
หากช่วยกัน'ชาวนาไทย'ไม่สูญพันธุ์?
หากช่วยกัน 'ชาวนาไทย' ไม่สูญพันธุ์ ? : คอลัมน์ ชาวบ้านร้านตลาด : โดย ... ภาณุมาศ ทักษณา
ความจริงข้อวิตกกังวลว่า ชาวนาไทยจะสูญพันธุ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ชวนให้ตกอกตกใจเลยนะครับ เรื่องนี้มีมาตั้ง 24 ปีแล้วครับ ที่ผมจำได้ เพราะในปี พ.ศ.2521 ซึ่งตรงกับรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นั้น นายกฯ เกรียงศักดิ์ห่วงว่าชาวนาไทยจะอยู่ไม่ได้ จึงประกาศให้ปี 2521 เป็นปีเกษตรกรไทย แล้ววางมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองทุกวิถีทางมาแล้ว และที่ผมจำแม่นเพราะปีนั้น ผมได้ลงทุนจัดทำ “นิตยสารเกษตรกรไทย” รายเดือนขึ้นมา เพื่อเสนอข่าวของรัฐบาลที่มีต่อเกษตรกร และรวบรวมปัญหาของเกษตรกรเสนอให้รัฐบาลได้รับทราบ
ผลจากการทำนิตยสารเกษตรกรไทย ทำให้ผมรู้เรื่องเกษตรกรค่อนข้างดี และรู้ว่าเกษตรกรมีองค์กรเป็นของตัวเองถึง 3 องค์กรคือ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ รัฐบาลในสมัยนั้นยังได้จัดตั้งโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบทที่ประสบภัยธรรมชาติ (กฟป.) รวมไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ช่วยเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ
แต่ไม่น่าเชื่อนะครับว่าแม้เวลาจะผ่านมาถึง 24 ปีแล้ว แต่เกษตรกรไทยทั้งประเทศก็เหมือนกับจมอยู่ในปลักควายอย่างไรก็จมอยู่อย่างนั้น เกษตรกรเคยมีหนี้สินอย่างไรแทนที่จะมีอยู่อย่างนั้น ก็กลายเป็นมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจนรัฐบาลต้องมาช่วยปลดหนี้ให้ (แต่ก็ยังไม่หมดอยู่ดี) เกษตรกรเคยถูกพ่อค้าคนกลาง หรือเจ้าของโรงสีในพื้นที่เอาเปรียบอย่างไร ทุกวันก็ยังถูกเอาเปรียบเหมือนเดิม นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวนาในหลายพื้นที่ตัดสินใจเลิกอาชีพทำนา แล้ว “ขายที่นา” ให้นายทุน เอาเงินส่งลูกหลานให้เรียนสูงๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาประกอบอาชีพชาวนาให้ลำบากลำบน หรือถูกเอารัดเอาเปรียบซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนที่ปู่ยาตายายและพ่อแม่ถูกกระทำมาแล้ว
ผมย้อนอดีตเรื่องนี้ เพราะเห็นข่าว คุณขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พูดในงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติปีนี้ว่า อาชีพทำนา ไม่ได้รับความสนใจจากเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งที่มีครอบครัวเป็นชาวนาหรือไม่เคยมีครอบครัวเป็นชาวนามาก่อน ทำให้น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตประเทศไทยคงไม่มีชาวนา และในที่สุดก็จะสู้กับประชาชาติอาเซียนด้วยกันไม่ได้ เพราะชาวนาไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ต่างก็อายุมาก การศึกษาก็ไม่สูง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวรับเทคโนโลยีและเปลี่ยนแปลงระบบการทำนาให้ทันโลกได้
เรื่องนี้คุณขวัญใจพูดถูกครับ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะนอกเหนือจากที่คุณขวัญใจยกมาแล้ว ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้อาชีพการเป็นชาวนานั้นไม่ได้รับการยกย่องเหมือนอาชีพอื่นๆ มิหนำซ้ำอาชีพชาวนาก็ไม่มีหลักประกันใดๆ สำหรับอนาคตอีกด้วย
เรื่องที่คุณขวัญใจ น่าจะเร่งดำเนินการในขณะนี้คือ ช่วยกระทุ้งไปที่สภาผู้แทนราษฎรให้ผ่านกฎหมายกองทุนสวัสดิการชาวนา ที่คุณชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว พูดถึงในงานเดียวกันให้ผ่านออกมาเร็วๆ ครับ กฎหมายนี้ผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลอภิสิทธิ์มาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2554 แล้วครับ ไม่ทราบว่าเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วหรือยัง ผมดูรายละเอียดแล้วแม้จะยังไม่สมบูรณ์นักแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีหลักประกันให้ชาวนาเอาเสียเลย
ที่สำคัญก็คือ ผมอยากเห็นรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรมีความจริงใจในการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ครับ วันนี้เรามีสภาการเกษตรกรแห่งชาติ ที่เลือกตั้งผู้แทนเข้าไปทำงานครบถ้วนแล้ว เรามีหน่วยงานที่เกี่ยวกับเกษตรกรมากมายก่ายกอง ที่กองอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากทุกภาคส่วนทุ่มเทการทำงานเพื่อเกษตรกรชาวไร่ชาวนาเต็มที่ ผมเชื่อว่าอาชีพชาวนาไม่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยครับ
----------
(หมายเหตุ : หากช่วยกัน 'ชาวนาไทย' ไม่สูญพันธุ์ ? : คอลัมน์ ชาวบ้านร้านตลาด : โดย ... ภาณุมาศ ทักษณา)
----------