบ.ตร. ไล่มา ผบช.น., รองผบช.น., ผบก., รองผบก., ผกก., รองผกก., สว. ไปจนถึงชั้นประทวน ทุกคนจะติดต่อสื่อสารกันผ่านไลน์ ใครเข้าประจำจุดไหน มีอะไรเกิดขึ้นก็จะแจ้งกันผ่านไลน์ ผู้บังคับบัญชาต้องการให้ปฏิบัติอย่างไร ก็จะสั่งผ่านไลน์ ทีมงานทุกคนจะรับรู้รับทราบพร้อมกันทั้งหมด
เช่นเดียวกับการคลี่คลายคดีอาชญากรรม ก็จะใช้ "ไลน์" นี่แหละในการสื่อสารระหว่างภายในชุดคลี่คลายคดี ในการลงพื้นที่ ผมจะสั่งทีมงานผ่านไลน์ ไปในครั้งเดียวทุกคนจะทราบพร้อมกันทั้งหมด ใครไปประจำที่จุดไหนเมื่อพบเบาะแสของคนร้ายก็จะรายงานเข้ามาผ่านไลน์ สามารถแจ้งพิกัดของคนร้ายให้ทีมงานทั้งชุดทราบโดยพร้อมเพรียงกัน ที่สำคัญคือผมสามารถติดตามการทำงานของทีมงานได้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหน
- "ไลน์" ถูกนำมาใช้เพื่อจับผิดลูกน้องด้วยหรือเปล่า
มันไม่ใช่การจับผิด แต่การทำงานสืบสวนคดีหนึ่งๆ เราต้องทุ่มเทกันมาก ยิ่งเวลาลงประจำจุดเฝ้าติดตามจับกุมคนร้ายแล้วจะพลาดไม่ได้ เพราะไม่ใช่เฉพาะการจับกุมคนร้ายไม่ได้เท่านั้น แต่ทุกครั้งมันคือความเป็นความตายของทีมงานเราด้วย เราจะเสี่ยงไม่ได้ ทุกครั้งที่ลงไปในพื้นที่เราจะใช้ "ไลน์" สื่อสารกันทั้งทีม ใครไปอยู่จุดไหนก็จะแจ้งพิกัดกันเมื่อพบเห็นเบาะแสของคนร้ายก็ให้ถ่ายภาพทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ สถานที่หรือพิกัดคนร้ายแล้วนำมาโพสต์ไว้ในไลน์ เมื่อทุกคนเห็นแล้วก็จะรับรู้รับทราบกันทั้งทีมจะได้ระมัดระวังตัว พร้อมที่จะเข้าชาร์จคนร้าย หรือพร้อมตอบโต้หากคนร้ายขัดขืน หรือไม่ก็อาจจะเข้าช่วยทีมงานได้ทันเวลาหากเกิดเพลี่ยงพล้ำ
การสื่อสารกันผ่าน "ไลน์" หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่น เรายังสามารถดึงข้อมูลจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่น คนร้ายอยู่จุดใดเมื่อเราทราบพิกัดแน่ชัดแล้ว ก็สามารถเข้าไปจับพิกัดคนร้ายได้ด้วย "จีพีเอส" ซึ่งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถดูภาพถ่ายทางอากาศได้เลยว่าสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเป็นอย่างไร มีทางเข้าออกอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปิดล้อมไม่ให้หลบหนี แถมยังสามารถตรวจสอบภาพถ่ายขณะเกิดเหตุได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ทุกคนในทีมรับทราบสถานการณ์โดยพร้อมเพรียงกัน
- อยากให้เปรียบเทียบการสั่งการด้วยการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกับการใช้โทรศัพท์แตกต่างกันอย่างไร
ชั่วโมงนี้ ถ้าให้ผมเปรียบเทียบกัน ผมคงให้น้ำหนักไปทางการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนะ เพราะผมสามารถมอนิเตอร์การทำงานของลูกทีมผมได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ได้เสียค่าใช้เพิ่มเติม ผมสามารถสั่งการทีมงานได้พร้อมกันทั้งทีม สามารถไปอยู่ตรงจุดไหนกับทีมงานชุดไหนก็ได้ แต่ยังสามารถรับรู้สถานการณ์ได้หมด ไม่ต้องนั่งอยู่เฉพาะวอร์รูมสั่งการเหมือนในอดีต ทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติงาน ขณะที่การใช้โทรศัพท์ก็จะรับรู้รับทราบกันเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น ไม่ได้รู้กันทั้งทีม ซึ่งการปฏิบัติงานของชุดสืบสวนนั้นเราทำงานกันเป็นทีม ทุกคนต้องพูดคุยกันตลอดเวลาเพื่อให้รับรู้สถานการณ์งานจะได้ไม่ผิดพลาด
ขณะนี้ การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมาช่วยอำนวยความสะดวกขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นที่แพร่หลายของบรรดานักสืบทุกหน่วยงานนะ ผมมาอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็นำมาใช้ต่อ ที่กองปราบปรามก็มีนักสืบหลายคนเขาเอาไปใช้งานกัน ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการทำงานเป็นอย่างดี จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว
- คุยกับ ผบก.สส.สตม.ทั้งที ไม่ถามถึงแก๊งอาชญากรข้ามชาติคงเป็นเรื่องแปลก ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร
แก๊งอาชญากรข้ามชาติที่เข้ามาอาละวาดอยู่ในบ้านเราเวลานี้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แก๊งลูกหมู แก๊งลูกแพะ ยังพอมีอยู่บ้าง ขณะที่แก๊งยาเสพติด แก๊งเงินดำ มักจะเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน และที่ค่อนข้างมาก คือแก๊งโจรกรรมทรัพย์สินตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจากประเทศโคลัมเบียและละแวกใกล้เคียงจะมีเข้ามาเป็นระยะ รวมกันเป็นกลุ่มแต่ไม่ใหญ่มาก กลุ่มก๊วนละไม่เกิน 40 คน ทำงานเชื่อมโยงกัน ขณะที่แก๊งกรีดกระเป๋าก็ยังมีมากเป็นชาวเวียดนาม การค้าประเวณีแก๊งค้ามนุษย์ก็เข้ามา ส่วนใหญ่เป็นประเทศในละแวกเพื่อนบ้าน เรื่องนี้ พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผบช.สตม. ได้กำชับเป็นนโยบายอยู่แล้วให้เรากวาดล้างปราบปรามอย่างเข้มงวด
พร้อมกันนี้ ทุกหน่วยใน สตม. ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับการเปิดตัวของประชาคมอาเซียน ฝ่ายสืบสวนเองก็ต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศอื่น ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าต่อไปเมื่อประชาคมอาเซียนเปิด โจรผู้ร้ายอาจจะเดินทางไปไหนต่อไหนในภูมิภาคได้อย่างสะดวกมากขึ้น หากไม่มีการประสานงานกับหน่วยงานในต่างประเทศก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะจับกุมคนร้าย รวมถึงการป้องกันอาชญากรรมต่างๆ ก็จะทำได้ยาก ขณะนี้เราพยายามเตรียมตัวให้พร้อมมากที่สุด ทั้งการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน
แต่คดีที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด คือคดีที่เกิดจากคนร้ายหลอกเหยื่อจากต่างประเทศแล้วมาฆ่าในบ้านเรา หลังก่อเหตุแล้วหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งในอนาคตอาจจับคนร้ายได้ยากขึ้น เพราะการเข้ามาในประเทศของเราจะสะดวกขึ้นไม่ผ่านขั้นตอนอะไรมาก จึงเป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมการรับมือไว้แต่เนิ่นๆ
“ปกติไม่ยึดติดวัตถุ แต่กับหลวงพ่อทวดยอมรับว่าเป็นอะไรที่แปลกมาก ทำให้หมอต้องศึกษาจริงจัง และหลายครั้งที่ระลึกถึงคุณงามความดีท่านมักจะเกิดเรื่องดีๆ ในชีวิตหมอตลอดมา โดยเฉพาะการทำงานจะผ่านพ้นอุปสรรคได้ด้วยดี ซึ่งอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ได้ยาก แต่หมอขอเรียกว่า ธรรมะจัดสรรค์”
..............
(หมายเหตุ : 'นักสืบ'ยุคไฮเทค..แชต'ไลน์'ขคดี : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ โดยทัศชยันต์ วาหะรักษ์ ผบก.สส.สตม.)