
จเรตำรวจแห่งชาติเทียบเท่า'อธิบดี'หรือไม่
จเรตำรวจแห่งชาติเทียบเท่า'อธิบดี'หรือไม่ : เลียบค่าย โดยคมพิทักษ์ราษฎร์
ช่วงนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดสรร และกระบวนการได้มาของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ที่ว่างอยู่หนึ่งตำแหน่ง
ผู้ที่สมัครเข้ารับการคัดสรร คุณสมบัติหนึ่งที่ปรากฏชัดเจน คือ หากมาจากส่วนราชการ จะต้องเคยเป็นอธิบดี หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่มีอำนาจบริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐนั้น
มีข้าราชการตำรวจท่านหนึ่ง คือ จเรตำรวจแห่งชาติ คนปัจจุบันมาสมัครเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และได้ผ่านการคัดสรรจากกรรมการแล้ว
อยู่ระหว่างกระบวนการให้เห็นชอบโดยวุฒิสภา?!!
นักกฎหมายหลายสำนักก็งงๆ อยู่เหมือนกัน
แล้วตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีที่มีอำนาจบริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐ หรือส่วนราชการหรือไม่?
(1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ 7 ประการ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
(3) มีจเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจแห่งชาติ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ รองจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด หรือมอบหมาย (มาตรา 12 ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547)
(4) มีการมอบหมายอำนาจของอธิบดี หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการของกองบัญชาการในการปฏิบัติราชการ ตามที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กำหนดกฎเกณฑ์ (มาตรา 12)
(5) มาตรา 44 ตำแหน่งข้าราชการตำรวจ มีดังต่อไปนี้
1.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2.จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2.ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ
นอกจาก ข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว ..แม้ว่า "จเรตำรวจ" จะมีสิทธิประโยชน์เทียบเท่า "อธิบดี" แต่ต้องยอมรับว่า อำนาจบริหารของจเรตำรวจนั้น ยังคงไม่เทียบเท่าอธิบดี
คงพอตอบคำถามได้แล้วกระมังว่า จเรตำรวจแห่งชาติ เทียบเท่าอธิบดีหรือไม่?