
'หญ้าถอดปล้อง'เป็นยาหลายอย่าง
'หญ้าถอดปล้อง' เป็นยาหลายอย่าง : คอลัมน์ ไม้ดีมีประโยชน์ : โดย ... นายสวีสอง
..........
ที่สถานีวิจัยบางเบิด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพืชชั้นต่ำหายากที่น่าสนใจหลายชนิด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ "หญ้าถอดปล้อง" ทางภาคเหนือเรียกว่า หญ้าเงือก หรือหญ้าหูหนวก มีสรรพคุณทางยาในทุกส่วนไม่ว่าต้น กล่าวคือลำต้นใช้ต้มดื่มกิน ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว บำรุงไต ขับระดูขาว ตำพอก รักษาบาดแผล แก้ปวดตามข้อ และแก้ปวดกระดูกหักหรือเดาะ หญ้าชนิดนี้ชอบขึ้นตามริมลำธารในป่าดงดิบเขาชื้นทางภาคเหนือ
เป็นพืชดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง ลำต้นสูง 30-100 ซม. ลำต้นกลมเป็นปล้อง ปล้องด้านในกลวง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-5 มม. ภายในมีท่อลำเรียงน้ำเป็นข้อๆ มองเห็นชัดเจน ตามผิวลำต้นมีขน เป็นร่องรอบลำต้น 8-25 ร่อง
ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปทรงกระบอกยาว 4-12 มม. โคนใบหุ้มต้นบริเวณข้อ ขอบใบแยกเป็นแฉกสีขาวหรือสีน้ำตาล ตามข้อมีแตกกิ่งข้อละ 1-4 กิ่ง ที่ปลายยอดมีอับสปอร์เป็นทรงกระบอกสีเหลือง ตามใบมีเยื่อบางๆ ขนาดเล็ก เรียงอยู่รอบข้อ
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกยาวที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กรอบแกน เวลาบานเป็นรูปถ้วย
--------------------
('หญ้าถอดปล้อง' เป็นยาหลายอย่าง : คอลัมน์ ไม้ดีมีประโยชน์ : โดย ... นายสวีสอง)