ข่าว

เปิดถนนสายช่าง"ศูนย์รวมตลาดกรรมกร"

เปิดถนนสายช่าง"ศูนย์รวมตลาดกรรมกร"

19 พ.ค. 2552

ถนนกีบหมู ถนนเล็กๆ ภายในซอยหลังแฟชั่นไอส์แลนด์ ทางไปซาฟารีเวิลด์ หรือที่คนในวงการก่อสร้างรู้จักกันในนาม "ถนนสายช่าง" แหล่งชุมนุมของเหล่าคนงานช่างฝีมือก่อสร้างหลายร้อยชีวิตมายืนรวมตัวกันจนเต็มสองฝั่งถนน เพื่อรอผู้รับเหมางานก่อสร้างพาไปทำงานตามสถานก่อสร้าง

จากการลงพื้นที่สำรวจแรงงานบริเวณถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง หรือถนนกีบหมู ในเขตคลองสามวา พบว่า มีผู้ใช้แรงงานออกมารอผู้รับเหมาก่อสร้างที่ริมถนนในช่วงเช้าตรู่เป็นจำนวนมาก แรงงานส่วนมากมาจากทางภาคอีสาน และภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ต่างยืนรอด้วยความหวังว่าจะมีคนมาจ้างงานเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รูปแบบการหางานก็ไม่ซับซ้อน คนงานกลุ่มนี้จะนำเอาอุปกรณ์เครื่องมือก่อสร้างเท่าที่จะหาได้ เพื่อแสดงให้ผู้รับเหมาเห็นว่าเป็นแรงงานฝีมือสาขาอะไร และยืนถือติดตัวรอผู้ว่าจ้างอยู่ริมถนน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างงานแบบเร่งด่วน ส่วนค่าจ้างแล้วแต่ทั้งสองฝ่ายจะต่อรองกันเอง คนจ้างอาจจะมารับคนงานเพียงหนึ่งคนหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน เมื่อใดก็ตามที่เห็นรถปิกอัพจอดแวะข้างถนน จะเห็นแรงงานกลุ่มนี้กรูกันเข้าไปพูดคุยและเสนอความสามารถของตัวเอง โดยบอกราคาค่าแรงเสร็จสรรพ หากการเจรจาผ่านพ้นได้ด้วยดีก็ขึ้นรถผู้รับเหมาไปทำงานได้เลย  
 
 ส่วนสาเหตุที่เรียกบริเวณนี้ว่า "กีบหมู" และไม่เรียกว่าถนนสุเหร่าคลองหนึ่งนั้น จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่มานานหลายสิบปีรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า "กีบหมู" เพี้ยนมาจากคำว่า "ปลีกหมู" ซึ่งแต่เดิมมีชาวมุสลิมจากปัตตานีอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ย่านมีนบุรี และคันนายาว หนึ่งจำนวนนั้นได้ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณคลองกีบหมู เนื่องจากคนท้องถิ่นบริเวณนี้นับถือศาสนาอิสลาม และมีมัสยิดยามีอะห์เป็นศูนย์กลางชุมชนติดกับคลองหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สุเหร่าคลองหนึ่ง" เพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นชุมชนชาวมุสลิม แต่ประชาชนผู้สัญจรไปมาบนถนนเส้นนี้ส่วนใหญ่ก็ยังนิยมเรียกถนนสายนี้เป็น "ถนนกีบหมู" อยู่เหมือนเดิม
 
 นายบุญชู มณีรัตน์ อายุ 49 ปี อาชีพช่างปูน เล่าว่า ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.หนองคาย เมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา มีเพื่อนชักชวนให้มาเป็นกรรมกรก่อสร้างในซอยกีบหมู จึงตัดสินใจเดินทางมาพร้อมกับภรรยาคู่ใจ หวังสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ครอบครัว และก็ได้ทำงานสมหวังทั้งคู่ ซึ่งภรรยาทำงานเป็นลูกมือให้แก่บุญชู และจะไปทำงานด้วยกันตลอด ทุกๆ เช้าช่วงระหว่าง 6 โมงเช้า จนถึงเวลา 10.00 น. บุญชูและเพื่อนๆ จะถือเครื่องมืออุปกรณ์การก่อสร้างติดตัวไว้ และมายืนริมถนนกีบหมู ซึ่งเป็นสถานที่พบปะของนายจ้างและคนงานก่อสร้างที่ต้องการหางาน  
 
 ลักษณะการจ้างงานของผู้รับเหมาที่เข้ามาติดต่อนั้น ถ้างานไม่ใหญ่มากนายจ้างจะต้องการช่างฝีมือ 1 คน โดยอาจเป็นช่างปูน ช่างไม้ ช่างสี และจ้างกรรมกรเพิ่มอีก 2 คน เพื่อเป็นลูกมือช่วยเหลือช่างฝีมือทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ไวยิ่งขึ้น ซึ่งอัตราค่าแรงส่วนใหญ่ของช่างฝีมือและกรรมกรในซอยกีบหมูนั้น คือ ช่างฝีมือได้ค่าแรง 400 บาทต่อวัน กรรมกรผู้ชายได้ค่าแรง 350 บาทต่อวัน กรรมกรผู้หญิง 300 บาทต่อวัน และจ่ายเงินในช่วงเย็นของวันนั้น ซึ่งราคานี้จะเป็นที่รู้กันระหว่างคนงานและนายจ้าง แต่อาจมีต่อรองลดราคาหรือเพิ่มค่าแรงได้อีก หากงานนั้นมีความยากง่ายของงานที่ต้องไปทำ ถ้าตกลงเรื่องค่าแรงและรายละเอียดการทำงานได้ทั้ง 2 ฝ่าย นายจ้างก็นำคนงานขึ้นรถปิกอัพที่บรรทุกคนงานได้คราวละมากๆ เพื่อไปทำงานตามสถานที่ก่อสร้างต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ จากนั้นเมื่อถึงเวลา 17.00 น. นายจ้างจะขับรถมาส่งคนงานที่ซอยกีบหมูอีกครั้ง  
  
 บุญชู เล่าถึงประสบการณ์การทำงานก่อสร้างในอดีตที่ผ่านมาว่า เมื่อมาทำงานใหม่ๆ ฝีมือด้านช่างยังไม่ได้รับการยอมรับจากนายจ้าง บางครั้งมายืนรอ 5 วัน ก็ไม่มีนายจ้างซึ่งตรงนี้ตนเองก็เข้าใจถึงหัวอกนายจ้าง หลังจากนั้นจึงเพียรพยายามฝึกฝีมือและสั่งสมประสบการณ์เรื่อยมา จนปัจจุบันมีนายจ้างขาประจำโทรศัพท์จองตัวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าวันนี้จะมีเงินเข้ากระเป๋าหรือไม่
 
 แต่การหางานลักษณะนี้ก็เสี่ยงต่อการโดนโกงเหมือนกัน บางครั้งไปทำงานแล้วนายจ้างกลับไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ หรือไปถึงที่ทำงานแล้วกลับต้องทำงานนอกเหนือข้อตกลง ที่ร้ายกว่านั้นคือพอทำงานเสร็จนายจ้างกลับหายตัวไป ค่าแรงก็ไม่ได้แถมต้องนั่งรถเมล์กลับบ้าน ในทางกลับกันนายจ้างก็เสียรู้ให้คนงานได้เหมือนกัน เช่น ได้ช่างฝีมือห่วยหรือมือไม่ถึง ทำแล้วงานไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้นายจ้างเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา แต่ในปัจจุบันนายจ้างส่วนใหญ่จะมีกลุ่มคนงานที่รู้จักกันดีและไว้เนื้อเชื่อใจกันอยู่แล้ว ซึ่งมาจากการบอกกันปากต่อปากของนายจ้างว่ากลุ่มไหนทำงานแย่หรือดีแค่ไหน  
 
 ทั้งนี้ ยอมรับว่าในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้คนงานก่อสร้างมีรายได้ลดลงกว่าก่อนมากถึงครึ่งต่อครึ่ง จากที่เคยได้เฉลี่ยเดือนละหลายหมื่นบาท ตอนนี้เหลือแค่เดือนละ 6,000 บาท ทำให้ต้องปรับสภาพการใช้ชีวิตอยู่อย่างประหยัดเพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัวในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้
 
 นายบิพิตร์ สุมาลัย อายุ 40 ปี ผู้รับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า ตนเองทำงานเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างมาหลายปี และคุ้นเคยกับ "ถนนกีบหมู" มากพอสมควร ส่วนสาเหตุที่ต้องมาหาคนงานที่นี่เพราะว่า เมื่อใดก็ตามที่มีงานเร่งด่วนต้องการทำให้เสร็จเร็วที่สุด แรงงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือขาดช่างฝีมือในการทำงาน ก็จะมุ่งตรงมาที่แห่งนี้เพราะเป็นศูนย์รวมช่างฝีมือที่ค่อนข้างมีคุณภาพ มีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมทำงาน ที่สำคัญเรียกค่าแรงไม่แพงจนเกินไป แต่อยากจะบอกว่าการมาหาคนงานที่นี่ก็เหมือนมาเสี่ยงดวง เรียกได้ว่าตาดีได้ ตาร้ายเสีย บางคนแบกที่ฉาบปูนมาคล่องแคล่ว แต่พอไปทำจริงๆ กลับทำงานอย่างไม่มีคุณภาพ ทำให้งานที่ออกมามีคุณภาพต่ำ แทนที่จะเสียเงินแค่ครั้งเดียว ต้องจ้างช่างคนอื่นมาแก้งานที่เสียตรงจุดนั้น
 
 ช่างฝีมือดีๆ ก็มีอยู่เยอะ โดยส่วนตัวแล้วถ้าช่างคนไหนฝีมือดีทำงานเป็น มีนิสัยขยันขันแข็งไม่อู้งาน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เพื่อร่วมงานในโอกาสข้างหน้าต่อไป หรืออีกวิธีหนึ่งคือได้รับคำแนะนำจากเพื่อนร่วมอาชีพรับเหมาก่อสร้างด้วยกันว่าช่างคนนี้ฝีมือดี และให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อช่างคนนั้น ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการเพื่อลดความเสี่ยงในการจ้างคนไม่มีคุณภาพเข้าทำงาน ยิ่งในปัจจุบันสังเกตเห็นได้ว่ามีแรงงานในย่านนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี แต่ไม่ได้หมายความว่าแรงงานทุกคนจะมีคุณภาพและมีมาตรฐานเหมือนกันหมด