
อย่าเยอะ !
อย่าเยอะ ! : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]
เพื่อนสาวคนหนึ่งเคยวีนและเหวี่ยงใส่พนักงานขายประกันชีวิตทางโทรศัพท์ ไม่ใช่เพราะพนักงานโทรมาขายของแบบไม่รู้เวล่ำเวลา แต่เป็นเพราะคุณเพื่อนถามหาเอกสาร หลังจากคุณน้องพนักงานขายสาธยายจนเสร็จสรรพ แล้วคุณพี่เริ่มสนใจ แต่พอคุณน้องบอกว่า “ไม่มีค่ะ” เพราะเป็นการขายทางโทรศัพท์ ประมาณว่า พี่ต้องตอบตกลงทำประกันกับหนูก่อน แล้วจะจัดส่งเอกสารให้ เท่านั้นแหละคุณเพื่อนก็จัดเต็มว่า ทำประกันมันไม่ใช่เรื่องมาพูดกันทางโทรศัพท์ แต่มันหมายถึงการดูแลกันไปหลายปี ทั้งยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออาจจะหนักหนาสาหัสถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย แต่แค่เอกสารยังไม่มีให้ แล้วใครจะไปทำประกันชีวิตกับหล่อน
แต่ก็น่าแปลกที่ช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่า ยอดขายประกันชีวิตส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาก มาจากการขายผ่านทางโทรศัพท์มากกว่าการขายผ่านตัวแทน ซึ่งแสดงว่ามีคนจำนวนไม่น้อย หรือจะบอกว่า “มาก” ก็ไม่ผิด ที่ตกลงซื้อประกันชีวิตจากการแนะนำของพนักงานขายทางโทรศัพท์ โดยไม่ได้สนใจที่จะอ่านเอกสารอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ข้อมูลจากพนักงานขายนั้นชัดเจนจนไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติม
หรือบางทีเป็นเพราะปัจจัยในการตัดสินใจทำประกันชีวิตไม่ได้อยู่แค่ใครขาย และขายผ่านช่องทางไหน
ลองนั่งอ่านการเลือกซื้อและเลือกทำประกันชีวิตที่เขียนไว้เป็น “เทคนิค” ในเว็บไซต์ของสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) แล้วก็น่าสนใจดีอยู่เหมือนกัน เพราะในแวดวงคนรู้จัก ปรากฏว่า นอกจากจะมีเพื่อนสาวที่ไม่ยอมซื้อประกันทางโทรศัพท์แล้ว ยังมีเพื่อนชายที่ตัดสินใจซื้อประกันทางโทรศัพท์มากเกินจำเป็น จนตัวเองก็จำไม่ได้เหมือนกันว่า ซื้อไปกี่กรมธรรม์แล้ว คนหนึ่งซื้อยากเพราะรัดกุม ส่วนอีกคนก็ซื้อง่ายเกินไป
ลองตั้งสติไตร่ตรองก่อนซื้อประกัน ตามคำแนะนำที่ TSI รวบรวมมาให้ก็น่าจะช่วยให้เรื่องมากไปหรือน้อยไปคลายลงได้บ้าง
เริ่มต้นเลย เขาบอกให้คิดว่า ก่อนทำประกันอันดับแรกต้องดูว่า เรามีภาระอะไรบ้าง ทั้งภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน เช่น ต้องสะสมเงินเป็นค่าเล่าเรียนของลูก ต้องออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ ถ้ามีมากขนาดนี้ ก็ควรทำประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงและภาระทางการเงินทั้งหมด พร้อมสำรวจสวัสดิการที่มีอยู่ควบคู่ไปด้วย ว่ามีสวัสดิการที่ดีจากที่ทำงานหรือไม่ หรือมีประกันสังคมคุ้มครองในบางส่วนอยู่แล้ว จากนั้นก็ใช้วิธี “ซื้อเพิ่ม” ในส่วนที่ขาดและต้องการ จะได้ไม่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันเกินความจำเป็น
ส่วนวิธีทำประกันแบบไม่ให้รู้สึกว่าเป็น “ภาระติดตัว” ก็คือ ให้ทำแบบพอดีๆ มีกำลังส่งไปตลอดรอดฝั่ง เพราะการทำประกัน อาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร ดังนั้น ถ้าคิดว่า เป็นภาระที่ต้องจ่ายในระยะยาว ก็ลองคำนวณรายรับรายจ่ายของตัวเองดูว่า ในแต่ละเดือนหรือปีนั้น เรามีกำลังส่งค่าเบี้ยประกันได้เท่าไหร่ ที่จะไม่ “เกินตัว” หรือวิธีง่ายๆ ก็คือ อย่างน้อยๆ ลองเจียดเงินสัก 10% ของรายได้มาทำประกัน อันนี้ก็ถือว่าไม่มากเกินไป เมื่อมีรายได้มากขึ้นค่อยทยอยซื้อประกันเพิ่มขึ้นในภายหลัง
นอกจากปัญหาจ่ายค่าประกันเกินกำลังแล้ว อีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งพบอยู่เป็นประจำ คือ ซื้อประกันไม่ตรงกับความต้องการ และวัตถุประสงค์ของตนเอง ยิ่งทุกวันนี้มีประกันมากมายหลายชนิด ที่มีอะไรต่อมิอะไรพ่วงท้ายมายาวเหยียด ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่า ประกันแบบไหนที่เหมาะกับเราที่สุด นอกจากตัวเราเอง เพราะบางคนไม่เน้นเรื่องผลตอบแทนที่ได้รับคืน แต่เน้นตอนเจ็บไข้ได้ป่วยว่า ต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ส่วนบางคนอาจจะเน้นผลตอบแทน แต่ไม่เน้นรายละเอียดคุ้มครอง ในขณะที่อีกหลายๆ คน ก็นึกถึงความมั่นคงของคนที่อยู่ข้างหลังว่า จะได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน คำตอบทั้งหมดนี้ต้องค้นให้พบด้วยตัวเองเท่านั้น
แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะเลือกกรมธรรม์แบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องศึกษากรมธรรม์อย่างรอบคอบ จะได้รู้ว่าเงื่อนไขของประกันที่เลือกว่า ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง และเราได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
ส่วนคำถามว่า แล้วจะ “เลือกบริษัทประกัน” แบบไหนหรือต้องดูจากอะไรบ้าง ในเว็บไซต์ TSI บอกว่า หลักสำคัญในการเลือกบริษัทประกัน ก็คือ พิจารณาจาก “ความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกัน” เป็นประการแรก เพื่อที่จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงในยามที่ต้องประสบความสูญเสีย ผู้รับประกันภัยที่ดีต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการ และสร้างผลตอบแทนที่ดีได้จากเบี้ยประกันที่เก็บรวบรวมไว้ รวมทั้งต้องจัดสรรเงินชดใช้เพื่อการบรรเทาความสูญเสียได้ตามสัญญาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
โดยข้อมูลสำคัญที่จะต้องเปรียบเทียบบริษัทประกัน ประกอบด้วย ข้อมูลทางการเงิน ชื่อเสียงของบริษัท ประวัติการดำเนินงาน รูปแบบของกรมธรรม์ การให้บริการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของกรมการประกันภัย
มาถึงเรื่องสุดท้ายที่หลายคนอาจจะเคยเจอกับปัญหานี้มาก่อน นั่นคือ “เงินช็อต” มีเหตุให้ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันได้ จะหยุดกลางคันก็เท่ากับว่า เงินที่จ่ายมาตลอด ต้องกลายเป็น “ศูนย์” ทั้งเสียใจทั้งเสียดาย มีคำแนะนำว่า ถ้าเข้าตาจนแบบนี้ ก็ไม่ต้องคิดมาก ให้เดินเข้าไปหาตัวแทนประกัน แล้วให้ตัวแทนจัดการ “กู้เงิน” จากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์มาจ่ายค่าเบี้ย ซึ่งมูลค่าเงินสด จะเกิดขึ้นเมื่อเราส่งเบี้ย 2 ปีขึ้นไป ยิ่งส่งเบี้ยมาแล้วหลายปีจะมีมูลค่าเงินมากขึ้น อาจจะพอให้กู้จ่ายค่าเบี้ยเอาตัวรอดไปได้สักปี หรืออาจจะมีแค่ส่วนต่างเล็กน้อยที่ต้องโปะเพิ่มบางส่วน หลังจากนั้นเมื่อมีรายได้เข้ามา ก็ค่อยไปจ่ายเงินกู้ค่าเบี้ยพร้อมดอกเบี้ยอีกประมาณ 8% เท่านี้กรมธรรม์ก็ไม่ขาดอายุ และสิทธิประโยชน์ทุกอย่างก็ยังอยู่อย่างครบถ้วน
ประเด็นหลักจริงๆ ของการเลือกประกันก็คือ ประกันชีวิตเป็นเรื่องยืดยาว ต้องจ่ายเบี้ยประกันยาวนานหลายปีและมีภาระผูกพัน ต้องคิดและพิจารณาว่า เรามีกำลังจ่ายค่าเบี้ยได้ครบถ้วนตลอดอายุกรมธรรม์หรือไม่
เคยมีน้องที่ขายประกันชีวิตนำมาเสนอกรมธรรม์ ด้วยทุนประกันสูงลิบลิ่ว ซึ่งแน่นอนว่า เบี้ยประกันก็ย่อมสูงตามไปด้วย คนขายมีเหตุผลว่า เบี้ยประกันเยอะ ก็หักภาษีได้เยอะ ส่วนคนซื้อมีเหตุผลดีกว่าว่า เบี้ยประกันเยอะวันนี้ ถ้าวันหน้าไม่มีเงินจ่าย ก็เท่ากับเสียหายอยู่เยอะ
ดังนั้น หาจุดที่ ‘อย่าเยอะ’ เกินไปกับทั้งสองฝ่ายน่าจะลงตัวที่สุด
............................................
(อย่าเยอะ ! : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected])