
ระบอบกษัตริย์ในกระแสปฏิวัติอาหรับ
ระบอบกษัตริย์ในกระแสปฏิวัติอาหรับ : วิถีมุสลิมโลกโดยศราวุฒิ อารีย์
แม้ว่าประชาชนคนอาหรับส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ระบอบกษัตริย์ก็เป็นรูปแบบการปกครองที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบัน นอกจากจอร์แดนและโมร็อกโกแล้ว ก็ยังมีระบอบกษัตริย์ให้เห็นตามดินแดนชายฝั่งตะวันตกของอ่าวเปอร์เซีย ไม่ว่าจะเป็นบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย อาบูดาบี ดูไบ ซาร์ญะฮ์ อัจมาน อุมมุลกอยวาน ราชอัลไคห์มะฮ์ และฟูไจเราะห์
ใน 14 ราชวงศ์ข้างต้น มีเพียงผู้ปกครอง 3 พระองค์เท่านั้นที่เรียกตนเองว่า “กษัตริย์” คือในจอร์แดน โมร็อกโก และซาอุดีอาระเบีย เหตุเพราะผู้ปกครองเหล่านี้ต้องการได้รับการยอมรับนับถือจากมหาอำนาจเดิมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสมากกว่าที่จะต้องการให้ประชาชนของแต่ละราชวงศ์เกิดความประทับใจ ผู้ปกครองที่เหลือส่วนใหญ่มักใช้ยศตำแหน่งอย่างอื่นแทน เช่น “เชค” (หัวหน้าเผ่า ผู้อาวุโส พ่อเฒ่าที่ปกครองครอบครัว หัวหน้า) “อมีร” (หัวหน้า) “อิมาม” (ผู้นำ) เป็นต้น ซึ่งค่อนข้างจะสอดคล้องกับความเชื่อและประเพณีปฏิบัติของชาวอาหรับมากกว่า
ความชอบธรรมของระบอบกษัตริย์ในโลกอาหรับนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากกรอบคิดเรื่องอำนาจเทวสิทธิ์เหมือนอย่างระบอบกษัตริย์ทั่วไป แต่ความชอบธรรมในการปกครองของกษัตริย์อาหรับมาจาก 3 แหล่งหลักๆ คือ
1.อิสลามเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมที่สำคัญที่สุด เช่น กษัตริย์ฮัซซันที่ 2 แห่งโมร็อกโก ได้อ้างการสืบทอดตระกูลของราชวงศ์ย้อนไปถึงความเกี่ยวดองทางสายเลือดกับศาสนทูตมุฮัมมัด ส่วนกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดน ก็กล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันว่า ตระกูลฮาชิไมต์ของพระองค์ แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเผ่ากุรอยซ์ ซึ่งเป็นเผ่าที่ศาสนทูตมุฮัมมัดสังกัดอยู่ ในขณะที่ตระกูลสะอูดแห่งซาอุดีอาระเบีย ก็ย้อนนับอดีตของต้นตระกูลกลับไปถึงเผ่าอัดนาน (Adnani Tribe) ซึ่งเป็นเผ่าของศาสนทูตมุฮัมมัดเช่นกัน
2.แหล่งที่มาแห่งความชอบธรรมที่สำคัญลำดับถัดมาคือเรื่องตระกูลและเผ่าพันธุ์ เช่น ตระกูลสะอูดของซาอุดีอาระเบีย ตระกูลศอบะฮ์ของคูเวต และตระกูลเคาะลีฟะฮ์ของบาห์เรน ล้วนมีต้นสายมาจากเผ่าอุนัยซา (Unaiza) ซึ่งเป็นเผ่าที่ใหญ่และมีอิทธิพลสูง ที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของซีเรีย แล้วเข้ามาอาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาหรับเมื่อศตวรรษที่ 17 และ 18
3.ความชอบธรรมทางการเมือง (ซึ่งมีความสำคัญที่สุดในช่วงสถานการณ์ปกติ) ถือเป็นปัจจัยลำดับที่สาม ซึ่งเป็นความชอบธรรมจากผลงานการปฏิบัติของผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นลักษณะ “การเป็นตัวแทนแห่งตน” (representation) ของประชาชนพลเมือง ความชอบธรรมนี้เกิดขึ้นในรูป “ประชาธิปไตยทะเลทราย” (desert democracy) หรือการที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการประกันในการเข้าถึงผู้ปกครองของพวกเขาโดยตรงเป็นการส่วนตัว แล้วนำปัญหาขึ้นกราบทูล เพื่อแสวงหาการแก้ไขช่วยเหลืออย่างเป็นกันเอง
กฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ส่วนใหญ่มีที่มาจากพระราชกฤษฎีกา (Nizams) ของกษัตริย์ที่จะต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายอิสลาม (Shari'ah) อย่างเคร่งครัด การริเริ่มที่จะสอดใส่สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐานยังมีให้เห็นไม่มากนัก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบอบกษัตริย์ในตะวันออกกลางเกือบทั้งหมดถูกท้าทายโดยพลังอำนาจของกลุ่มนิยมแนวทางอิสลาม (Political Islam) และพลังแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย พลังท้าทายดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อระบอบกษัตริย์อาหรับทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ปกครองต้องหาทางหยุดยั้งกระแสต่อต้าน โดยพยายามริเริ่มระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
กระแสการปฏิวัติอาหรับและการโค่นล้มผู้นำเผด็จการหลายคนในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีราชวงศ์อาหรับใดถูกโค่นล้มลงไป แต่ก็ทำให้ระบอบกษัตริย์ของหลายประเทศในโลกอาหรับ เริ่มหันมาพิจารณาถึงแนวทางการปฏิรูป เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองอย่างจริงจังและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น มิเช่นนั้นแล้วความชอบธรรมที่มีอยู่แต่เดิมก็ช่วยอะไรไม่ได้