
โลกจับตา'ไทยค้าทาส'เร่งแก้ก่อนจะสาย
เอกอัครราชทูตไทยเผย เวทีโลกจับตามองไทยจะกลายเป็นประเทศค้าทาส ควรเร่งร่วมมือแก้ปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
นายพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธ์รัฐสวิส เปิดเผยกับ "ทีมงานคุณภาพชีวิต" ว่าตลอดระยะเวลาของการรับราชการ 1 ปี ในฐานะเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธ์รัฐสวิส สิ่งที่รู้สึกว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้ก็เป็นเรื่อง "แรงงานของประเทศไทย" ทั้งที่เป็นแรงงานในประเทศไทยเอง และแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองจากเวทีโลก หรือจากประเทศอื่นๆ ว่ากำลังจะค้าทาส
ในที่นี้รวมถึงการรกดขี่แรงงานต่างชาติที่มาทำงานในไทย และประเด็นความขัดแย้งภายใน สิ่งเหล่านี้ส่งผลเสีย กลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์ประเทศต่อสายตาชาวโลก
ภารกิจของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ มี 2 หน้าที่หลัก คือ หนึ่ง ประสานงานเข้าประชุมต่างๆ ที่แต่ละปีเกิดขึ้นกว่า 300-400 การประชุม ปัจจุบันมีข้า ราชการประจำที่มีอยู่นั้นมีทั้งหมด 11 คน โดย 2 คนจะทำหน้าที่เรื่องการบริหารจัดการ ส่วนอีก 9 คนรวมถึงตัวเอกอัคราชทูตจะดูแลองค์กรต่างๆ
ทุกครั้งที่มีการประชุม เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ที่มี 190 ประเทศ เป็นสมาชิก จะเลือกประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกวาระละ 3 ปี แต่ละวาระมี 47 ประเทศเท่านั้น โดยจัดสรรโควตาตามภูมิภาคของโลก หลังจากนั้นจะเลือกกันว่าประเทศใดจะได้เป็นประธาน ซึ่งไทยเองก็เคยเป็นสมาชิกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นการเป็นประธานแสดงให้เห็นว่าต่างประเทศยอมรับบทบาทของประเทศ ทั้งนี้การตัดสินใจเลือกประเทศใดให้เป็นเจ้าภาพ ก็ยังมีกลุ่มมีพรรคพวกกันอยู่ เช่น กลุ่มโซเวียต กลุ่มอเมริกา กลุ่มอาเซียน ฯลฯ แต่ไทยถือว่าเป็นประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งกับใคร ไม่มีอะไรที่รับไม่ได้ ดังนั้นจึงสามารถเข้าร่วมได้กับทุกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย
ส่วนหน้าที่ที่สองคือ การวางกฎเกณฑ์ระเบียบ บรรทัดฐาน ถ้าไม่เข้าไปทำจะส่งผลกลับมาบีบบังคับให้ไทยต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นจำเป็นต้องเข้าร่วมและแสดงจุดยืน เช่น การประชุมขององค์การอนามัยโลก จะมีการออกข้อมติ ดังนั้นไทยก็ต้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบและแสดงจุดยืน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้สูญเสียผลประโยชน์ได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องประเด็นภาพลักษณ์ของประเทศต่อโลก ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เห็นผลได้อย่างจัดเจน เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ที่ผ่านมาประเทศไทยเจอปัญหาเรื่องแรงงาน โดยปกติแล้วจะมี 9 อนุสัญญา เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ผู้พิการ สิทธิการปกป้องสูญหาย การต่อต้านการทรมาน สิทธิพลเมืองและการเมือง สิทธิ สังคมและวัฒนธรรม และสิทธิสตรี ประเทศไทยเป็นภาคีได้ลงนามแล้ว 7 อนุสัญญา และกำลังเป็นภาคีอีก 1 อนุสัญญาเร็วๆ นี้
ส่วนอนุสัญญาเรื่องการถูกอุ้ม อีกหนึ่งอนุสัญญาที่ไม่ได้ลงนามเป็นภาคี เพราะเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งกรมแรงงานกลัวมาก แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่ากังวล เพราะไทยให้สิทธิค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สิทธิค่อนข้างมาก เช่น การเรียนหนังสือ ฯลฯ
"เดือนที่แล้วสำนักข่าวอัลจาซีรา ลงข่าวสกู๊ปใหญ่ว่าโรงงานผลไม้กระป๋องที่สงขลาใช้แรงงานเถื่อนพม่า ปฏิบัติต่อแรงงานไม่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของสากลโลก เช่น อาหารไม่พอ ทำงานเกินเวลา ค่าแรงวันละ 200 บาท ซึ่งไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำ ห้องพักคับแคบ ฯลฯ ระเบียบปฏิบัตินี้จะมีผลต่อประเทศไทย หากไม่ทำตามอาจก่อให้เกิดการต่อต้านสินค้าไทยเป็นข้ออ้าง เพราะตอนนี้โลก การค้าเสรี การกีดกันภาษีเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว แต่ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของอนามัย ใช้เรื่องโลกร้อน การใช้แหอวน มาใช้ ฯลฯ หากคนไทยไม่รู้เรื่อง" เอกอัครราชทูตพิษณุ กล่าว
นอกจากจะทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรต่างๆ แล้ว ยังต้องประสานงานและทำงานกับภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ ในหลากหลายเรื่อง เช่น การลดอาวุธ เรื่องสตรี โดยเอ็นจีโอที่มีสำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา สมาพันธ์รัฐสวิส มีกว่า 250 แห่ง ต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยในบางองค์กร ถ้าไม่ติดต่อก็จะไม่มีข้อมูล การสร้างกระแสของเอ็นจีโอถือว่ามีอิทธิพลและมีบทบาทต่อโลกค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องรู้จักกับองค์กรเหล่านี้พอสมควร
ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกันบ้างก็จะมีทั้งฮิวแมน ไรท์ วอทช์, ฟอรั่ม เอเชีย, เซาท์ เซ็นเตอร์ ฯลฯ พวกนี้มีประโยชน์กับไทย และสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญกับความเห็นของบรรดาเอ็นจีโอ ยิ่งไปกว่านั้นเอ็นจีโอเองเหล่านี้ก็ลิงก์กับสื่อทำให้แพร่หลายไปทั่วโลก
"ประเด็นที่น่ากังวลใจและต้องเฝ้าระวังมาก คือ เรื่องแรงงาน ทั้งแรงงานไทยไปต่างประเทศและแรงงานต่างชาติในไทย โดยแรงงานไทยไปต่างชาติเราไม่เคยตระหนก ตกใจเลยว่าเก็บค่าส่งไปทำงานเท่ากับราคาค่าแรงในการทำงานเป็นระยะเวลากว่า 3-4 ปี นี่คือการค้าทาส ซึ่งไทยกำลังงโดนทั่วโลกประณาม แต่ก็ยังปล่อยให้เกิดขึ้น ซึ่งพวกเราเองก็พยายามแก้ไข เช่น ที่อิสราเอล กระทรวงต่างประเทศก็ไปเจรจา คาดว่าเดือนพฤศจิกายนนี้จะสามารถส่งแรงงานลอตแรกจากราคาเดิม 3.5 แสนบาท เหลือเพียง 6.5 หมื่นบาทได้" เอกอัครราชทูตพิษณุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีการร้องเรียนมาว่ายังไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ เป็นเพียงภาพลวง ใครจ่าย 6.5 หมื่นบาท ก็รอไปไม่มีกำหนด
กระบวนการนี้คือการคดโกง แต่ก็จะเดินหน้าทำต่อไปโดยหลังจากนี้จะดำเนินการต่อที่ประเทศอินเดีย โดยยึดตามแบบอิสราเอล ส่วนแรงงานต่างชาติในไทยนั้น ภายหลังจากที่มีการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติก็มีเรื่องร้องเรียนมากมาย ทั้งการร้องเรียนผ่านองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงเอ็นจีโอว่าทางไทยมีการเรียกเก็บเงินมากมาย ปฏิบัติไม่ดี ซึ่งก็ต้องปรับปรุง นอกจากนี้ยังมีการกดขี่แรงงานในกลุ่มเรือประมง ต้องระวังอย่างมาก เพราะกว่า 80% ของแรงงานในกลุ่มดังกล่าวเป็นแรงงานต่างชาติ
ส่วนเรื่องความขัดแย้งในประเทศไทยที่ลากเข้าสู่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 ควรจะพูดกันให้ตกผลึกก่อนในประเทศไม่ใช่มายื่นให้ยูเอ็นจัดการ รวมถึงเรื่องอากง มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มีทนายก็ฟ้องร้องกันไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ มายื่น หรือ 91 ศพในประเทศไทย ทุกวันนี้ไม่รู้เลยว่าทหารที่ตายใครฆ่า ชุดดำมีจริงหรือไม่ อยู่ดีๆ ก็มายื่นกับยูเอ็นให้เข้าไปสอบสวน ไม่ใช่ทั้งหมดเป็นการทำลายภาพของไทย ขอให้นึกถึงว่าไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ทุกอย่างคุยกันในประเทศให้จบ ไม่ใช่ทะเลาะกันแล้วก็ไปยื่นยูเอ็น
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องเตรียมพร้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะโลกปัจจุบันเป็นโลกของข่าวสาร สำนักข่าวต่างประเทศที่ประจำอยู่นครเจนีวามีไม่ต่ำกว่า 500 สำนักข่าว ไม่นับเวลามีการประชุมระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ดังนั้นความลับไม่มีในโลก ช่องทางไม่ได้มีเฉพาะผ่านกระบวนปกติ แต่มีภาคประชาสังคม สิ่งที่จะต่อสู้กับพวกนี้ได้มีอย่างเดียว คือ ข้อเท็จจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่เรื่องการล็อบบี้