
ประชาคมอาเซี่ยน(คนไทย)ตื่นตัวแค่ไหน
ฮอตอิชชู่ : ประชาคมอาเซี่ยน (คนไทย) ตื่นตัวแค่ไหน
ในระยะนี้เริ่มมีเสียงพูดถึง "ประชาคมอาเซี่ยน (ASEAN Community)" หนาหูขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจะเอื้อนเอ่ยกันตามหลักวิชาการ คือ ประเทศในภูมิภาคอาเซี่ยน 10 ประเทศ อันประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า ตกลงใจร่วมกันว่าในปี 2558 จะผนึกกำลังกันภายใต้กรอบแนวคิดโดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม วัฒนธรรม และด้านการเมือง ความมั่นคง ในมุมของระดับผู้นำ(แต่ละ)ประเทศย่อมมีความคาดหวังว่านับแต่นี้ชีวิตของประชากรกว่า 600 ล้านคน จะมีความเป็นอยู่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ทว่าในมุมของประชาชนบ้างล่ะ!!! รู้จัก เข้าใจ เตรียมพร้อมรับ "ประชาคมอาเซี่ยน" แค่ไหน
ถึงจะทำงานอยู่บริษัททัวร์ชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่ แทนไท เครืองรัมย์ ยอมรับว่ายังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน แต่ก็ไม่นิ่งนอนใจโดยติดตามข่าวสารอยู่เป็นระยะ ยิ่งตัวเองทำงานเกี่ยวกับการจัดการด้านท่องเที่ยวทั้งในและต่างเทศ ยิ่งต้องทันต่อสถานการณ์เพราะถือว่าได้รับผลกระทบโดยตรง
"ทุกวันต้องอัพเดทข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นกับลูกค้า เอเย่นทัวร์ เชื่อว่าหากประชาคมอาเซียนเริ่มขึ้น ผลกระทบด้านดีจะทำให้เปิดตลาดสู่ประเทศใกล้เคียงได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยว มีโอกาสขยายงานไปภูมิภาคอาเซียนยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียคือบ้านเราอาจไม่ใช่ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวอีกต่อไป เพราะลูกค้าสามารถติดต่อกับประเทศนั้นๆ โดยตรง และคนที่เก่งภาษาอังกฤษซึ่งในบริษัทผมมีชาวต่างชาติและคนไทยที่เก่งๆ เยอะก็อาจจะย้ายไปทำงานในประเทศที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า เท่าที่รู้มาขอวีซ่าครั้งเดียวไปได้ทุกประเทศเลย ก็จะทำให้บริษัทขาดแคลนผู้มีความสามรถ มาชดเชย สำหรับผมเองก็พยายามเพิ่มทักษะด้านภาษาให้มากขึ้น อีกทั้งต้องติดต่อสื่อสารกับเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วยเพื่อให้ทันกัน" เจ้าหน้าที่ทัวร์ เผยเทคนิคการปรับตัว
ด้าน ลัดดา บุญยิ่ง นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเปิดประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้หลายๆ อย่างเปิดกว้าง โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาที่อาจจะมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับมหาวิทยาลัยชาติอาเซียน จัดการแข่งขันด้านวิชาการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพของตัวเองมากยิ่งขึ้น
"สำหรับเรื่องของการเตรียมตัวรับมือ ส่วนตัวจากที่ไม่เคยใส่ใจก็ต้องหันมาศึกษาให้ละเอียด เช่น เรื่องของวัฒนธรรม ภาษา ของชาติต่างๆ ในอาเซียนให้มากขึ้น เพราะถ้าหากเราเข้าใจในวัฒนธรรมและภาษาของเขาแล้ว ก็จะเป็นเรื่องง่ายในการสื่อสาร รวมถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ อีกทั้งการประสานงานต่างๆ ก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ดั่งคำพูดที่ว่ารู้เขารู้เรา" สาวลูกแม่โดม แสดงทัศนะคติ
ในขณะที่นักการเมืองท้องถิ่น วัย 42 ปี "บอย" ศุภวัฒน์ วิรักขะโม ให้ความเห็นว่า ตอนนี้คนเริ่มรู้เรื่องนี้กันบ้างแล้ว แต่จะเป็นคนระดับกลางขึ้นไปถึงระดับสูงเท่านั้น ส่วนในระดับรากหญ้าส่วนมากคงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ คนที่ได้รับผลประโยชน์จริงจังน่าจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน แต่ทั้งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น
"ในส่วนของภาครัฐตอนนี้ยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวหรือวางแผนอะไรเลย แต่ในอนาคตคิดว่าคงจะมีการส่งเสริมให้เรียนรู้เรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้นแน่นอน อย่างเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษคงมีการส่งเสริมมากขึ้น แต่ผมคิดว่าผลสำเร็จคงจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เพราะเรื่องนี้น่าจะมีผลตั้งแต่คนระดับสูงลงมาถึงระดับกลาง แต่ตัวผมเป็นนักการเมืองที่พอจะมีความรู้อยู่บ้างและมีโอกาสดีกว่าคนอื่นๆ และพอจะรู้ทิศทางความเป็นไป แต่คงต้องรอดูในระยะใกล้ๆ อีกทีว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางไหน อย่างไร" นักการเมืองท้องถิ่น ให้ความเห็น
มาที่มุมมองของพิธีกรรายการทีวี เดอะลิส์ช อัศจรรย์ความรู้ กันบ้าง "ป๊อป" วราวุธ เลาหพงศ์ชนะ ออกตัวว่า เพราะเคยเป็นรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศมาก่อน ซึ่งมีหน้าที่ความรับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา สิงคโปร ฟิลิปินส์ บรูไน ถึงจะไม่ดูแลความเป็นอาเซียนโดยตรง แต่ก็พอจะเกี่ยวเนื่องกันบ้าง เนื่องจากทุกประเทศเป็นสมาชิกอาเซียนหมด จึงค่อนข้างจะได้ทราบข้อมูลบ้างทั้งในด้านบวกและด้านลบ จึงแนะนำหลักง่ายๆ ถึงการเตรียมตัวให้พร้อมอย่างที่หลายๆ คนกล่าวว่า "รู้เขารู้เรา" ให้มากที่สุด
"ผมถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะ จริงๆ แล้ว 1 คนไม่สามารถสู้กับคนเป็นกลุ่มได้ ประเทศไทยไม่ใช่ จีน หรือ อเมริกา ขนาดยุโรปยังต้องผนึกตัวกัน การรวมตัวในครั้งนี้จะทำให้ประชาคมโลกเห็นตัวตนของภูมิภาคเรา และมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และในฐานะพิธีกรผมพยายามถ่ายทอดเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมอาเซียนเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงความผูกพัน ความเป็นอยู่ของประเทศอาเซียนมากขึ้น ทำให้คนเข้าใจวัฒนธรรมมากขึ้น เตรียมให้ผู้คนรับทราบ ผมเชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเตรียมพร้อม ว่าจะทำอย่างให้ได้ประโยชน์จากตรงนั้นมากที่สุด เพื่อเป้าประสงค์สุดท้ายเพื่อให้ประชาคมอาเซี่ยนสำเร็จต่อสู้กับประชาคมโลกได้" พิธีกรคนดัง แสดงทัศนะ
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย สรุปถึงความเปลี่ยนเแปลงเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ว่าประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบทั่วไป แบ่งหลักๆ เป็น 3 เรื่อง ด้านการค้า ความมั่นคงการเมือง สังคมวัฒนธรรม ซึ่งจะกระทบทุกคน หลักๆ คือการเคลื่อนย้ายสินค้า ที่ใน 10 ประเทศจะมีการขนส่งไปมาหากันง่ายขึ้นทำให้การบริการ การลงทุน มีการเปลี่ยนเแปลง ยิ่งประเทศไทยมีการผลิตสินค้าและบริการมากมาย ผู้ผลิตควรเตรียมตัวเบื้องต้น ไล่จนไปถึงเกษตรกรก็ต้องรู้เรื่องประชาคมอาเซียนเช่นกัน เพราะอีกหน่อยของที่เคยผลิตใช้เองสบายๆ ก็กระทบ พืชเศรษฐกิจวันหนึ่งประเทศอื่นก็อาจปลูกได้อร่อยกว่า ขนส่งง่ายกว่า รวมถึงเรื่อง สุขภาพ การบิน ท่องเที่ยว การสื่อสาร ที่เจ้าของจะเป็นคนชาติอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น 10 ประเทศ จะเป็น 1 เดียว เหมือนจังหวัดเดียวกันแต่หลายภาษา เราต้องค่อยๆ ศึกษาภาคธุรกิจบริการ รู้ในสภาพใหญ่ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ อะไรที่กระทบกับประสิทธิภาพความเป็นอยู่ของเราบ้าง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเชื่อว่าจะมีช่องทางสร้างประโยชน์และรายได้มากมายหากศึกษาให้เข้าใจในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
"วิธีที่จะทำให้ประชาชนทุกอาชีพเข้าใจว่าควรปรับตัวอย่างไร ผมคิดว่าต้องให้องค์กรของรัฐ ทุกกระทรวง มหาวิทยาลัย ทุกภาคจังหวัดจัดประชุมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ อย่าหยุด อาจใช้เวลาหลายปีกว่าทุกคนจะเข้าใจว่าควรปรับตัวอย่างไร ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ทันปี 2015 เพราะตอนนี้ประชาชนกำลังหลงทาง ความจริงปี 2015 เป็นเป้าหมายที่เราตกลงวางเผนไว้ ว่าจะลงทุน ยังไง ลดภาษียังไง ไม่ใช้ถึงเวลานั้นทุกอย่างต้องโคกันหมด ต้องเดินทางได้หมด ทุกอย่างในแผนจะอยู่ในขวบการเจราจาบางส่วน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย จึงไม่ควรตื่นตูมขอให้สบายใจว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นรุนแรง ทุกอย่างจะค่อยเป็นค่อยไปแต่อย่างไรก็ต้องศึกษา เตรียมตัวรับมือด้วยความรู้ที่พร้อม และแท้จริงอยู่เสมอ" รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
แหละนี่คืออีกเรื่องที่เราคนไทย หนึ่งในประเทศอาเซียน...ต้องไม่ละเลยและอย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป