ข่าว

ผู้การปทุมฯจัดทัพ..รับศึก'น้ำท่วม'

ผู้การปทุมฯจัดทัพ..รับศึก'น้ำท่วม'

29 ก.ค. 2555

ผู้การปทุมฯจัดทัพ..รับศึก'น้ำท่วม' : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี โดยทัศชยันต์ วาหะรักษ์

               อิทธิพลของพายุ "วีเซนเต" ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยในระยะนี้ ทำให้ประชาชนที่เพิ่งผ่านพ้นจากวิกฤติมหาอุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พากันวิตกว่า ภาพเก่าในวันวานที่เพิ่งผ่านพ้นมาหมาดๆ จะกลับมาฉายซ้ำเติมทุกข์ให้แก่คนไทยกว่าครึ่งค่อนประเทศอีกหรือไม่
 
               ความวิตกดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ประชาชนคนธรรมดา แม้กระทั่งตำรวจก็วิตกกังวลไม่แพ้กัน ในหลายจังหวัดพากันเตรียมตัวรับมือภาวะวิกฤติ หนึ่งในนั้นรวมถึงตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเคยประสบมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ล่าสุด พล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี สั่งตำรวจทุกโรงพักเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมแล้วตลอด 24 ชั่วโมง และให้เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เต็มพิกัด มาตรการการเผชิญเหตุจากมหาอุทกภัยของตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีมีอย่างไร พล.ต.ต.สมิทธิ พร้อมตอบทุกคำถาม!!

 -ทราบว่าท่านสั่งตำรวจทุกโรงพักในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติมหาอุทกภัยพร้อมแล้ว ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น
 
               มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้แก่พี่น้องคนไทยกว่าครึ่งค่อนประเทศ จ.ปทุมธานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ พื้นที่แทบทั้งจังหวัดยกเว้น อ.หนองเสือ เพียงอำเภอเดียว จมอยู่ใต้บาดาลนานกว่า 2 เดือน ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน จ.ปทุมธานี ทั้งที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร และประชากรแฝง รวมกันเกือบ 2 ล้านคน เดือดร้อนกันถ้วนหน้า
 
               ตำรวจเองก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน สถานีตำรวจแทบทุกโรงพักถูกน้ำท่วมกันถ้วนหน้า ทรัพย์สินทางราชการเสียหายจนแทบประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์สายตรวจเสียหายไปกว่าร้อยละ 30 จนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาผ่านมาเกือบจะครบ 1 ปี ก็ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่เราต้องเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเสียแต่เนิ่นๆ
 
               ผมได้สั่งให้ทุกโรงพักเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมเต็มที่ โดยให้จัดทำแผนปฏิบัติหากเกิดเหตุร้ายแรงไว้ให้พร้อม ทั้งการออกสำรวจสถานที่และจัดเตรียมสถานที่สำรองไว้สำหรับตั้งโรงพักชั่วคราวไว้บริการประชาชนในกรณีน้ำท่วมใหญ่จนที่ตั้งเดิมไม่สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ให้จัดเตรียมเรือและอุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และอุปกรณ์ที่จะต้องใช้งานอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์วิกฤติไว้ให้พร้อมสำหรับการใช้งานเพื่อความไม่ประมาท
 
               อีกทั้งยังสั่งการให้ทุกโรงพักเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งข่าวให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบได้รับทราบเป็นระยะ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หากเกิดภัยพิบัติขึ้นอีก

 -มหาอุทกภัยที่ผ่านมาสร้างความเสียหายให้ชาวปทุมธานีขณะที่การช่วยเหลือของภาครัฐถูกมองว่าค่อนข้างล่าช้าและไม่เท่าเทียม ส่งผลให้เกิดม็อบหลายต่อหลายกลุ่มตำรวจทำงานยากหรือไม่
 
               ต้องยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจ เพราะมหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมาสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในพื้นที่มาก กระจายเป็นวงกว้าง อาจทำให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอาจล่าช้า ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง จึงเกิดการรวมตัวกันออกมาเรียกร้อง ใน จ.ปทุมธานี ตั้งแต่น้ำลดจนถึงปัจจุบันมีการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกเห็นใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพราะหัวอกเดียวกัน ที่ทำงานผม โรงพัก ลูกน้องผม หรือแม้กระทั่งบ้านของผมในย่านถนนราชพฤกษ์ ก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน จนถึงวันนี้ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ เดือดร้อนไม่แพ้กัน
 
               อย่างไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยที่จะมีการชุมนุมโดยเอาความเดือดร้อนที่ตนเองประสบอยู่ไปสร้างความเดือดร้อนให้บุคคลอื่นต่อไปอีก จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ มีความพยายามในการขอร้องไม่ให้ชุมนุมโดยการปิดถนน แต่ก็ยังมีการฝ่าฝืน ตำรวจจึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่ไปแล้ว 5-6 คน ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ลดอุณหภูมิลงได้มากพอสมควร
 
               ที่ผ่านมา เราพยายามเจรจาทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยเป็นผล ม็อบเยอะขึ้น ถี่ขึ้น และปิดถนนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายกับแกนนำ ทั้งที่ใจจริงไม่มีใครอยากทำ เพราะเห็นใจในความเดือดร้อน และเห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องนั้นมีได้ แต่ควรอยู่ในขอบเขต อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น แต่การปิดถนนสร้างความเดือดร้อนกันไปทั่ว คนเจ็บจะไปโรงพยาบาลก็ไปไม่ได้ และยิ่งหากเป็นช่วงเวลาโรงเรียนเลิกมันส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจรเป็นบริเวณกว้าง อยากขอร้องผู้ที่เดือดร้อนแล้วคิดจะชุมนุมโดยการปิดถนนว่าอย่าทำ เพราะหากไม่เชื่อกันตำรวจก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย

 -มหาอุทกภัยที่ผ่านมาส่งผลต่อปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ในพื้นที่หรือไม่
 
               จากการตรวจสอบสถิติปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ในพื้นที่ ตั้งแต่หลังน้ำลดเป็นต้นมาจนถึงขณะนี้พบว่า ไม่ได้มีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นจนผิดปกติ บางกลุ่มคดีลดลงเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่น คดีอุกฉกรรจ์เมื่อปี 2554 เกิดขึ้น 69 คดี ปีนี้อยู่ที่ 59 คดี คดีประทุษร้ายต่อร่างกายปี 2554 เกิดขึ้น 451 ครั้ง ปีนี้มี 389 ครั้ง ขณะที่คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ปี 2554 เกิดพันกว่าคดี ปีนี้ตัวเลขอยู่ที่ 800 กว่าคดี
 
               มั่นใจว่าสถิติคดีต่างๆ ที่ลดลงเป็นผลมาจากการเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งเน้นการป้องกันปัญหาอาชญากรรมมากขึ้น มีแผนงานปฏิบัติหลายโครงการที่นำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรมในพื้นที่ อย่างเช่น โครงการพัฒนาตู้ยามแข่งขัน กำหนดให้ตำรวจที่ประจำอยู่ทุกตู้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ตำรวจทุกนายพร้อมที่จะเผชิญเหตุร้ายและต้องทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้นได้ในพื้นที่รับผิดชอบ
 
               นอกจากนี้ยังมีการสร้างมวลชนด้วยโครงการเครือข่ายหอพักหมู่บ้านชุมชนตาสับปะรด ดึงประชาชนมาเป็นผู้ช่วยตำรวจในการสอดส่องดูแลบ้านเรือน หอพัก และชุมชนต่างๆ ให้ปลอดจากภัยทุกรูปแบบ ทั้งคดีอาชญากรรมทั่วไป และปัญหายาเสพติด ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับโครงการใบเตือนแจ้งภัย ที่ตำรวจจะออกใบเตือนเหตุร้ายต่างๆ ให้แก่ประชาชนได้รับทราบ ยกตัวอย่างเช่น จุดไหนเสี่ยงรถหาย ใครนำรถไปจอดบริเวณนั้นเราก็จะมีใบแจ้งเตือนติดรถไว้ว่า จุดนี้เสี่ยง ครั้งหน้าจะได้ไม่มาจอดอีก หรือหากนำมาจอดอีกก็ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
 
               ขณะที่โครงการเร่งตามจับบุคคลที่มีหมายจับค้างเก่าก็ค่อนข้างได้ผล ก่อนหน้านี้มีผู้ต้องหาตามหมายจับค้างอยู่กว่า 1 หมื่นหมาย เพียงเวลาไม่กี่เดือนลดลงไปเหลือประมาณ 8,000 หมาย ซึ่งผู้ต้องหาตามหมายจับเหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงที่เขาจะไปก่อคดีซ้ำได้ง่าย เมื่อสามารถจับได้ก็เท่ากับว่าช่วยลดโอกาสการเกิดคดีใหม่ได้ด้วย
 
               ที่สำคัญคือ มีการเปิดตู้ ปณ. เปิดอีเมล และเบอร์โทรศัพท์ ที่มีไว้สำหรับให้ประชาชนในพื้นที่แจ้งเบาะแสสิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงเรื่องราวที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายต่างๆ ในพื้นที่ มายังสำนักงานของ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานีโดยตรง ซึ่งผมจะนำเรื่องที่ได้รับแจ้งมาเร่งดำเนินการทันที หากเป็นเรื่องที่ไม่มีตำรวจในพื้นที่เกี่ยวข้องก็จะแจ้งให้โรงพักพื้นที่เร่งดำเนินการ แต่หากเรื่องใดที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีตำรวจเข้าไปพัวพันผมจะส่งตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนลงไปจัดการ ซึ่งผมมีนโยบายชัดเจนใครทำผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีทั้งหมด ไม่มีการยกเว้น ยิ่งเป็นตำรวจแต่ไปกระทำผิดเสียเองจะต้องถูกดำเนินการสถานหนัก ทั้งคดีอาญาและทางวินัย

 -ปัญหาการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่มีอย่างไรบ้าง
 
               อุปสรรคการทำงานที่สาหัสสากรรจ์มากที่สุดในเวลานี้ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้อุปกรณ์การปฏิบัติงานต่างๆ เสียหายไปมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์สายตรวจที่เสียหายไปกว่าร้อยละ 30 ทุกวันนี้รถจักรยานยนต์ที่เสียหายแทบทั้งหมดยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้ตำรวจทำงานกันยาก ประกอบกับกำลังตำรวจทั้งจังหวัดมีเพียง 1,700 คนเศษ ต้องรับผิดชอบดูแลเนื้อที่ถึง 1,559.68 ตารางกิโลเมตร รับผิดชอบชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเกือบ 2 ล้านคน เป็นเรื่องที่หนักหน่วง ยิ่งขาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่พอจะอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติได้บ้างแล้วก็รู้สึกเห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีทุกคนพร้อมทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่


..........

(หมายเหตุ : ผู้การปทุมฯจัดทัพ..รับศึก'น้ำท่วม' : สัมภาษณ์พิเศษ  พล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี โดยทัศชยันต์ วาหะรักษ์)