
สังคมปากว่าตาขยิบไม่รู้จักแยกแยะ
สังคมปากว่าตาขยิบไม่รู้จักแยกแยะ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn
ผมไม่อยากย้ำประเด็น “ไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์” อีก เพราะมีคนพูดกันมากแล้ว ขอใช้ประสบการณ์แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในแนวทางที่น่าจะแตกต่างกับคนอื่นๆ พร้อมกับเสนอทางแก้ไขปัญหา “สังคมปากว่าตาขยิบ” ให้ช่วยกันคิดอ่านกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
ส่วนตัวเมื่อได้ดูคลิปเจ้าปัญหาสรุปได้ว่าต้นเหตุ “ไม่น่าจะมาจากคนที่เข้าแข่งขัน” แต่ปฏิกิริยาของทั้งกรรมการซึ่งเป็นเพศชาย และอาการแสดงความไม่พอใจของพิธีกรหญิงน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กัน ไม่ว่าจะมี “สคริปต์ (script)” หรือบทที่เขียนไว้ล่วงหน้า จริงหรือไม่อย่างที่เล่าลือกัน โดยเฉพาะภาพคนดู (เพศชายอีกเช่นกัน) พากันแสดงออกอย่างหื่นกระหาย ช่วงแรกเมื่อคนดูเห็นผู้แสดงออกมาต่างทำท่างงงวยว่าจะทำอะไร พอกรรมการ “เพศชาย” สองคนลงคะแนน ให้ “ผ่าน” มนุษย์ผู้ชายอื่นๆ ต่างร้องเสียงเฮ แสดงออกไม่ต่างกับคลิป “จ๊ะคันหู” นี่คือ ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่นำไปวิพากษ์วิจารณ์กันต่อ เพราะหากมองว่า “ผู้แสดงผิด” กรรมการต้องตำหนิ หรือมีการเซ็นเซอร์งดการนำเสนอ แต่นี่คือ “เทปรายการที่ผ่าน กบว.” ทำให้คนจำนวนหนึ่งมองเห็นว่า “สังคมกำลังเสื่อม” คิดกันไม่ออกหรือว่าอะไรควรไม่ควร อะไรเป็นศิลปะหรืออนาจารผมไม่ขอยกมาเป็นประเด็น
รวมทั้งช่วงเวลานำเสนอเป็นเวลาของครอบครัว เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูได้ การบันทึกเทปส่วนใหญ่มีเวลาเพียงพอในการตัดต่อ เตรียมตัว หลายคนพูดกันแรงๆ ถึงกับคล้ายคนดูเห็นผู้หญิงถูกลากไปข่มขืนแล้วพากันส่งเสียงเชียร์ไม่รู้ร้อนรู้หนาว หากปล่อยผ่านได้ แสดงว่าใครนึกจะทำอะไร “พิเรนทร์อย่างไร” ก็มาทำได้ ทำแล้วได้เสียงเชียร์ ได้รางวัล
ส่วนจะปรับเป็นเงิน “ห้าแสนน้อยหรือมาก” ก็ต้องบอกว่า กฎหมายอนุญาตให้ปรับได้สูงสุดเพียงเท่านั้น คนละกรณีกับ “ทรู” ที่ถูก กสทช. ปรับวันละ 2 หมื่นบาทนั้น เป็นอัตราขั้นต่ำ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ามีการจ่ายเงินค่าปรับกันอย่างไร เพราะทราบจากข่าวว่าฝ่ายทรูได้โต้แย้งสิทธิ แต่ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ “กสทช.” ในประเด็นผู้บริโภคถูกภาคธุรกิจเอารัดเอาเปรียบและใช้มวลชน ทั้งสื่อ ทั้งภาคประชาชนบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวโจมตีกันไปมา เรื่องเล็ก กลายเป็นเรื่องใหญ่เป็นที่โจษจันน่าอับอายอีกเช่นกัน ที่วันนี้เรามีองค์กรที่ได้ชื่อว่า “อิสระ แถมยังมีกฎหมายอยู่ในมือสามารถบังคับใช้ได้ในขอบอำนาจ” ก็ยังดูเหมือนจะแก้ปัญหา “ขี้ผง” เช่นนี้ไม่ลุล่วง
“ผู้จัดเอง” ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ สำหรับนโยบายเรียก “เรตติ้ง (rating) ทำให้สังคมผิดเพี้ยนที่เห็นชอบกับสิ่งที่ไม่ดีงาม” ผู้ใหญ่ผู้บริหารอยากให้รายการได้รับความนิยม นึกจะทำอะไรไม่คิดเลยว่ามันเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม ทำอะไรก็ได้เพื่อบรรลุเป้าหมาย” ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไล่ตามโลกาภิวัตน์ ส่วนมากมาร้องเรียกทวงสิทธิเมื่อเกิดเหตุไปแล้ว แต่ก่อนเกิดเหตุ “การเฝ้าระวัง (watchdog)” หรือการส่งเสริมให้ความรู้ที่ถูกต้องมีปัญหาอย่างไรถึงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ต่างชาติพอเห็นว่าเรา “เต้น” ทุกครั้งเมื่อเขาทำอะไรที่หมิ่นเหม่กับวัฒนธรรมเราได้ เขาก็ยิ่งทำเพราะเขาเห็นว่าเรา “อ่อนไหวแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง” แถมทำแล้วช่วยให้เขาถูกพูดถึงเป็นการ “ผลิตซ้ำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้น” ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เขายิ่งทำในสิ่งที่เราไม่อยากให้เขาทำ ผมเห็นประธานาธิบดีจีน ก้มลงหยิบธงชาติที่เขากำหนดจุดไว้ยืนถ่ายภาพ แล้วทำให้รู้สึกว่า “ผู้ใหญ่บ้านเราพูดมากกว่าทำ”