
'ปลอด'ไม่เชื่อ'กษิต'ไม่รู้นาซ่าขอใช้อู่ตะเภา
'ปลอดประสพ'โต้'กษิต'ปัดไม่รู้เรื่องนาซ่าขอให้สนามบินอู่ตะเภา ด้าน'กมธ.ตปท.วุฒิ-สภา'ถกนาซ่าขอใช้อู่ตะเภา หลังนายกฯตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียด ขณะที่'ปลัดกลาโหม'ชี้ปัจจัยภายนอกกดดันรัฐบาลไม่นำอู่ตะเภาเข้าครม.
20 มิ.ย.55 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ กรณีนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภาว่า โครงการดังกล่าวนาซ่าเริ่มมา 2 ปี ตั้งแต่สมัย นายกษิต ภิรมย์ เป็นรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเราเห็นว่า เป็นรื่องที่ดีจึงดำเนินการต่อ โดยในระหว่างที่ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้สหรัฐได้ดำเนินการโครงการในลักษณะเดียวกันกับฮ่องกง เกาหลี พร้อมกันนี้ไทยได้เชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 5 แห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ศิลปากร ลาดกระบัง เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการดำเนินงานระหว่างนาซ่ากับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสดา และการที่นาซ่าต้องดำเนินการในพื้นที่ไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา
ส่วนที่ นายกษิต บอกว่าไม่รู้เรื่องนั้นเรื่องสำคัญแบบนี้ปล่อยให้กรมไปดำเนินการเองฟังดูแล้วไม่เข้าท่า นายกษิต เป็นคนกระทรวงการต่างประเทศเก่าเป็นทูตอเมริกา เขาฉลาดรู้เยอะ ไม่เชื่อว่าไม่รู้เรื่อง ส่วนจะเกี่ยวข้องกับ ม.190 และนำเข้าสภาหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกับตนต้องถามกฤษฏีกา หากเข้าสภาตนก็ไปชี้แจง
"สิ่งที่เขาจะทำใน 2 สิ่ง คือเรื่องเมฆระดับสูงคือเมฆฝนและฝุ่นละอองในระยะสูง ซึ่งเราไม่มีเครื่องมือ และผลการสำรวจก็จะทำให้เรารู้เรื่องอุตุนิยมวิทยา เพื่อพยากรณ์เรื่องการเกิดฝนและจะช่วยป้องกันเรื่องน้ำท่วม ทั้งนี้การวิจัยทำร่วมกับฝ่ายสหรัฐและฝ่ายไทย 3-4 คน และที่ต้องมาใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพราะศูนย์ของจิสดาอยู่ที่ศรีราชา และพื้นที่บินสำรวจจะทำในทะเลส่วนใหญ่ และเครื่องบินทั้ง 3 ลำที่จะดำเนินการต้องใช้ระยะวิ่งยาวซึ่งรันเวย์ของอู่ตะเภารองรับได้ เป็นเรื่องปกติเพราะเขาก็เคยทำกับญี่ปุ่น เกาหลีและฮ่องกง มาแล้ว" นายปลอดประสพ กล่าว
ทั้งนี้ เป็นเรื่องวิชาการ จึงต้องมีคณะกรรมการวิชาการ 1 ชุด มีตนเป็นประธาน ผู้แทนกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประเมินการทำงาน และนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การที่ดำเนินการในไทยอีกเพราะไอทะเลที่จะเป็นเมฆก็จะเกิดในทะเล เหลือแต่ทะเลจุดนี้ที่ยังได้ทำ
"การประชุมครม.วานนี้ตนเห็นว่ายังมีบางหน่วยราชการยังไม่ได้ให้ความเห็นผมจึงเสนอเองให้มีการตั้งคณะกรรมการก่อน ซึ่งก.ก.ชุดนี้จะศึกษาวิเคราะห์และใช้ประโยนช์ ให้ความเห็นต่อครม. ยืนยันไม่มีการยัดไส้แน่นอนจริง ๆ นาซ่ากับไทยทำงานร่วมกันมานานแล้ว เขาทำให้ฟรี ๆ ไม่อย่างนั้นไทยก็โง่" นายปลอดประสพ กล่าว
กมธ.ตปท.วุฒิ-สภาถกนาซ่าขอใช้อู่ตะเภา
ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่นำวาระการขอใช้สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี ขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกาเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า ต้องมีการคุยกันในรายละเอียด 2 เรื่อง คือ ความร่วมมือ และเรื่องศูนย์ภัยพิบัติ ซึ่งเรื่องสืบเนื่องมาจากรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองก็เข้าใจว่าแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่จะตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดก่อน ถ้ามีความชัดเจนแล้ว จึงจะนำเข้า ครม.ตามขั้นตอน และขั้นตอนใดที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้รัฐสภารับทราบเราก็จะทำ
ทั้งนี้ วันนี้เวลา 09.30 น.กมธ.ต่างประเทศ วุฒิสภา หารือเรื่อง ไทยอนุญาตให้สหรัฐใช้สนามบินอู่ตะเภา และในเวลา 13.30 น.กมธ.การต่างประเทศ สภาฯก็จะมีการหารือพิจารณาศึกษากรณีสหรัฐของใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยจะมีการเชิญรมว.กระทรวงการต่างประเทศ , ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี , ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก, กองทัพอากาศ, กองทัพเรือ, สมช., นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจง
"ปลัดกลาโหม"ชี้ปัจจัยภายนอกกดดันรัฐบาลไม่นำอู่ตะเภาเข้าครม.
พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุม ครม.ไม่ได้พิจารณากรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อสำรวจสภาพชั้นบรรยากาศว่า ได้ส่งตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นคณะทำงานพิจารณาเรื่องอู่ตะเภาตามที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าการที่เรื่องดังกล่าวยังไม่เข้าครม. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมีปัจจัยภายนอกกดดัน และมีหลายเรื่องต้องพิจารณาอีกทั้งกรณีว่า จะเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่ แต่จากที่ได้คุยกันเบื้องต้น เห็นว่า เข้าข่ายมาตรา 190 (1)เท่านั้น
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งท่านคงจะตัดสินใจและดูตามความเหมาะสม ซึ่งการเข้ามาของนาซ่าครั้งนี้คงไม่มีภารกิจเกี่ยวกับทหาร และตนมั่นใจว่าผู้บังคับบัญชาและรัฐบาลต้องระมัดระวังอยู่แล้ว ทำด้วยความรอบคอบมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้เวลา 14.30 น.พล.อ.จิ้ง จื่อหยาง ผบ.กองกำลังปลดปล่อยประชาชนจีนเตรียมเข้าพบและหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยจะมีการตรวจแถวกองทหารเกียรติยศด้วย ซึ่งการเดินทางมาเข้าพบผบ.ทบ.ครั้งนี้คาดว่า อาจจะมีการหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือในการฝึกร่วมและอาจจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในการบินสำรวจชั้นบรรยากาศ เนื่องจากที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจไม่พอใจที่ประเทศไทยยินดีให้สหรัฐอเมริกาเข้าใช้สนามบินอู่ตะเภา