ข่าว

การเมืองเชิงวัฒนธรรมเรื่องการเกณฑ์ทหาร/หนีทหาร

การเมืองเชิงวัฒนธรรมเรื่องการเกณฑ์ทหาร/หนีทหาร

26 ก.ค. 2555

การเมืองเชิงวัฒนธรรมเรื่องการเกณฑ์ทหาร/หนีทหาร : xระชาธิปไตยที่รัก โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ([email protected])

               อาจจะมีหลายท่านที่มองว่าเรื่องการโจมตีเรื่องการหนีทหารไม่ใช่ประเด็นอะไรนักหนา
 
               หรือต่อให้เป็นประเด็นก็เป็นประเด็นที่ไม่น่าเล่นมากนัก เพราะถึงแม้ว่าต่อให้จริง ยังมีประเด็นใหญ่กว่านั้นที่น่าเล่น และควรเล่นอีกมากมาย
 
               อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ "การเมืองเรื่องวัฒนธรรม" ของสังคมไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก (บางคนอาจบอกว่าเล็กมาก)
 
               ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมากและเป็นส่วนที่ทำให้เราเข้าใจความขัดแย้งของการเมืองที่ยืนอยู่ในเรื่องของกฎหมาย และการดำรงชีวิต (หรือเรียกว่า "วัฒนธรรม")
 
               ในขณะที่เรื่องของกรณี 91 ศพนั้นอาจจะเป็นประเด็นของหลักการทางการเมือง และต้องว่ากันไปในแง่ของขั้นตอนการปฏิบัติ แต่ประเด็นเรื่องการเมืองเรื่องการเกณฑ์ทหารนั้นเป็นประเด็นทางการเมืองที่อิงกับวัฒนธรรมที่คนที่แก้ตัวก็อาจไม่รู้ตัว
 
               ประเด็นจึงไม่จบง่ายๆ และมีในสามระดับ
 
               ระดับแรกคือเรื่องของความจริง ที่บางกลุ่มก็สนใจ ว่าตกลงเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ ความจริงนั้นมีหลายระดับ และหลายฝ่าย
 
               ในแง่นี้คนบางคนอาจเลือกที่จะเชื่อหลักฐานของฝ่ายตัวเอง และเถียงกันคนละเรื่อง แต่ที่สำคัญก็คือไม่ค่อยมีสื่อพยายามสืบสาวราวเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ
 
               ในความหมายที่ว่า แทนจะรีบฟันธงว่าจริงหรือไม่จริง ประเด็นควรจะพูดทีละขั้นทีละตอนว่าแต่ละฝ่ายเชื่อว่าหลักฐานที่ตนมีนั้นมันจริงในขั้นไหน
 
               เช่นในขั้นของการขอลาเรียนนั้นทำถูกต้องไหม หลักฐานขั้นไหนที่มีข้อสงสัย
 
               ถ้าทำเช่นนี้ ก็หมายความว่าทั้งสองฝ่ายต่างสามารถอ่านได้ และเข้าใจว่าอะไรคือจุดแข็ง/มั่นใจของตัวเอง และอะไรคือประเด็นท้าทาย/เปราะบางของฝ่ายตัวเอง
 
               เช่นนี้เราจึงน่าจะแสวงหาความจริงได้มากกว่าสนใจแต่ว่าใครจริง ใครไม่จริง และสนใจว่าใครคือคู่ขัดแย้งกับใคร
 
               เพราะยิ่งสนใจแค่ว่ามีฝ่ายเดียวที่จริง ข่าวก็เลยสนุกในการโยนข้อกล่าวหากันทั้งสองฝ่าย แล้วก็ทำมาหากินกับอคติ มากกว่าที่จะเชื่อว่าข่าวนั้นสามารถทำให้คนสองฝ่ายเสพได้เช่นกัน (อาจไม่ได้หมายความว่าเขียนข่าวเพื่อให้หยุดขัดแย้ง แต่อย่างน้อยทำให้ขัดแย้งอย่างมีสติ ในความหมายที่ว่าความจริงไม่ได้มีฝ่ายเดียว)
 
               ระดับสอง คือการเมืองของการสู้กันด้วยความน่าเชื่อถือ นั่นก็คือ การพยายามบอกว่าฝ่ายของตัวเองถูก เพราะถูกกลั่นแกล้ง และเชื่อว่ายุทธศาสตร์การขายความน่าเชื่อถือจากบุญเก่าของตนนั้นจะชนะ ซึ่งถ้ามองอย่างลึกซึ้งก็คือเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งเล่นกันในระดับที่ไม่ต้องเผาผีกัน และเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ในระดับหนึ่ง
 
               แต่เรื่องนี้ต้องระวังเช่นกัน เพราะการโจมตีฝ่ายที่กล่าวหา (ซึ่งก็เป็นการกล่าวหาเหมือนกัน) นั้นมุ่งอธิบายแต่ฝ่ายตนเองซึ่งเชื่ออยู่แล้วว่าตนเองไม่ผิด และไม่มีทางผิด
 
               แต่ระดับที่สาม ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือ เมื่อการแก้การกล่าวหาวางอยู่บนเรื่องที่พยายามบอกว่าถูกกฎหมายและถูกขั้นตอน ทั้งที่จะทราบหรือไม่ว่า การเกณฑ์ทหารเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำ แต่การไม่เกณฑ์ทหารนั้นแม้ว่าจะทำได้ แต่มันเป็นการแสดงออกถึงความแตกต่างในการใช้ชีวิตกับคนทั่วไป ซึ่งกลายเป็นความไม่ปรกติที่เป็นปรกติ เรื่องนี้ก็นับเป็นการตอกย้ำการใช้ชีวิตแบบไม่ปรกติที่เป็นปรกติ หรือเป็นเรื่องปรกติที่จะทำเช่นนี้
 
               ไม่ต้องพูดไปไกลครับ แค่เรื่องเรียนรักษาดินแดนเนี่ยแล้วไม่ต้องเป็นทหาร (ซึ่งเรียนก่อนจะครบเกณฑ์ทหารด้วยซ้ำ และความจริงเรียนแล้วก็เป็นทหารอยู่ดี เพราะติดยศเป็นทหารกองหนุน) ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเลยว่าทุกคนทำได้ไหม เพราะขั้นต่ำก็คือต้องมีเงื่อนไขการศึกษาอยู่ดี
 
               เรื่องสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเรากำลังเถียงกับคนอื่นโดยลืมว่าสิ่งที่คนอื่นมองนั้นมีความหมายที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้องโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าความหมายนั้นอาจแตกต่างกันก็ได้ครับ