ข่าว

"เชียงของ" เมืองที่เวลาคร้านจะก้าวเดิน
เพลินกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สงบงาม

"เชียงของ" เมืองที่เวลาคร้านจะก้าวเดิน เพลินกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สงบงาม

20 พ.ค. 2552

จากกรุงเทพฯ เดินทางขึ้นสู่เหนือ จุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งต้องใช้เวลาราว 13 ชั่วโมง บนรถทัวร์จากกรุงเทพฯ มาถึงที่หมายในยามเช้าพอดี

  ถ้าไม่ได้มาด้วยตัวเองคงไม่รู้ว่า เวลาที่เชียงของนั้น "เดินช้า" เสียจริง ชีวิตที่นี่ไม่ต้องรีบเร่ง เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเร่งรีบเพื่อไปหาอะไร หากคิดได้แบบนี้ ความสุขก็อยู่แค่เอื้อมนี่เอง  

 ขณะที่อีกฟากฝั่ง คือ เมืองห้วยทราย ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวลาที่นั่นก็คงจะเดินช้าเหมือนที่นี่ หรืออาจจะเดินอ้อยอิ่งกว่าที่นี่ด้วยซ้ำไป

 เราสะพายเป้พร้อมกล้องคู่ใจเดินไปตามถนนในเขตเทศบาลเชียงของ ที่ดูเรียบง่าย รถสามล้อที่นี่ราคาขาดตัวเที่ยวละ 30 บาท พาเราไปส่งที่พักที่เราหมายตาหมายใจไว้แต่ก่อนเดินทาง คือ "บ้านตำมิละ" ที่เป็นตำนานเกสต์เฮ้าส์ของเชียงของ

 เจ้าของเกสต์เฮ้าส์เป็นคู่สามีภรรยาที่เข้ามาบุกเบิกตั้งแต่ 20 ปีก่อน ด้วยที่พักติดริมแม่น้ำ แต่ราคาไม่แพงอย่างที่คิด!!

 เราเลือกบังกะโลที่เป็นเรือนไม้ มีเปลแขวนอยู่นอกชานสำหรับเป็นที่เอกเขนกนอนอ่านหนังสือ พร้อมดูวิวริมน้ำ และชมเมืองห้วยทราย ที่อีกฟากฝั่งที่กำลังเจริญเติบโตตามสภาพเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับถนนสาย R3A ที่จะเป็นเส้นทางเชื่อมไทย-ลาว-พม่า-จีน เข้าด้วยกัน

 แม้กลิ่นอายของความเจริญกำลังพัดโชยเข้ามา แต่เชียงของในวันนี้ยังคงสงบและงดงามในความรู้สึก ชาวบ้านยังอยู่กันอย่างเรียบง่าย นักท่องเที่ยวต่างชาติมีประปราย แม้จะเป็นกลางสัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เชียงของเป็นทางผ่านล่องเรือไปเที่ยว "หลวงพระบาง" มากกว่า

 วันที่เราไปถึงชาวบ้านกำลังทำพิธีสืบชะตาหมู่บ้านประจำปีที่ "วัดหลวง" ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยนำอาหาร ดอกไม้ธูปเทียน มาถวายพระ กลางอุโบสถชาวบ้านนำไม้ที่เรียกกันว่า "ไม้ค้ำ" มาค้ำต้นโพธิ์เอาไว้

 เป็นความเชื่อโบราณที่ว่า จะทำให้อายุยืนเหมือนต้นโพธิ์
 พิธีนี้ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานเท่านั้น แต่สำหรับลูกหลานที่ไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองก็จะมีการเอาเสื้อผ้ามาเป็นตัวแทนด้วย ทั้งยังมี "น้ำส้มป่อย" ที่ชาวบ้านเอามาเข้าพิธีให้พระสวด แล้วเอากลับไปประพรมบ้านให้ร่มเย็นเป็นสุข เชื่อกันว่าเป็นการนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต

 จากเขตเทศบาลเมืองเชียงของ เราเช่ารถมอเตอร์ไซค์ขี่เลียบแม่น้ำโขงไปตามเส้นทางเชียงของ-เชียงราย มุ่งไปที่บ้านหาดบ้าย เส้นทางขึ้นลงเขาลัดเลาะไปตามลำน้ำกว่า 30 กิโลเมตร

 ความงามของธรรมชาติที่ยากจะพรรณนา แม้จะบันทึกด้วยภาพ แต่ก็ไม่ประทับใจเท่าตาเห็น ทั้งเส้นโค้งของลาดเขา และเกาะแก่งกลางลำโขงที่คอยขวางการเดินทางของสายน้ำจนแลเห็นระลอกคลื่นของน้ำกระเพื่อมไหวเป็นริ้วๆ

 จุดหมายของเราอยู่ที่ "หมู่บ้านชาวไทลื้อ" เพื่อดูการทอผ้าพื้นเมือง ในศูนย์หัตถกรรมของหมู่บ้านมีเพียงแม่อุ๊ยสูงวัยที่บรรจงร้อยเรียงเส้นด้ายขึ้นเป็นลายเฉพาะตัวของผ้าไทลื้อ ถักทอเป็นผืนอย่างวิจิตร น่าเสียดายที่เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจรักษาเอกลักษณ์การทอผ้านี้เอาไว้

 กลับจากบ้านหาดบ้ายเข้าสู่เทศบาลเชียงของ ผ่านท่าเรือบั๊ค จุดที่จะพาเราข้ามผ่านไปยังเมืองห้วยทรายของลาว หากพกพาสปอร์ตมาด้วยก็สามารถกรอกหนังสือแล้วประทับตราผ่านด่านเข้าไปได้เลย ไม่เสียสตางค์

 แต่ถ้าไม่ได้นำพาสปอร์ตมาด้วยก็ต้องทำ "หนังสือผ่านแดน" จ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ก็นั่งเรือข้ามไปได้แล้วเช่นกัน

 ค่าเรือทั้งไปและกลับเที่ยวละ 30 บาท...แค่นี้ก็ได้ไปเดินเล่นต่างประเทศแล้ว
 ที่ฝั่งลาวจะมีรถรับจ้างพาเที่ยว "ตลาดจีน" ซึ่งจะมีสินค้าจากจีนมาวางขายเหมือนที่ อ.แม่สาย อุปกรณ์ช่าง เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า จานดาวเทียมมีขายทั่ว กระทั่งไอโฟน (ของก๊อบ) จากจีนก็มีวางขายในราคาแค่สามพันกว่าๆ

 ไอโฟนเมดอินไชน่ารุ่นล่าสุด อาตี๋คนขายบอกว่าเป็น "มินิไอโฟน" ขนาดไอโฟนของแท้ยังผลิตไม่เสร็จเลย แต่ที่ตลาดจีนนี่มินิไอโฟนวางขายกันเกร่อแล้ว

 มาถึงเชียงของ หากไม่ได้พูดถึง "ปลาบึก" คงเหมือนไม่ได้มาถึง เพราะช่วงเดือนเมษายนจะมี "เทศกาลล่าปลาบึก" ในลำน้ำโขง แต่ปีนี้กรมประมงมีข้อตกลงกับชาวบ้านว่าจะอนุญาตให้จับปลาบึกเพียง 2 ตัวเท่านั้น เมื่อได้ครบตามจำนวนก็ให้หยุดล่า

 แต่ด้วยสภาพน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงจากการทำเขื่อนในจีน และการระเบิดเกาะแก่งที่ต้นน้ำในจีนและลาวทำให้น้ำไหลเชี่ยวมากขึ้น อีกทั้งยังมีการล่าปลาบึกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปลาบึกเริ่มหายากมากขึ้นจนถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ได้

 กระทั่งเรากลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้ข่าวว่ามีการจับปลาบึกได้ 1 ตัว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยจับได้ที่บ้านหาดไคร้ เป็นปลาบึกเพศเมีย น้ำหนักประมาณ  230 กก. ซึ่งชาวบ้านยังคงเดินหน้าจับปลาตัวที่สองกันต่อไป   

 ในวันที่เวลาไม่ใช่เงื่อนไขของชีวิต การได้ปลีกตัวไปเยือน "เชียงของ" ก็เหมือนกับเอาใจไปพักเหนื่อย หลีกหนีจากความวุ่นวายที่ร้อยรัดชีวิตเราไว้ หากก้าวพ้นไปได้ก็พบแง่งามของความสงบ และความสุขได้ไม่ยากเลย

"แมน น้อยพิทักษ์ : เรื่องและภาพ"
man@ nationgroup.com