
นักวิทย์พบผีเสื้อ'ฟูกูชิมะ'กลายพันธุ์
นักวิทย์ญี่ปุ่น พบผีเสื้อในเมืองฟูกูชิมะ 'กลายพันธุ์' หลังรับกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพิการ เตือน ปชช.อย่าตื่นเกินเหตุขอศึกษาต่อ
15 ส.ค. 55 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันอังคาร (14 ส.ค.) ว่านักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นพบกลุ่มตัวอย่างดักแด้ผีเสื้อฟ้าเซลล์จุดป่าสูง ที่สัมผัสกับกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ไดอิจิ เติบโตจนเป็นผีเสื้อวัยผู้ใหญ่ที่มีความผิดปกติของร่างกาย เช่น ตาบอด หรือปีกสั้นผิดปกติ ถึง 12% ของตัวอย่างดักแด้ผีเสื้อทั้งหมดที่จับมาภายหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มโรงไฟฟ้าแห่งนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ในทันที
นอกจากนั้นผีเสื้อรุ่นที่สองและรุ่นที่สามที่ผสมพันธุ์กับผีเสื้อปกติในห้องปฏิบัติการก็มีลักษณะพิการผิดปกติเพิ่มขึ้น 18 และ 34% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจสอบตัวอย่างผีเสื้อ 240 ตัวที่จับมาจากพื้นที่เดียวกันในช่วง 6 เดือนหลังเกิดเหตุสึนามิถล่มโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ไดอิจิ ที่พบว่า 52%ของตัวอย่างมีการกลายพันธุ์
นายโจจิ โอตากิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยริวคิว ในเมืองโอกินาวา กล่าวว่า จำนวนตัวอย่างผีเสื้อที่พบความผิดปกตินั้นมีอัตราส่วนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผีเสื้ออาจจะรับกัมมันตรังสีจากปัจจัยภายในและภายนอก เช่น บรรยากาศ หรือ อาหารที่กินเข้าไป และสามารถสรุปได้ว่าสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ไดอิจิเป็นต้นเหตุทำให้พันธุกรรมของผีเสื้อเปลี่ยนแปลงไป แต่เร็วไปที่จะประเมินความเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะทำการวิจัยต่อไป
ก่อนหน้านี้มีการศึกษาผลกระทบจากกัมมันตรังสีต่อประชาชนในเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ที่เป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง และพบว่าคนรุ่นที่สองและสามในพื้นที่ยังแสดงความผิดปกติจากการได้รับกัมมันตรังสี
ด้านแพทย์หญิงมาโกโตะ ยามาดะ ผู้ตรวจร่างกายชาวบ้านในเมืองฟูกูชิมะหลังเกิดเหตุวิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้ความเห็นว่า มีปัจจัยอีกหลายประการที่กัมมันตรังสีจะส่งผลต่อพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตที่เรายังไม่อาจรู้ได้ และไม่สามารถปฏิเสธว่าจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อมนุษย์ในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน 100%
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการรับกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ไดอิจิโดยตรง แต่ก็มีความกังวลว่าผู้ที่ได้รับกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้อาจเป็นอันตรายในอนาคตข้างหน้า ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าจะต้องใช้เวลานานเป็นทศวรรษกว่าพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าพิการจะปลอดภัยเพียงพอให้ประชาชนกลับไปอาศัยอยุ่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกครั้ง
----------
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ : EPA)
----------