ข่าว

'อินทรี' หวนคืนรังเก่า ฟื้นป้อมบิน 'อู่ตะเภา'

'อินทรี' หวนคืนรังเก่า ฟื้นป้อมบิน 'อู่ตะเภา'

12 มิ.ย. 2555

'อินทรี' หวนคืนรังเก่า ฟื้นป้อมบิน 'อู่ตะเภา' เรื่องนี้ต้องถึง 'มังกร' แน่?

ประเด็นที่สหรัฐอเมริกาต้องการขอใช้ 'สนามบินอู่ตะเภา' ของไทย มีทัศนะไปต่างๆ นานา ซึ่งเรื่องนี้มีความชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง หลัง พล.อ.มาร์ติน เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ สุทธิชัย หยุ่น ประธานเครือเนชั่น ระหว่างเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

 พล.อ.เดมพ์ซีย์ ยืนยันกับ 'สุทธิชัย' ว่าแนวคิดของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ในการขอใช้ฐานทัพเรืออู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์อเนกประสงค์ด้านมนุษยธรรมและการบรรเทา
ทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติ โดยไม่มีความเกี่ยวโยงกับแผนการขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) ที่มีรายงานว่า ต้องการขอใช้อู่ตะเภาเป็นศูนย์สังเกตการณ์สภาพอากาศ

 "ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างสิ้นเชิง นาซาเป็นองค์กรพลเรือน ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกระทรวงกลาโหม อู่ตะเภาเป็นทำเลที่มีศักยภาพสำหรับการที่นาซาจะใช้เป็นศูนย์สังเกตการณ์สภาพอากาศ อาทิ การคาดการณ์มรสุม และติดตามน้ำท่วม"

 พล.อ.เดมพ์ซีย์ กล่าวอีกว่า ได้แจ้งนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเห็นด้วยกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เรื่องการใช้ปฏิบัติการฝึกซ้อมรบร่วมประจำปีคอบราโกลด์ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้อู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาทุกข์ นอกจากนี้อู่ตะเภายังอาจใช้เป็นศูนย์อเนกประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยพิบัติและศูนย์บัญชาการกลางสำหรับการซ้อมรบร่วม

 "สหรัฐไม่มีเจตนาทำให้สนามบินอู่ตะเภากลายเป็นฐานปฏิบัติการแบบสมัยสงครามเวียดนาม หรือกลายสภาพเป็นดินแดนของสหรัฐที่ไม่อนุญาตให้คนท้องถิ่นเข้าไปภายใน ทุกอย่างที่สหรัฐดำเนินการในประเทศไทย จะอยู่บนพื้นฐานที่ว่านี่เป็นฐานทัพของไทย"

 กระนั้น เป็นที่ทราบกันว่า รัฐบาลวอชิงตันภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กำลังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการทหารใหม่ โดยโยกย้ายกองกำลังและมุ่งเข้ามีบทบาทในภูมิภาคแปซิฟิกมากขึ้น ตลอดจนกำลังแสวงหาความร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม

 พล.อ.เดมพ์ซีย์ ย้ำว่า ได้พูดคุยกับฟิลิปปินส์ พันธมิตรสหรัฐในภูมิภาคนี้ เพื่อหาพื้นที่สำหรับการฝึกและซ้อมรบ และว่า "สหรัฐจะเคลื่อนย้ายทุกอย่างที่ดีที่สุดในปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐเข้ามายังภูมิภาคแปซิฟิก ทั้งนี้ เจตนาในการจัดวางที่ตั้งทางทหารใหม่ในภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ มิใช่เพื่อการสกัดกั้นจีน ที่กำลังผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค"

 สหรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับหลายประเทศในอาเซียน ผลประโยชน์ของสหรัฐในน่านน้ำทะเลจีนใต้มีเพียงสิทธิในการเดินเรือและผ่านน่านน้ำอย่างเสรีเท่านั้น

 "เราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทดินแดน" พล.อ.เดมพซีย์ กล่าวทิ้งท้าย

 ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ชี้แจงเรื่องนี้ว่า สหรัฐอเมริกาจะขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและมนุษยธรรม ไม่ได้มาใช้เป็นฐานทัพ แต่ขอเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม โดยทำเรื่องมาที่กระทรวงการต่างประเทศ ในหลักการคนที่จะมาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเราก็ต้องให้อยู่แล้ว แต่รายละเอียดต้องมาพูดคุยกันว่าจะเข้ามาดำเนินการอย่างไร

 อย่าคิดว่ามาแล้วเป็นการตั้งฐานทัพเหมือนกับสมัยโบราณ ไม่ใช่อย่างนั้น สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินระดับชาติ ใครก็มาได้ หรือจะเอาเครื่องมาลงทำอะไรก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่จะต้องดูว่าเขามาตั้งอย่างไร หากจะมาอยู่เป็นปีต้องดูว่ามากไปหรือไม่ แต่ถ้ามา 3-4 เดือน แล้วกลับไป ก็คงไม่ว่าอะไร

 "ผมคิดว่าจะไม่ผิดใจกับจีน เพราะไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องของประเทศไทย และไม่ได้มาตั้งฐานทัพหรือมีอาวุธ การเข้ามาของสหรัฐอเมริกาจะต้องทำข้อตกลงสัญญา หรือเอ็มโอยู กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ใช่กระทรวงกลาโหม เพียงแค่เป็นพื้นที่ของกระทรวงกลาโหมที่ดูแลอยู่" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว

 ส่วนกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยมีการแลกเปลี่ยนให้วีซ่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ข่าวที่สื่อระบุไม่มี ไม่เกี่ยวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเดินทางเข้าไปได้อยู่แล้ว แม้แต่ประเทศอังกฤษ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เข้าไปได้เลยเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าจะขอแลกเปลี่ยน ต้องขอมากกว่านั้น

 ขณะเดียวกัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังพบกับ พล.อ.มาร์ติน อี เดมพ์ซีย์ ว่าเป็นการหารือถึงความร่วมมือทางด้านกองทัพตามปกติ รวมทั้งแลกเปลี่ยนถึงความร่วมมืออื่นๆ สหรัฐอเมริกาอาจจะช่วยกรณีที่มีอุบัติภัย ถือเป็นการเยี่ยมเยียนตามวาระปกติ

 ด้าน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ อธิบายเรื่องนี้ว่า สืบเนื่องมาจากสมัยรัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งองค์การนาซาได้มีหนังสือขอตั้งฐานปฏิบัติการในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย สำหรับประเทศไทยนั้น ได้ยื่นเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อเดือนก่อน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

 โดยมองว่าเรื่องนี้ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ แต่อยากให้มองกลับกันว่าการตั้งฐานปฏิบัติการนี้ต้องการถ่ายภาพจากดาวเทียม ในการตรวจดูความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น

 ส่วนความเห็นฝ่ายค้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตโฆษกรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ย้ำว่า ต้องจับตาดูให้ดี การอ้างนาซาเข้ามา เป็นเหตุผลที่คลุมเครืออาจจะแอบแฝงด้วยเหตุผลทางการทหาร เนื่องจากขณะนี้สหรัฐอเมริกากำลังหาสถานที่

 ซึ่งเป็นจุดบังคับเครื่องบินสอดแนมไร้คนขับ หรือยูเอวี ในย่านอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับจีน หลังจากที่ได้สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ไม่มีพื้นที่ในการปฏิบัติการมากพอ อาจจะพยายามมาขอใช้อู่ตะเภาด้วยเหตุผลนี้ ขณะที่จีนก็รู้ความเคลื่อนไหวนี้เป็นอย่างดี และพยายามขัดขวางการเข้ามาขยายอำนาจทางการทหารในอาเซียนมาตลอด

 "ตอนนี้จีนเพิ่มกำลังทหารในกองทัพอีก 21 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเตรียมความพร้อมหากจะต้องรบกับสหรัฐ เกมนี้เป็นศึกระหว่างมหาอำนาจ ที่ผ่านมาไทยกับสหรัฐมีความตกลงทางการทหารร่วมกันอยู่แล้ว แต่การขอใช้สนามบินอู่ตะเภา จะเป็นการผูกมัดไทยให้เลือกข้างยืนกับสหรัฐและจะเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค ฉะนั้น รัฐบาลต้องระมัดระวังท่าทีการใกล้ชิดกับฝ่ายใดมากเกินไป จะเป็นอันตราย" ปณิธาน กล่าว

 กล่าวสำหรับสนามบินอู่ตะเภา สร้างขึ้นตามโครงการร่วมกันระหว่างไทย-สหรัฐ ปี พ.ศ.2505 เพื่อเป็นภารกิจการส่งกำลังทหาร ซึ่งรวมทั้งคลังสรรพาวุธ คลังเชื้อเพลิง ยานพาหนะ วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะสนองความต้องการของกำลังรบไทยและพันธมิตร ในการต่อต้านการรุกคืบของคอมมิวนิสต์ต่อประเทศลาวและเวียดนามใต้เมื่อ 40 ปีก่อน

 กล่าวได้ว่า สนามบินอู่ตะเภา ถือเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ สามารถรับเครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่ที่สุด ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบินครบครัน ซึ่งสหรัฐได้สร้างสนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และบางส่วนอยู่ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี