
โลกที่แคบลง
โลกที่แคบลง : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล
โลกเราทุกวันนี้แคบลงกว่าแต่ก่อนทั้งในเรื่องของการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร และรวมถึงพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งหากดูจากจำนวนประชากรประมาณ 7 พันล้านคนในปัจจุบันแล้ว ก็ถือได้ว่ามีมนุษย์อยู่บนโลกตอนนี้มากมายมหาศาลที่สุดเป็นประวัติการณ์
การที่คนล้นโลกในตอนนี้นั้น มีที่มาจากความเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ การสาธารณสุข และวิทยาการต่างๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำให้มนุษย์ไม่ต้องผจญกับโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากอย่างในยุคกลาง ทารกและเด็กได้รับการดูแลสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตในวัยเยาว์ลง นอกจากนี้โภชนาการ วิตามิน และยารักษาโรคที่มีคุณภาพ ได้มีส่วนช่วยให้พลโลกมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือความพยายามในการแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธี ก็ทำให้โลกเรารอดพ้นสงครามขนาดใหญ่ซึ่งอาจทำลายชีวิตผู้คนอย่างมากมายมาได้หลายครั้ง
ดังนั้น ถ้าจะมองว่าสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นภัยพิบัติครั้งสำคัญของมนุษยชาติ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน บ้านเมืองหลายแห่งถูกทำลายจนราบคาบ และคนจำนวนมากต้องพลัดพรากจากกัน รวมถึงความร้ายกาจของระเบิดปรมาณู แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง ผลจากความสูญเสียของสงคราม ก็ทำให้มนุษย์มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น รู้จักที่จะปรองดองกันมากขึ้น และเอาเวลาไปคิดค้นสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินพาณิชย์ ระบบโทรคมนาคม ดาวเทียมสื่อสาร โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก ฯลฯ ล้วนแต่ช่วยย่อโลกให้แคบลง และกลายเป็นประชาคมที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม
ถ้าแบ่งโลกอย่างคร่าวๆ ในวันนี้ เราก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศต่างๆ จะมีความเป็นภูมิภาคสูงขึ้น เช่นการรวมตัวของประชาคมยุโรป ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงของการจัดระเบียบยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยฝีมือของสหรัฐ ประชาคมในทวีปอเมริกาเหนือ ประชาคมในทวีปอเมริกาใต้ ประชาคมอาฟริกา ประชาคมอดีตรัฐสหภาพโซเวียต ประชาคมในเอเชียใต้ และประชาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ซึ่งการรวมตัวในลักษณะดังกล่าว ย่อมทำให้การอยู่ตามลำพังของประเทศหนึ่งประเทศใดมีความยากลำบากขึ้น ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจการค้า ความมั่นคง และการเจรจาต่อรองต่างๆ แต่ในเวลาเดียวกัน การอยู่ร่วมกันเป็นประชาคม ก็จำต้องยึดถือในกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ของประชาคม แต่ก็ต้องป้องกันไม่ให้ตนเองถูกกลืนหายไปกับวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่เข้มแข้งกว่าของเพื่อนร่วมประชาคม-เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือเหมือนกับ การเปิดร้านเล็กๆ ในห้างใหญ่ ซึ่งร้านเล็กๆ แต่ละร้านก็อาจจะขายสินค้าที่คล้ายๆ กัน ปัญหาจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาในห้างมาซื้อสินค้าจากร้านของตน แทนที่จะไปซื้อที่ร้านของเพื่อน และโดยที่ไม่เสียเพื่อนด้วย-เรื่องง่ายๆ อย่างนี้ เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ยากชะมัดเลยล่ะครับ
โลกเราทุกวันนี้แคบลงก็จริงอยู่ แต่ยังแคบไม่พอที่เราจะทำความรู้จักเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมประชาคมได้ดีเพียงพอ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของตัวเราและประเทศชาติ และการเดินทาง หรือการติดต่อสื่อสารก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากหรอกครับ ถ้าคนในประชาคมไม่ทำให้ระยะทางระหว่างความรู้สึกและหัวใจของตนกับเพื่อนร่วมประชาคมแคบลง
วิธีการทำก็ไม่อยากหรอกครับ เพียงแค่ลดพื้นที่เรื่องต่างๆ ของตัวเองในสมองและจิตใจ เช่นความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ความลุ่มหลงในอดีต หรือความทะนงตัวในทางที่ผิด ลงบ้าง แล้วเพิ่มพื้นที่ให้กับความเข้าใจ ความเห็นใจ และความดีใจ ในเรื่องต่างๆ ของเพื่อนร่วมประชาคมให้มากขึ้น-เท่านี้ เราก็จะได้ใจจากเขาเต็มๆ เลยล่ะครับ