
ธรรมะวันอาสาฬหบูชา
ธรรมะวันอาสาฬหบูชา : กระจกเงา โดยอัศศิริ ธรรมโชติ [email protected]
วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคมนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา และรุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญทางพุทธศาสนา มาเข้าวัดฟังธรรมกันดีกว่าครับ
ตามที่ปรากฏในประวัติพุทธศาสนา วันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะหรือเดือน 8 นี้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกเป็นปฐมเทศนาหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว เป็นธรรมะที่ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมีเนื้อความกล่าวถึงอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หรือว่า ความจริงของพระอริยะ มี 1.ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ 2.สมุทัย คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ 3.นิโรธ คือการดับทุกข์ และ 4.มรรค คือหนทางหรือแนวทางในการดับทุกข์
มรรคหรืออริยมรรคแปลว่า ทางประเสริฐ หรือว่าทางของพระอริยะ อันเป็นข้อหนึ่งของอริยสัจ 4 นี้ มี 8 ประการ ดังนี้คือ
1.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) 2.สัมมาสังกัปปะ (ความดำริที่ถูกต้อง) 3.สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) 4.สัมมากัมมันตะ (การงานที่ถูกต้อง) 5.สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) 6.สัมมาวายามะ (ความพยายามที่ถูกต้อง) 7.สัมมาสติ (สติที่ถูกต้อง) 8.สัมมาสมาธิ (สมาธิที่ถูกต้อง)
ท่านว่า บุคคลใดผู้ดำเนินแนวทางนี้เป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะเป็นแนวทางสายกลางที่ไม่สุดโต่ง คือ ไม่หย่อนเกินไปหรือว่าตึงเกินไป ทางสายกลาง 8 ประการดังที่กล่าวนี้ คือข้อปฏิบัติที่เรียกกันว่า มัชฌิมาปฏิปทา
พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ ขณะที่มีชีวิตอยู่ท่านได้กล่าวถึงธรรม คำว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องหรือว่าความเข้าใจถูก อันเป็นข้อแรกของมรรค 8 ทางสายกลางหรือว่า มัชฌิมาปฏิปทา นี้เอาไว้ นานมาแล้วในหนังสือเล่มหนึ่ง
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ชุมนุมอภิลักขิตกาลพจน์ (ข้อคิดวันสำคัญ) 2482-2500” บังเอิญผมอ่านเจอ ขอนำมาเรียบเรียงให้เป็นข้อคิดกันไว้มีความหนึ่งว่าดังนี้ครับ
ความไม่เข้าใจกับความเข้าใจผิดนั้นต่างกัน
ความเข้าใจผิดจะยิ่งมืดเสียกว่าความไม่เข้าใจ เพราะเป็นความมืดที่ถูกย้อมน้ำฝาดอีกต่อหนึ่ง และทั้งเป็นอันตรายกว่า เพราะผู้ที่เข้าใจผิดย่อมไม่ยอมรับคำตักเตือน ซึ่งต่างกับผู้ที่ไม่เข้าใจอันพร้อมที่จะรับคำตักเตือนเสมอ
ความมืดเพราะความไม่เข้าใจ ท่านพุทธทาสบอกว่า ยังเป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นกันได้บ้าง แต่ความมืดอันเนื่องเพราะความเข้าใจผิดนั้นนอกจากจะเห็นได้ยากแล้ว “ยังจะทำให้เขาเข้าใจว่า เขามีความสว่างเสียด้วยซ้ำไป” จึงมองไม่เห็นความมืด
ความมืดจากความเข้าใจผิดจึงนับว่าเป็นความมืดที่อันตรายที่สุด แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ช่วยอะไรไม่ได้
“ความมืดเพราะความทะนง ว่าตนได้เล่าเรียนมามาก อาจมีมากจนถึงกับทำความล่มจมให้แก่ตัวเอง หรือผู้ที่ไว้เนื้อเชื่อใจผู้นั้นว่า เป็นคนเล่าเรียนมาแล้ว นี่ก็เป็นความมืดอันมีมาแต่ความเข้าใจผิดนั้นเหมือนกัน” ท่านพุทธทาสว่า
ดังนั้น ความรู้ที่มากท่วมหัว แต่กลับปรากฏว่าช่วยตัวไม่รอดนั้น ก็เพราะยิ่งมองเห็นยิ่งมืด เป็นความมืดของความเข้าใจผิด ชนิดที่ยิ่งคิดได้มาก ก็ยิ่งผิดออกไปมาก ยิ่งคิดได้ยาว ก็ยิ่งผิดออกไปยาว นับว่าเป็นความมืดอันร้ายกาจชนิดหนึ่ง
ท่านพุทธทาสชี้ว่า บุคคลประเภทนี้ควรที่จะเป็นผู้ควบคุมความรู้ของตนเอาไว้ให้ดี อย่าให้ตำราหรือว่าตัวหนังสือท่วมหัวจนไม่ยอมเหลียวแลดูข้อเท็จจริงเสียเลย ความอยู่ในอำนาาจของเหตุผลและข้อเท็จจริงเป็นของคนละอย่างจากการเอาแต่ตามตัวหนังสือหรือตามตำราที่ว่า
“ถ้าเขาเป็นคนมีหลักที่เป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุผลและข้อเท็จจริงเป็นใหญ่ ก็จะสามารถควบคุมความรู้หรือตำราไม่ให้ท่วมหัวเขาได้ จึงปลอดภัยและได้รับผลที่มุ่งหมาย” ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ความเข้าใจถูกหรือสัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์ต้นของอัฎฐังคิกมรรค”...
สุดท้ายในคำเทศนานี้ท่านพุทธทาสภิกขุ เตือนขอให้พุทธบริษัททั้งหลายได้ระมัดระวังตนต่อสิ่งที่ยึดถือ หรือว่าที่ได้เรียนมา อย่าให้เกิดมามีอาการท่วมหัวเอาตัวไม่รอดดังที่ได้กล่าวนี้
ขอให้สลัดเลนตมแห่งความเข้าใจผิดเสีย ทั้งนี้เพื่อความเป็นพุทธบริษัทอันถูกต้อง