ข่าว

ข้อคิดจากอาจารย์เขียน ธีระวิทย์

ข้อคิดจากอาจารย์เขียน ธีระวิทย์

05 ก.ค. 2555

ข้อคิดจากอาจารย์เขียน ธีระวิทย์ : กระจกเงา โดยอัศศิริ ธรรมโชติ [email protected]

              อาจารย์เขียน ธีระวิทย์ เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกว่า 40 ปีก่อนท่านข้ามฟากถนนพญาไท มาสอนเรื่องจีนศึกษาให้แก่คณะนิเทศศาสตร์ที่ผมเรียนอยู่ วันนี้ท่านเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ
 
               จากเว็บไซต์โลกสัมพันธ์ไทยสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาฯ "อาจารย์เขียน" ได้เขียนบทความเรื่อง “อำนาจอธิปไตยเหนืออู่ตะเภา ของไทยแลกเปลี่ยนมิได้” ไว้เมื่อกลางเดือนที่แล้ว บทความของอาจารย์มี 5 ประเด็น 5 หัวข้อ แต่ที่ผมอยากกล่าวถึงนำความมาสรุปไว้ก็คือตอนท้ายที่ว่าด้วย บทเรียนของไทยในเรื่องของการใช้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีความดังต่อไปนี้คือ
 
               1. ประเทศไทยในสมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ยินยอมให้สหรัฐอเมริกาใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อทำสงครามในอินโดจีน ในครั้งนั้นข้อตกลงไทย-สหรัฐ มีเพียงแค่บันทึกรายงานการประชุมปี 2510 เท่านั้น ไม่มีข้อตกลงที่เป็นทางการแต่อย่างใด
 
               แม้จะระบุว่า สนามบินอู่ตะเภาเป็นของไทย และไทยมีอำนาจทั้งในด้านการบังคับบัญชา การบริหารงาน มีอำนาจทางศาลและอื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติ สหรัฐได้ย้ายฐานบินทิ้งระเบิดจากเกาะกวมมาอยู่ที่อู่ตะเภา และใช้สนามบินอู่ตะเภาปฏิบัติการทิ้งระเบิดเวียดนาม ลาว กัมพูชา อย่างเป็นอิสระจากฝ่ายไทย เสมือนหนึ่งว่าเป็นดินแดนของสหรัฐ
 
               2. ในการเจรจาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาปี 2510 นั้น ผู้แทนเจรจาของฝ่ายสหรัฐได้ศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีแล้วว่า คู่เจรจาฝ่ายไทยมีจุดอ่อน จุดเด่นอยู่ที่ตรงไหน และระบบการเมืองของไทยมีช่องโหว่อะไรบ้าง
 
               แล้วถึงเอาข้อมูลที่เท็จบ้างจริงบ้างมาต้มตุ๋นฝ่ายไทยซึ่งเป็นคู่เจรจา
 
               ฝ่ายสหรัฐมัดมือชก ในขณะที่ฝ่ายไทยก็ได้แต่งุนงง และไม่รู้จะตอบโต้ซักถามอย่างไร สหรัฐจึงได้ช่องทางมาใช้สนามบินอู่ตะเภาและนำเครื่องบินทิ้งระเบิด บี 52 ไปถล่มทำลายประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเหลวแหลกและไร้มนุษยธรรมมาแล้ว
 
               3. อาจารย์เขียนบอกว่า คราวนี้ก็เช่นกัน ถ้าผู้นำทหารหรือตัวแทนรัฐบาลสหรัฐมาเจรจาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาอีก กลเม็ดในการเจรจาก็คงจะเป็นไปในรูปเดิม คือใช้วิธีอ่อยเหยื่อและต้มตุ๋นให้รัฐบาลไทยยอม เพราะได้ศึกษามาดีแล้วถึงข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของไทยในการจัดการภัยพิบัติที่ไทยเพิ่งได้รับ ทั้งจากสึนามิและน้ำท่วมใหญ่
 
               ดังนั้น ฝ่ายสหรัฐอาจจะเสนอโครงการสวยหรูอย่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) มาจูงใจฝ่ายไทยให้ประโยชน์ต่างๆ ทั้งในด้านความรู้ และการใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย และอาจทำให้ฝ่ายไทยตายใจว่างานนี้ จะดำเนินการอย่างเปิดเผยโปร่งใส และจะทำให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ
 
               อาจารย์เขียนเตือนว่า พวกเราผู้เป็นเจ้าของประเทศก็ควรจะได้ศึกษาประสบการณ์ที่รัฐบาลจอมพลถนอมในอดีตได้เคยเจรจาทำข้อตกลงกับสหรัฐไว้ ว่าข้อสัญญาเหล่านั้นที่แท้จริงแล้วไม่มีประโยชน์อันใดสำหรับไทย ก็เพราะส่วนหนึ่งฝ่ายไทยไม่มีใครรู้เรื่องที่สหรัฐต้องการ
 
               และเมื่อฝ่ายไทยก็ไม่มีทั้งคนและเงินที่จะไปใช้เข้าร่วมประโยชน์จากโครงการกิจกรรม ที่สุดแล้วก็อาจปล่อยให้สหรัฐทำประโยชน์ไปอย่างอิสระแต่ฝ่ายเดียวดังที่เป็นมาในอดีตอีก
 
               4. เครื่องบินยักษ์บี 52 ที่อู่ตะเภานั้นกว่าจะออกไปได้ ก็ด้วยความสามัคคีของคนไทย โดยการนำของนิสิตนักศึกษาเดินขบวนประท้วงบีบรัฐบาลในขณะนั้น ให้บีบสหรัฐถอนออกไปได้ในปี 2518 และเมื่อสหรัฐแพ้สงครามอินโดจีนกลับไปอยู่ในแผ่นดินของตนแล้ว คนไทยต่อมาต้องถูกเพื่อนบ้านมองอย่างหวาดระแวง และต้องปรับตัวอยู่กับ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอดสู
 
               5. อาจาย์เขียนบอกว่า คราวนี้ถ้าเราจะให้สหรัฐกลับมาใช้สนามบินอู่ตะเภาอีก ประตูแรกที่รัฐบาลจะต้องผ่านก็คือ พลังประชาชนที่จะออกมาประท้วง และที่สำคัญคือคำถามที่มีต่อคนไทย ประเทศไทยจะถูกสหรัฐใช้เป็นหมากกระดานต่อไปของลัทธิจักรวรรดินิยมหรือไม่...
 
               ที่กล่าวมานี้คือ ข้อคิดจากอาจารย์เขียน ธีระวิทย์ ที่ผมเห็นว่าท่านรักชาติบ้านเมืองและเป็นอาจารย์เก่าของผมที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจท่านหนึ่ง โดยเฉพาะในเวลานี้ และผมเห็นว่าสหรัฐอเมริกานั้นเหมือนกับนักเลงใหญ่ ถ้าเกิดเคืองใจผิดใจแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กแน่
 
               ทางที่ดีทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ทั้งนักวิชาการและภาคประชาชน ควรจะร่วมมือกันปรึกษาหารือว่าจะทำอย่างไรดี ไม่ใช่เรื่องของเพื่อไทย ของประชาธิปัตย์ หรือว่าเรื่องของอภิสิทธิ์ ของยิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของประเทศก็ว่าได้
 
               นายกฯ หญิง ของประเทศก็หมดเวลาเอาแต่แต่งตัวสวยและโฉบไปโฉบมาได้แล้วครับ