
8 ปีไฟใต้ อุตสาหกรรมความไม่สงบ
8 ปีไฟใต้ อุตสาหกรรมความไม่สงบ
หลังห่างหายจากการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนานหลายปี เมื่อไม่นานมานี้ก็มีโอกาสได้ลงไปทำข่าวในพื้นที่อีกครั้ง คราวนี้ได้ตระเวนไปทั้ง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้ลงไปเห็นพื้นที่จริงๆ ได้พบปะผู้คนหลากหลาย ทั้งทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศอ.บต. ผู้นำศาสนาอิสลาม ชาวบ้านในพื้นที่ทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิม
ที่สำคัญ ได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่เคยอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนตัวเป็นๆ ซึ่งปัจจุบันวางมือกันหมดแล้ว แต่ข้อมูลที่ได้รับบอก ตรงๆ ว่าลึกสุดขีด ชนิดที่ว่าถ้าไม่ได้ลงไปให้ถึงที่ ไม่มีวันได้รู้แจ้งเห็นจริงแบบนี้
จากที่ไล่ประมวลข้อมูลทุกด้านแล้วพบว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ใช่ปัญหาแบบชั้นเดียวเชิงเดียว ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะมีพระเอกหรือนางเอกขี่ม้าขาวเข้ามาแล้วกอบกู้สถานการณ์ด้วยระยะเวลาอันนั้น แต่มันมีความสลับซับซ้อนหลายชั้น กลุ่มที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว ที่เมื่อจับหรือเจรจาได้แล้วจะจบ
มันไม่ใช่ 'โจรกระจอก' แต่มันคือ 'โจรกระจาย' ที่แผ่ขยายเซลล์ออกไปจนจับต้นชนปลายไม่ถูก ผสมปนเปกันหมดเหมือนขนมจีนผสมน้ำยา ที่คลุกเคล้าเข้ากันเป็นอาหารจานเดียว
หน่วยข่าวกรองในพื้นที่บอกว่า แม้แต่คนที่อยู่ในขบวนการเอง พอมีเหตุที่ตัวเองไม่ได้ทำ บางทียังไม่รู้ว่าเป็นฝีมือใคร ตอนนี้มันต่างคนต่างจองกฐิน ต่างคนต่างทำ แต่ก็มีจุดร่วมอย่างเดียวกันคือ ความไม่สงบในปลายด้ามขวาน
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน อย่าง อังคณา นีละไพจิตร ยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้มันพัฒนาไปในทางที่ยุ่งเหยิงกว่าที่คิด เพราะเริ่มมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากความไม่สงบแอบแฝงหนุนหลังเหตุการณ์สร้างความรุนแรง ผสมไปพร้อมๆ กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ถูกผลิตมาจากหลากหลายกลุ่มที่เป้าหมายต่างกัน ไม่ใช่มีเป้าหมายเดียวเหมือนแต่ก่อน สภาพไม่ต่างกับตลาดนัด ที่พ่อค้า-แม่ค้าต่างขนสินค้าที่แตกต่างกัน แต่พากันมาขายในตลาดเดียวกัน สามจังหวัดภาคใต้มีสภาพแบบนั้น
ส่วนสินค้าแต่ละชนิด อะไรจะมาก จะน้อย สัดส่วนเป็นอย่างไร ก็ยังมีความเชื่อกันหลากหลาย แต่พอจะสรุปได้ 3 แนวคิด ดังนี้
1.แนวคิดว่าความรุนแรงในช่วงหลังๆ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วยอุดมการณ์ ถูกขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และธุรกิจยาเสพติดเข้าครอบงำหรือเทคโอเวอร์ไปเรียบร้อยแล้ว
พ.อ.จตุพร กลัมพสุต ผอ.การกองข่าว ศูนย์ข่าวภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งอยู่ใน 3 จังหวัดมาตั้งแต่ปี 2547 อธิบายว่า ตั้งแต่ปี 2554-2555 ขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่สามารถผลิตเยาวชนขึ้นมาทดแทนนักรบรุ่นเก่าที่บ้างก็ตายไป บ้างก็ถูกจับ ขบวนการจึงหันไปจับมือกับคนที่อยู่ในเครือข่ายค้าของเถื่อน หรือยาเสพติด จากที่เคยคัดเด็กหัวกะทิของชุมชน ก็หันไปเอาเด็กเหลือขอที่เป็นเหยื่อยาเสพติดมาก่อการ โดยแลกกับค่าจ้างเล็กๆ น้อยๆ หรือยาเสพติด
ชุดความคิดนี้เชื่อว่าตอนนี้ขบวนการแยกดินแดนอ่อนเปลี้ยเต็มที เม็ดเงินที่เคยได้จากต่างประเทศไม่เข้า เพราะต้องผันไปใช้ในปฏิบัติการอาหรับสปริงส์ ต้องอาศัยน้ำเลี้ยงจากธุรกิจน้ำมันเถื่อนที่มีผลประโยชน์สูงถึงวันละกว่า 12 ล้าน มาเติมพลัง ชุบชีวิตให้ขบวนการแยกดินแดนกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง
2.แนวคิดที่ว่าทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนและขบวนการธุรกิจผิดกฎหมาย จับมือกันแบบหลวมๆ สัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง เป็นทฤษฎี 'น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า' ร่วมมือกันก่อการ โดยปฏิบัติแต่ละครั้งผสมปนเปกัน มีทั้งต่อรองเพื่อเอกราชของรัฐปัตตานี บ้างก็เป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่ไปทลายเครือข่ายน้ำมันเถื่อนหรือยาเสพติด
ชุดความคิดนี้ ผู้นำศาสนาอิสลามอย่าง นิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ก็ยังเชื่อว่าเป็นไปได้ โดยเขาบอกว่าตอนนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แยกออกยากเหลือเกินว่าเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย มันคลุมเครือไปหมด ที่เลวร้ายกว่านั้นยังเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเองที่ร่วมหากินกับธุรกิจผิดกฎหมายที่เฟื่องฟูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกนี้ไม่ต้องการให้เกิดความสงบ เพราะสงบเมื่อไหร่ ก็หมดทางทำกิน
3.แนวคิดสุดท้ายคือความรุนแรงทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เกิดจากพลังการขับเคลื่อนของขบวนการอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนทั้งสิ้น แนวทางนี้เป็นความเชื่อของ พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษา ผอ.รมน. ที่มั่นใจว่าเบื้องหลังเหตุรุนแรงทั้งหมดมาจากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ 'บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต'
ส่วนขบวนการสินค้าเถื่อน หรือยาเสพติดเป็นแค่แนวร่วมอยู่ข้างหลัง ไม่ได้มีบทบาทอะไรนัก ไม่ได้เป็นผู้ลงมือเอง ซึ่งขัดแย้งกับ 2 ทฤษฎีข้างต้น พล.ท.สำเร็จ ฟันธงว่ากลุ่มที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายไม่กล้าหือกับรัฐ ถึงขั้นมาวางระเบิดหรือยิงเจ้าหน้าที่ คนพวกนี้ไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น เพราะยิ่งสถานการณ์ไม่สงบ ด่านทหารก็ยิ่งเยอะ ฉะนั้น การจะขนสินค้าผิดกฎหมายก็ยิ่งจะยากขึ้น
โจทย์ของสถานการณ์ชายแดนใต้วันนี้ ยากและซับซ้อนขึ้นทุกนาที ถ้ารัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา ตีโจทย์ไม่แตก บุกตะลุยเพื่อสลายเงื่อนไขในการก่อความรุนแรงไม่ได้ วงจรอุบาทว์ที่หากินกับความไม่สงบ ก็จะยิ่งเติบโตขึ้น สุดท้ายอาจจะใหญ่โตจนกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ไฟใต้ดับมอดลง