ข่าว

 พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนโบราณ 
บนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนโบราณ บนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

22 พ.ค. 2552

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ชื่อ “ภูพระบาท” เป็นชื่อของภูเขาลูกเล็กๆ ลูกหนึ่ง ของเทือกเขาภูพาน เหตุที่ถูกเรียกว่า ภูพระบาท เนื่องจากภูเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของรอยพระพุทธบาทบัวบก อันเป็นที่เคารพบูชา

 คำ "บัวบก" เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามป่า เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีหัวและใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ผักหนอก ที่มาของชื่อ ”พระพุทธบาทบัวบก” นี้อาจมาจากการที่มีบัวบกขึ้นบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาทอยู่มาก หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง

 ส่วน อ.บ้านผือ “ผือ” เป็นพืชน้ำตระกูลหญ้าขึ้นเป็นกอชนิดหนึ่ง ตามประวัติฉบับทางการของอำเภอบ้านผือ เล่าว่าชื่ออำเภอบ้านผือ มาจากหนองปรือ "ปรือ" เป็นชื่อต้นไม้ในกลุ่มของต้นกก "ผือ" กับ "ปรือ" คือพืชชนิดเดียวกัน ชาวบ้านนำมาทอเสื่อ

 บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ยังประกอบด้วย พระพุทธบาทหลังเต่า พระพุทธบาทบัวบาน ถ้ำต่างๆ ซึ่งมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราว 2,000-3,000 ปีก่อนใช้พำนักพักพิง ได้เขียนรูปที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมไว้หลายแห่ง เช่น ที่ถ้ำลายมือ ถ้ำคน ถ้ำวัวแดง รวมทั้งยังมีเพิงหินรูปร่างต่างๆ บนลาน เช่น หอนางอุสา หีบศพพ่อตา หีบศพนางอุสา หีบศพท้าวบารส กู่นางอุสา เป็นต้น

 ที่มาของชื่อเรียกต่างๆ มาจากการผูกเรื่องตำนานพื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง เรื่อง “อุสา-บารส” เข้ากับสถานที่ตามจินตนาการที่เห็นแท่งหินทรายที่ตั้งเป็นลักษณะต่างๆ บนลาน

 ลานโขดหินและเพิงหินเหล่านี้ นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเป็นลักษณะของหินที่เกิดจากการกัดกร่อนตามธรรมชาติของหินทราย แต่สมัยโบราณคงใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมด้วย

 เมื่อเข้าสู่สมัยทวารวดี ที่พุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาถึง ชุมชนบริเวณนี้จึงดัดแปลงโขดหินให้กลายเป็นศาสนสถาน โดยปักใบเสมา เพื่อบอกขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวคิดความเชื่อที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งการใช้ลานโล่งบนพื้นที่สูงเป็นสถานที่สื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติมาก่อนยุครับศาสนา
     
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"