
ลุแก่อำนาจ?
ลุแก่อำนาจ? : เลียบค่ายโดยคมพิทักษ์ราษฎร์
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองที่อ้างว่า กระทำได้ตามกฎหมาย แต่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลของการบริหารภาครัฐหรือไม่?
ยังเป็นที่เฝ้ามองกันในหมู่นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งต้องดูพัฒนาการของเรื่องราวไปสู่จุดสุดท้ายว่าจะเกิดอะไรขึ้น
การใช้อำนาจของรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลส่วนราชการที่ทำงานของข้าราชการประจำ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น นอกจากมีกฎเกณฑ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำกับไว้ ยังมีประมวลจริยธรรม ที่มีเนื้อหาทั้งข้อห้ามข้อปฏิบัติควบคุมอีกชั้นหนึ่ง อันจะนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยวุฒิสภา หรืออาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย
การปฏิบัติหน้าที่ของ รมว.กลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท้าทายต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ และสาธารณชนว่า เป็นการ "ลุแก่อำนาจ" หรือไม่?
การอ้างว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำได้นั้น ถูกต้องหรือไม่? จะมีผลดีหรือผลร้ายต่อองค์กร ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรอย่างไร
เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจะทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาวคงจะไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจระดับ ผบก.- รอง ผบช. ที่ผ่านมา ซึ่งกรรมการที่ลงมติเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกตั้ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่ได้อยู่ในที่ประชุม จะขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หรือไม่
การทำหน้าที่ของข้าราชการการเมือง มักจะมีคำถามและข้อสงสัยจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องตลอดเวลา
นี่ ก็ได้ข่าวว่า การขอเช่าพื้นที่ เพื่อประกอบการค้าอาหารและเครื่องดื่มที่สนามบินดอนเมือง มีนักการเมืองจ้องจะมีการให้สัมปทานพื้นที่แก่กลุ่มทุนรายใหญ่ ส่วนรายย่อยที่ยื่นขอไว้จะกินแห้ว ขอให้อายกันบ้าง!!