ข่าว

10วัน!คาดซ่อมรางรถไฟดอยขุนตาลเสร็จ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จนท.เร่งซ่อมหลังน้ำป่ายอดดอยขุนตาลซัดรางรถไฟขาด คาดไม่เกิน 10 วัน ขณะที่อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร น้ำป่าดินสไลด์ทับเส้นทางหลายจุด ด้านตากน้ำลดแล้ว นครสวรรค์-ลำปาง เตือนรับมือน้ำป่า ส่วนโคราชยังแล้ง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 55  ที่สถานีรถไฟลำพูน ถนนเจริญตา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน บรรยากาศทั่วไปเงียบเหงา มีแต่เพียงพนักงานเจ้าหน้าที่ที่คอยให้บริการตอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากเกิดเหตุดินทลายลงมาปิดทับเส้นทางรถไฟที่ อำแม่ทา จังหวัดลำพูน ช่วงสถานีรถไฟบ้านทาชมพูและสถานีรถไฟขุนตาล หลักกิโลเมตรที่ 684 ยาว ระยะทางประมาณ 50 เมตร ระยะทางจากหลังเข้าถ้ำอุโมงค์ขุนตานประมาณ 3 กิโลเมตร หลังจากฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมรางรถรถไฟเสียหายไม่สามารถผ่านไปได้

          นายประชัย ไพรศรี รักษาการนายสถานีรถไฟลำพูน เปิดเผยว่า วันนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถานีรถไฟนครลำปาง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างบำรุงทางของ รฟท. และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกว่า 100 นาย นำรถแบคโฮ จำนวน 9 คัน ไล่น้ำป่าที่ท่วม นำดินจากพื้นที่ใกล้เคียงมาถมให้สูงขึ้นและการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ พร้อมขุดเปิดเส้นทางให้น้ำไหลไปเส้นทางอื่นแทน

          นอกจากรางรถไฟได้รับความเสียหายแล้ว ถนนทางข้ามรางรถไฟก็ถูกตัดขาดไม่สามารถเดินทางได้ด้วยเช่นกัน การซ่อมแซมรางรถไฟดังกล่าวความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เริ่มดำเนินการขึ้นภายหลังจากเมื่อช่วงเช้าของวานนี้ (8 ก.ย.) คาดว่าน่าจะไม่เกินภายใน 10 วัน ขึ้นอยู่กับว่าฝนจะตกเพิ่มอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการเป็นอย่างไร ต้องติดต่อที่หน้างาน (บริเวณที่ซ่อมแซม) ในส่วนของลำพูนจะเป็นเพียงแค่รับทราบข้อมูลการเดินรถและการบริการข้อมูลให้กับประชาชนผู้มาติดต่อ

          สำหรับประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางด้วยรถไฟ สามารถติดต่อได้ที่สถานีรถไฟลำพูนตลอดเวลา โดยจะมีรถบัสมารับแล้วส่งไปยังที่สถานีรถไฟนครลำปาง เวลาที่รถบัสจะมารับจะอยู่ในช่วงเวลา 09:30 น. , 16:20 น. , 17:20 น. และ 17:50 น. จะให้บริการจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

          ขณะที่นายชุมพร อินตะเทพ ป้องกันและบรรเทาธารณภัยจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำกวงที่จังหวัดลำพูน ณ ขณะนี้ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ชั่วโมงละ 6 เซนติเมตร จากสถานี P.5 สะพานท่านาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีระดับสูงถึง 4.02 เมตร ปริมาณน้ำ 93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากระดับน้ำถึง 5 เมตร น้ำจะเต็มตลิ่งแล้วไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตรที่อยู่ติดกับแม่น้ำกวง พื้นที่เสี่ยงภัยที่เคยถูกน้ำท่วมเป็นประจำได้แก่ พื้นที่ในตำบลต้นธง เวียงยอง บ้านกลาง เหมืองง่า และบ้านกลาง อำเมืองลำพูน

          นอกจากนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน ได้ประกาศเตือนประชาชนเตรียมป้องกันผลกระทบจากฝนตกหนักมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยริมฝั่งน้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำทา แม่น้ำกวง และแม่น้ำลี้ เก็บทรัพย์สินและนำสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในจุดปลอดภัย เพราะเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ภายหลังมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นตลอดเวลา อีกทั้งมีสีขุ่นแดง และไหลเชี่ยว โดยลำพูนมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและประกาศเป็นพื้นที่พิบัติภัยฉุกเฉินแล้ว 6 อำเภอ จาก 8 อำเภอ คือ อำเภอแม่ทา บ้านธิ ป่าซาง ลี้ ทุ่งหัวช้าง และ บ้านโฮ่ง

 

อุตรดิตถ์ - น้ำป่าหลากท่วมถนนหลายจุด

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ น้ำป่าไหลจากภูเขาหลากลงสู่ห้วยน้ำไคร้ ทะลักท่วมผิวจารจรสูงกว่า 30 เซนติเมตร ที่หลักกิโลเมตร 120 ถนนทางหลวงหมายเลข 11 (สายเอเชีย) เด่นชัย-อุตรดิตถ์ ทั้งทางเข้าและขาออกเมือองอุตรดิตถ์ บริเวณหมู่ 5 บ้านแม่เฉย ตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงอุตรดิตถ์ แขวงการทางอุตรดิตถ์ ระดมทั้งป้าย สัญญาณไฟไซเรน อาสาสมัครกู้ภัยวัดหมอนไม้ ตั้งจุดแจ้งเตือนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสายดังกล่าว แต่ยังคงเปิดให้สัญจรตามปกติ แต่ขอความร่วมมือลดความเร็วและเพิ่มความระมัดระวัง 

          ขณะเดียวกันน้ำจากห้วยน้ำไคร้ ยังทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านหมู่ 9 บ้านห้วยไคร้ และ หมู่ 5 บ้านแม่เฉย ชาวบ้านเร่งเก็บสิ่งของทรัพย์สินไว้ที่สูง โดยเฉพาะที่หมู่ 9 บ้านห้วยไคร้กระแสน้ำยังกัดเซาะถนนและสะพานในหมู่บ้านทรุดตัว ปริมาณน้ำฝนที่สะสมอยู่ในภูเขาเกิดการสไลด์ลงมาทับถนนในหมู่บ้านหลายจุด ชาวบ้านต้องเร่งเปิดเส้นทางการสัญจร

          นายสุรชัย ธัชกวิน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ประกาศให้อำเภอลับแล และอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย หลังพบปริมาณในตกหนักต่อเนื่อง 100 มิลลิเมตร และประกาศให้เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม ต่อไปอีกกึงวันที่ 11 กันยายน นี้ ทั้งนี้ได้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการเบื้องต้นแล้ว

 

พิษณุโลก - ดินโคลนสไลด์ทับเส้นทางหลายจุด

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก ส่งผลให้เกิดดินโคลนสไลด์ลงทับเส้นทางนครไทย-บ้านบ่อโพธิ์ หมู่ 1 บ้านบ่อโพธิ์ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งก่อนถึงหมู่บ้านบ่อโพธิ์ประมาณ 1 กม.เท่านั้น ดินโคลนสไลด์ทับเส้นทางดังกล่าว ส่งผลให้รถยนต์เล็กยังสามารถผ่านไปได้แต่ต้องขับอย่างระมัดระวัง ส่วนรถใหญ่ไม่สามารถผ่านไปได้ เนื่องจากเป็นดินโคลน จะทำให้รถเลื่อนตกถนนได้ ส่งผลให้รถใหญ่ต้องติดยาวเหยียด

          นายพงษ์ศักดิ์ นาวิก พ่อค้าผักรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนเองต้องไปส่งผักผลไม้ที่ชายแดนด้านหนองคาย และต้องใช้เส้นทางนี้มาโดยตลอด และเมื่อขับขี่มาถึงที่เกิดเหตุได้เห็นดินสไลด์ลงมาทับเส้นทาง ทำให้รถสิบล้อตนลื่นเกือบตกเส้นทาง ตนจึงต้องประคองรถและจอดรถให้เจ้าหน้าที่มาคลี่เส้นทาง แต่รถยนต์เล็กยังสามารถขับขี่ไปได้แต่ก็อย่างระมัดระวัง เพราะดินลื่นตลอดเวลา จนถึงเวลา 09.00 น.รถใหญ่ก็ยังไม่สามารถผ่านไปได้

          ด้านนายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ขณะนี้ตนเองได้ประสานไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่แขวงการทางแล้ว และกำลังเข้าเคลียร์เส้นทางซึ่งคาดว่ากว่าจะสามารถใช้ได้ตามปกติต้องใช้เวลากว่า 2 ชม.เนื่องจากต้องใช้รถเกด ไปเกดเส้นทางดินออก อย่างไรก็ตามก็ขอเตือนประชาชน ในช่วงนี้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ให้ระมัดระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะ 5 อำเภอ คือ คือ อ.นครไทย อ.ชาติตระการ อ.วังทอง อ.วัดโบสถ์ และ อ.เนินมะปราง

 

พิจิตร - น้ำป่าไหลเข้าท่วมในเขตอำเภอเมือง

 

          น้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และจากเทือกเขาวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ไหลเข้ามารวมกันในในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยน้ำจากเทือกเขาวังทอง ได้หลากมาทาง อำเภอสากเหล็ก และอำเภอเมือง ในขณะที่น้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ หลากมาจาก อำเภอสากเหล็ก อำเภอวังทรายพูน และไหลมาลงรวมกันที่ อำเภอเมือง ทำให้เกิดมวลน้ำก้อนใหญ่ ไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำและเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ท่วม ลงในแม่น้ำน่าน จำนวน 30 หลัง ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร และพื้นที่ทำการเกษตรหลายร้อยไร่ โดยชาวบ้าน ที่ถูกน้ำท่วมบ้านและพื้นที่ ต้องย้ายอุปกรณ์เครื่องจักรกลทำการเกษตร ไว้บนที่สูง และต้องใช้เรือสัญจร และตรวจสอบกระชังปลา เพื่อป้องกันการเสียหายจากน้ำท่วม เนื่องจากระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

          สำหรับพื้นที่ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ และเป็นพื้นที่รับน้ำที่ไหลมาจาก อำเภอวังทรายพูน อำเภอสากเหล็ก และเขตอำเภอเมือง ซึ่งน้ำที่ท่วมจะรอที่ระบายลงในแม่น้ำน่าน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมสูงและกินบริเวณกว้าง ซึ่งการระบายน้ำเป็นไปด้วยยาก เนื่องจากประตูระบายน้ำที่เล็กกว่ามวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมในพื้นที่

 

ตาก - เส้นทางอุ้มผางบอบช้ำ

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ว่าขณะนี้สภาพน้ำท่วม โดยทั่วไปในพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ได้ลดลงแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลอุ้มผาง และพื้นที่ในเขตชุมชน แต่น้ำยังคงท่วมขังในพื้นที่อยู่อาศัยริมลำห้วยสายต่างๆ เช่นเดียวกับรีสอร์ต ห้องพัก ที่ได้น้ำยังท่วมขังอยู่ ขณะเดียวกัน ฝนยังคงตกบ้างเล็กน้อย และจากอุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้ถนนสายเอเชีย สายอำเภออุ้มผาง-อำเภอพบพระ-อำเภอแม่สอด โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอำเภออุ้มผางได้รับความเสียหายอย่างหนักจาก น้ำกัดเซาะ และ ดินสไลด์ที่เป็นบริเวณกว้าง โดนายสุชาติ ทีคะสุข นายอำเภออุ้มผาง ได้เตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการสัญจรไป-มา ถนนสายดังกล่าว เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

 

นครสวรรค์ - เตือนอำเภอลาดยาว เตรียมรับมือน้ำป่า

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาเขตอุทยานอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ ไหลหลากเข้าท่วมสถานที่ท่องเที่ยวแก่งเกาะใหญ่ และ บ้านเรือนประชาชน ทำให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน โดยเฉพาะในเขต ต.วังซ่าน ต.เขาชนกัน อ.แม่วงก์ และ ต.หนองนมวัว ต.ศาลเจ้าไก่ต่อ อ.ลาดยาว  น้ำได้เอ่อล้นคลองส่งน้ำเข้าท่วมนาข้าวเสียหาย ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ทำให้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ติดป้ายประกาศเตือนนักท่องเที่ยวห้ามเล่นน้ำ และเข้าท่องเที่ยวชั่วคราว เนื่องจากมีน้ำป่าเข้าในพื้นที่และกระแสน้ำก็ไหลเชี่ยว

          นายวิศาล วสุนธาราพร ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า น้ำป่าจากแม่วงก์จะค่อยๆ ไหลลงมาที่ อ.ลาดยาว จึงแจ้งเตือนประชาชนบ้านหนองกระดูกเนื้อ บ้านหนองนมวัว หมู่ 1 หมู่ 5 และหมู่ 15 ตำบลลาดยาว อ.ลาดยาว ระวังน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งมวลน้ำส่วนใหญ่ก็จะไหลบ่าออกทุ่งนาไป ไม่น่าเกิน 3 วันก็คงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้มวลน้ำป่าดังกล่าวจะไหลลง คลองวังม้า อ.ลาดยาว ไปสมทบกับแม่น้ำสะแกกัง จ.อุทัยธานี ต่อไป 

 

ลำปาง - อำเภอเมืองปานสั่งเฝ้าระวัง

 

          นายสมยศ รู้ชั้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เปิดเผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่ ต.แจ้ซ้อน ยังมีฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบนยอดเขาสูงในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาตามลำห้วยแม่มอญ แต่ระดับน้ำยังไม่สูงและล้นตลิ่ง อย่างไรตาม อบต.แจ้ซ้อน ยังติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

          ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผผผลกระทบยังเร่งทำความสะอาดบ้านเรือน รวมทั้ง ถนนหนทาง ซึ่งทาง อบต.แจ้ซ้อน ได้นำเอารถบรรทุกน้ำออกทำความสะอาดมา เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนโรงเรียนแจ้ซ้อนหลวง ยังเร่งทำความสะอาด เช่นกัน เพื่อให้ทันเปิดเรียนในวันจันทร์นี้ 

          ด้านบ้านปางต้นหนุน หมู่ 10 กว่า 50 หลังคาเรือน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าปากะยอ มีราษฎรกว่า 200 คน ที่เกิดดินถล่มปิดทับเส้นทางดิน ทำให้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมาเป็นวันที่ 2 เจ้าหน้าที่กำลังเร่งนำเครื่องจักรกลหนัก เข้าดำเนินการในพื้นที่อย่างเร่งด่วนแล้ว

 

ตาก - พ่อค้าจ้องกดราคาซื้อข้าวโพดช่วงน้ำท่วม

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ล้งรับซื้อสินค้าเกษตรที่อยู่ในแต่ละอำเภอ กำลังคึกคักพบว่าเกษตรกรต่างขนข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวได้ส่งขายให้กับพ่อค้านายทุนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมและเปียกฝน ทำให้เมล็ดข้าวโพด มีความชื้นสูง โดยตลาดรับซื้อช่วงนี้อยู่ที่ กก.ละ 1.50 บาท ซึ่งราคาถูกจากเดิมรับซื้อ กก.ละ 4.50 บาท ทำให้เกษตกรประสบปัญหาขาดทุน 

          โดยนายธีระ มงคลเจริญกิจ อายุ 45 ปี เกษตกรชาวตำบลท้องฟ้า อ.บ้านตาก ยอมรับว่า ข้าวโพดที่ถูกน้ำท่วม และเปียกฝนในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวช่วงนี้ เกษตรกรอาจจะต้องเลือกว่าจะชะลอการเก็บเกี่ยวออกไปก่อน หรือหาจังหวะที่ไม่มีฝนตกเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งฉาง เพื่อหลีกเลี่ยงฝน และปัญหาน้ำท่วม ก่อนจะที่จะขนไปขายให้กับพ่อค้าตลาดรับซื้อพืชผลทางการเกษตร ซึ่งพบว่าข้าวโพดมีความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างสูง โดยความชื้นที่ระดับ 28 ขึ้นไป จะถูกกดราคาลงเหลือ กก.ละ 1.50 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตกรประสบปัญหาขาดทุน แต่หากหมดฤดูกาลนี้ไป เกษตกรอาจจะขนข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวไว้ในยุ้งฉางนำไปขาย ซึ่งจะมีราคารับซื้อดีกว่า และทำกำไรได้ที่ดีกว่า แต่จะต้องไม่เป็นข้าวโพดที่ไม่เปียกชื้นเท่านั้น

          อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ตาก ซึ่ง ล่าสุดพบรายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามเงา , บ้านตาก , วังเจ้า , แม่สอด , อุ้มผาง , พบพระ , ท่าสองยาง และแม่ระมาด ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่อยู่ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง ทำให้ข้าวโพดที่ถูกน้ำท่วมสูง เปียกฝน หากเกษตกรลงมือเก็บเกี่ยวในช่วงระยะนี้ ผลผลิตอาจจะได้รับความเสียหายจากความชื้นสูง เป็นโรครา และเมล็ดงอกได้ ดังนั้นเกษตรกรควรยื้อเวลาเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ออกไปก่อน จนมรสุมผ่านพ้นไป

 

นครราชสีมา - ชลประทานยังปิดประตูระบายน้ำหวั่นแล้ง

 

          สถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงนี้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ใน จ.นครราชสีมา มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 81.65 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25.96 ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 37.75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26.77 ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 108.35 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39.40 ของความจุอ่าง และอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 15.38 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14.03 ของความจุอ่าง 

          นายไพศาล พันผึ้ง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า  ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก โดยเฉลี่ยปีที่แล้วมีปริมาณน้ำในอ่างร้อยละ 43 เพราะน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาตลอดทั้งปีประมาณ 1,000 มิลลิเมตร แต่จนถึงขณะนี้ปริมาณฝนตกลงมาเพียง 600 มิลลิเมตรเท่านั้น จึงต้องรอลุ้นฝนอีก 300 - 400 มิลลิเมตรในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ หากปริมาณน้ำฝนตกลงมาไม่ถึง 300 มิลลิเมตร ก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำในปี 2556 มีปัญหาแน่นอน ซึ่งจากการติดตามพยากรณ์อากาศมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น 

          "ช่วงนี้ซึ่งมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง พื้นที่เกษตรได้รับน้ำเป็นระยะ ทางชลประทานจังหวัดนครราชสีมา จึงต้องสั่งให้ปิดประตูระบายน้ำทั้งหมดไว้ก่อน เพื่อเก็บน้ำไว้ โดยปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 4 แสนลูกบาศก์เมตร แต่ก็ถือว่าฝนยังตกน้อย ซึ่งทางชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ต้องรอลุ้นจนสิ้นสุดเดือนตุลาคม จึงจะให้คำตอบได้ว่าการบริหารจัดการน้ำในปี 2556 จะเป็นอย่างไร"

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ