
รบ.ชง'นาซ่า'ขอใช้อู่ตะเภาเข้าสภา
รัฐบาล ชง นาซ่า ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเข้าสภา 2 ก.ย. สุกำพล เผยอยากให้ รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ถกข้อดี-ข้อเสีย ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร กห.พร้อมยอมรับ ปชป.งงจับตาผลประโยชน์โยงเครือข่าย"ทักษิณ"
1ต.ค.2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้นำมอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ นำวาระจรเรื่ององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา กรณีเพื่อตรวจสภาพอากาศ ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมได้มีการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงในที่ประชุมสภา โดย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปชี้แจงรายละเอียดด้วยตัวเองในฐานะเป็นผู้ดูแลควบคุมสนามบินอู่ตระเภา ขณะที่กระทรวงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อศึกษาชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นเรื่องเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในวันที่ 2 ต.ค. จะมีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ แต่อยากให้รัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้มีการพูดกันเต็มที่ทุกแง่ทุกมุม รวมถึงข้อดีข้อเสียรายละเอียด เมื่อที่ประชุมสภาออกมาอย่างไรเราก็พร้อมทำตามนั้น ถ้าจะให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาเราก็พร้อม แต่ตนเห็นว่าเมืองไทยจะทำอะไรมันไม่ได้ง่าย ๆ มักจะมีอุปสรรค ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องมีประโยชน์กับประเทศชาติ และส่วนรวม
“มันเป็นวาระพิจารณาของสภาธรรมดา จะให้ทางสหรัฐอเมริกาเข้ามาในพื้นที่ก็จำเป็นจะต้องมีการพิจารณาในที่ประชุมสภาเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เมื่อต้องการให้มีการพิจารณาในสภาก็เข้าไปพิจารณาในสภาไม่เห็นมีอะไร เรื่องนี้มันก็น่าจะจบ ทั้งนี้ผมก็คงจะต้องเข้าไปร่วมชี้แจงในรายละเอียด ที่ผ่านมาทุกเรื่องเมื่อเข้าสู่การประชุมพิจารณาใครเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ก็จะต้องเข้าร่วมการพิจารณาชี้แจง หากไม่ถามก็ไม่ต้องชี้แจง ทั้งนี้รัฐบาลคงจะชัดคนเข้าไปร่วมชี้แจงเอง ไมได้มีอะไรการประชุมในสภาก็เหมือนกับมีการพิจารณาเป็นหมื่น ๆ เรื่องมาแล้ว ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้ยก็ว่ากันไปก็เท่านั้น ทั้งนี้ทางทหารก็ไม่ได้มีการติดขัดอะไร เพราะเมื่อเข้าสู่สภาแล้วทุกฝ่ายเห็นด้วยเพื่อเข้าร่วมกันพิจารณา” พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า
วิปรัฐบาลสั่งเตรียมข้อมูลตอบโต้ฝ่ายค้าน
ที่พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) แถลงว่า วิปรัฐบาลมีมติให้ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลเข้าประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 2 ต.ค.โดยพร้อมเพรียงและได้กำชับให้ส.ส.ร่วมกันอภิปรายและเตรียมข้อมูลตอบโต้ฝ่ายค้านในมาตรา 179 กรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ของสหรัฐอเมริกา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาด้วย
ปชป.งงจับตาผลประโยชน์โยงเครือข่าย"ทักษิณ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์วันที่ 1ต.ค. ได้หารือถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีดังกล่าวแต่รัฐบาลต้องยกเลิกออกไปในที่สุด ทั้งนี้ที่ประชุมได้แสดงความเห็นว่า หลังการยกเลิกโครงการ โฆษกและส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างออกมาวิจารณ์และเบี่ยงประเด็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ปิดกั้นโอกาสของประเทศ เพราะนาซ่าระบุว่าจะสำรวจได้เฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงมรสุมและจะไม่เข้ามาใช้พื้นที่ประเทศไทยอีก แต่การขอเปิดอภิปรายร่วมสองสภาครั้งนี้มีเรื่องนี้อยู่ด้วยดังนั้นจึงเชื่อว่าจะต้องมีความพยายามที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ในไทยอีก
ทั้งนี้ต้องจับตามองเป็นพิเศษว่าจะเชื่อมโยงถึงธุรกิจพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่คนใกล้ชิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อีกทั้งความมั่นคงของชาติที่อาจถูกจารกรรมข้อมูลจากเครื่องบินของสหรัฐฯที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานสำรวจ
ปชป.ไม่ค้านหาก"รบ."แจงเหตุผลได้
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ( วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ไม่ต้องกังวลหรือคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องค้านทุกเรื่อง เราฟังเหตุผลก่อนหากรัฐบาลชี้แจงได้ชัดเจน ว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการให้องค์กรนาซ่าเข้ามาสำรวจชั้นบรรยากาศ เราไม่ถึงกับค้านถ้าเป็นงานวิจัยปกติ มีโปรเจคชัดเจนก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าอะไรหมกเม็ด เช่น ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เราก็ต้องซักถามให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลก็ควรที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเองด้วยเช่นกัน
นักวิจัยหวังฝ่ายการเมืองจะเห็นชอบ
ดร.นริศรา ทองบุญชู อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศว กรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยไทย ที่จะร่วมทำวิจัยกับนาซ่า ให้สัมภาษณ์กับเดอะเนชั่นว่า ทีมนักวิจัยไทยยังหวังจะให้รัฐสภาอนุมัติให้นาซ่าเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อดำเนินโครงการ SEAC4RS (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study) เพื่อดำเนินการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบของอากาศและเมฆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผลต่อภูมิอากาศ